ลาออกแลกเงินเดือนขึ้น

คอลัมน์ เอชอาร์ คอร์เนอร์

โดย ธำรงศักดิ์ คงคาสวัสดิ์ http://tamrongsakk.blogspot.com

คำถามวันนี้มีอยู่เป็นระยะ ๆ และผมว่าผู้บริหารแต่ละบริษัทคงจะตัดสินใจไม่เหมือนกัน ยกตัวอย่าง เช่น นาย A เป็นคนที่ทำงานดีมาก รับผิดชอบงานเยอะแยะไปหมด เพราะผู้บริหารชอบสั่งงาน และมอบหมายงานสารพัดให้นาย A ทำ จนนาย A มีความเป็นแม็กไกเวอร์ (หรือเป็นมีดพับสวิสสารพัดประโยชน์) ขึ้นมา จนกระทั่งผู้บริหารรู้สึกว่าถ้าบริษัทขาดนาย A บริษัทคงจะมีปัญหาแน่ ๆ

เพราะจะไม่มีใครทำงานรับผิดชอบได้อย่างนาย A

แถมนาย A ไม่เคยสอนงานใครเสียอีก

เพราะกลัวว่าตัวเองจะหมดความสำคัญ ก็เลยเก็บความรู้ต่าง ๆ ไว้กับตัวเอง และมักจะบอกให้ลูกน้องทำตามที่บอก แต่ไม่ยอมสอนงาน

อยู่มาวันหนึ่ง นาย A มายื่นใบลาออกกับหัวหน้า เพราะบอกว่าได้งานใหม่ และที่ใหม่ก็ให้เงินเดือนแบบดับเบิลเสียด้วยสิ คือ ปัจจุบันนาย A เป็นผู้จัดการแผนก เงินเดือน 25,000 บาท

แต่ที่ใหม่ให้นาย A ไปเป็นผู้ช่วยผู้จัดการฝ่าย เงินเดือน 50,000 บาท และดูว่าถ้าผลงานดีภายใน 1 ปี จะให้นาย A เลื่อนเป็นผู้จัดการฝ่าย

 

นี่คือสิ่งที่นาย A มาบอกกับ MD ตอนยื่นใบลาออก

MD ก็เรียก HR ไปคุย พร้อมกับบอกว่าจะเรียกนาย A มาคุยอีกครั้ง และจะเพิ่มเงินเดือนให้นาย A เป็น 50,000 บาท เท่ากับบริษัทใหม่ที่นาย A จะไปทำงาน

เหตุผลของ MD คือ นาย A รู้งานเยอะ ยังไม่สามารถหาคนมาทำงานแทนนาย A ได้ ถ้านาย A ลาออกไปจริง ๆ ก็ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่จะหาคนแทนได้ กลัวว่าจะเกิดปัญหาต่าง ๆ ตามมา

ก่อนที่จะตัดสินใจบางอย่างต่อไป ลองตอบคำถามเหล่านี้ดูก่อนดีไหมครับ

1.ถ้าบริษัทปรับเงินเดือนขึ้นให้กับนาย A แล้ว นาย A จะไม่คิดลาออกเพื่อไปหางานใหม่อีกใช่หรือไม่ ?

2.คิดว่านาย A จะรู้สึกดีใจกับบริษัทที่ปรับเงินเดือนให้ครั้งนี้ไหม ?

การปรับเงินเดือนครั้งนี้ นาย A จะรู้สึกเป็นบุญคุณไหม ?

3.นาย A จะคิดต่อไปได้อีกไหมว่า ทำไมบริษัทเพิ่งมาปรับเงินเดือนขึ้นให้เรา 25,000 บาทต่อเดือน นี่ถ้าเรายื่นใบลาออกก่อนหน้านี้สัก 3 เดือน เราจะได้เงินเพิ่มขึ้นอีก 75,000 บาทแน่ะ

อย่างนี้บริษัทเอาเปรียบเรามากี่เดือนแล้วเนี่ย

4.ถ้าบริษัทปรับเงินเดือนให้กับนาย A แล้ว พนักงานที่มีความรู้ความสามารถคนอื่นล่ะ (อย่าบอกว่าเรื่องเงินเดือนเป็นความลับนะครับ เพราะส่วนใหญ่จะไม่ลับสักเท่าไหร่) ถ้าเขารู้เรื่องนี้ เขาจะทำเหมือนนาย A คือเก็บงานไว้กับตัวเอง แล้วค่อยมาเรียกร้องให้บริษัทปรับเงินเดือนเหมือนนาย A บริษัทจะต้องปรับเงินเดือนให้กับคนอื่นด้วยหรือไม่ ?

5.ต้นทุนในการปรับเงินเดือนให้กับพนักงานที่ยื่นใบลาออกจะเพิ่มขึ้น คุ้มกับการรักษาพนักงานเหล่านี้เอาไว้ได้จริงหรือไม่ ?

อยากจะ “เจ็บแต่จบ หรือยืดเยื้อแบบเรื้อรัง” ก็เลือกกันเลยนะครับ