ข้าวโพดทอดกรอบ ลพบุรี ผลิตภัณฑ์คุณภาพเพิ่มมูลค่า สู่รายได้ที่มั่นคง

ข้าวโพด เป็นอาหารทั้งของมนุษย์และสัตว์ มีทั้งชนิดที่กินได้โดยไม่ต้องแปรรูปก่อน และชนิดที่ต้องแปรรูปก่อนกิน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์หรือข้าวโพดไร่ที่ส่วนหัวบนสุดของเมล็ดข้าวโพดจะมีลักษณะหัวบุ๋มหรือหัวบุบหรือหัวแข็งที่ต้องนำมาแปรรูปด้วยการทอดกรอบก่อนกิน เป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ เป็นผลิตภัณฑ์คุณภาพเพิ่มมูลค่า สู่รายได้ที่มั่นคง

คุณสวัสดิ์ สงวนชม เกษตรอำเภอท่าหลวง เล่าให้ฟังว่า ข้าวโพดเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญ อำเภอท่าหลวงมีพื้นที่ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 13.369 ไร่ เกษตรกร 2,388 ครัวเรือน พื้นที่เก็บเกี่ยวได้แล้ว 1,500 ไร่ ได้ผลผลิต 2,250,000 กิโลกรัม หรือได้ผลผลิตเฉลี่ย 1,500 กิโลกรัม ต่อไร่ เกษตรกรนำออกขายได้ราคา 4.00 บาท ต่อกิโลกรัม

การพัฒนาคุณภาพการผลิตเกษตร ได้ส่งเสริมการรวมกลุ่มเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อให้สมาชิกกลุ่มได้ทำกิจกรรมร่วมกัน โดยจะสนับสนุนหรือจัดหาแหล่งปัจจัยการผลิตราคาถูกมาให้ใช้เพื่อลดต้นทุนการผลิต สนับสนุนด้านการตลาด หรือส่งเสริมให้ร่วมแรงใจกันพัฒนาคุณภาพผลผลิตให้ได้สินค้าหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) ปัจจุบันมีเกษตรกรรวมกลุ่มมาขอจดจัดตั้งเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนแล้ว 69 แห่ง และมีสมาชิก 876 ราย

คุณน้ำผึ้ง ฐิติกาล ประธาน “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวโพดทอดกรอบ บ้านหัวลำ” เล่าให้ฟังว่า เกษตรกรอำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ส่วนใหญ่จะมีอาชีพปลูกข้าวโพดไร่หรือข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญ ผลผลิตข้าวโพดส่วนใหญ่นำไปใช้เป็นอาหารสัตว์ ซึ่งราคาที่เกษตรกรขายให้กับพ่อค้าคนกลางหรือโรงงานอุตสาหกรรมนั้นเป็นราคาที่ค่อนข้างต่ำและไม่แน่นอน บางครั้งได้กำไรน้อยเกือบขาดทุนหรือเสมอทุน รายได้จึงไม่พอเพียงต่อการยังชีพ มีชาวบ้านหรือเกษตรกรบางคนได้นำเมล็ดข้าวโพดไร่ที่ไม่แก่จัดมาล้างน้ำนำไปทดลองคั่วและปรุงรสด้วยน้ำปลา กินเป็นอาหารว่างก็ได้รสชาติที่แปลกและอร่อยด้วย

จากปัญหาผลผลิตข้าวโพดไร่ที่ขายได้ราคาต่ำ จึงต้องดิ้นรนเพื่อสู้กับวิถีชีวิต การเปลี่ยนแปลงได้ส่องสว่างขึ้นเมื่อนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรจากสำนักงานเกษตรอำเภอท่าหลวง ได้มาแนะนำส่งเสริมให้เกษตรกรในชุมชนรวมกลุ่มทำกิจกรรม และพัฒนาการแปรรูปผลผลิตให้ได้ผลิตภัณฑ์คุณภาพมาตรฐาน

ในเวลาต่อมา เกษตรกรจึงได้รวมกลุ่มกันตั้งแต่ 7 คนขึ้นไป แล้วไปยื่นเรื่องขอจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนที่สำนักงานเกษตรอำเภอท่าหลวง เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม 2546 และได้รับการจัดตั้งเป็นวิสาหกิจชุมชนภายใต้ชื่อ “วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวโพดทอดกรอบ บ้านหัวลำ” มีสมาชิกเริ่มแรก 11 คน มีเงินทุนตั้งต้น 5,000 บาท

“วิสาหกิจชุมชนกลุ่มข้าวโพดทอดกรอบ บ้านหัวลำ” อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี ได้ดำเนินงานภายใต้โครงการ 9101 ตามรอยเท้าพ่อ ภายใต้ร่มพระบารมีเพื่อการพัฒนาการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นการสร้างโอกาสให้เกษตรกรได้ร่วมคิดร่วมทำ นำผลผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของสมาชิกจากไร่ข้าวโพด มาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ข้าวโพดทอดกรอบ เพื่อการเพิ่มมูลค่าผลผลิต เป็นศูนย์รวมรองรับองค์ความรู้ด้านวิชาการ จัดหาปัจจัยราคาถูกมาใช้ในการปลูกและผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้พอเพียงในการยังชีพ ทั้งนี้ ด้วยการสนับสนุนจาก คสช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักนายกรัฐมนตรี กรมส่งเสริมการเกษตรและภาคเอกชน

การแปรรูป ให้กรอบทุกเมล็ด ได้นำเมล็ดข้าวโพดแก่จัดแห้ง ลักษณะของเมล็ดจะแข็งมาก ไม่สามารถขบเคี้ยวกินได้หากจะกินต้องนำไปบดก่อน วิธีการแปรรูปได้นำหม้อใส่น้ำสะอาดตั้งบนเตาไฟ ใส่เมล็ดข้าวโพดลงไปต้ม 8-10 ชั่วโมง แล้วยกลงมาล้างด้วยน้ำสะอาด 3 ครั้ง หรือจนหมดแป้งขาว แล้วสะเด็ดน้ำให้เมล็ดข้าวโพดแห้งพอหมาด

นำกระทะตั้งบนเตาไฟใส่น้ำมันพืช เมื่อน้ำมันร้อนใส่เมล็ดข้าวโพดลงไปทอดให้น้ำมันท่วมเมล็ด ปรับไฟให้กระทะทอดมีความร้อนปานกลางถึงค่อนไปทางร้อน ทอดไปกระทั่งเมล็ดข้าวโพดมีสีเหลืองกรอบ ตักเมล็ดข้าวโพดทอดออกไปซับน้ำมันด้วยกระดาษซับน้ำมัน หรือนำไปสลัดน้ำมันด้วยเครื่องสลัดในกรณีที่ผลิตปริมาณมาก

จากนั้นนำมาปรุงรสด้วยเครื่องปรุงรส เช่น รสบาร์บีคิว รสคอร์นชีส รสต้มยำ และรสดั้งเดิม แต่ละรสจะกรอบทุกเมล็ดและมีส่วนประกอบดังนี้ รสบาร์บีคิว มีส่วนประกอบ ข้าวโพด 95% น้ำมัน 2% ผงปรุงรส 1% และผงบาร์บีคิว 2% ได้รับเครื่องหมาย อย. 16-2-01356-6-0001 รสต้มยำ มีส่วนประกอบ ข้าวโพด 95% น้ำมัน 2% ผงปรุงรส 1% และผงต้มยำ 2% ได้รับเครื่องหมาย อย. 16-2-01356-6-0004 รสคอร์นชีส มีส่วนประกอบ ข้าวโพด 95% น้ำมัน 2% ผงปรุงรส 1% และผงชีส 2% ได้รับเครื่องหมาย อย. 16-2-01356-6-0002 และรสดั้งเดิม มีส่วนประกอบ ข้าวโพด 95% น้ำมัน 2% ผงปรุงรส 1% และซอสปรุงรส 2% ได้รับเครื่องหมาย อย. 16-2-01356-2-0001 และทั้ง 4 รสได้รับการคัดเลือกให้เป็นสินค้าหนึ่งตำบล หนึ่งผลิตภัณฑ์ (OTOP) คุณภาพขายดี

 

ตลาด ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดทอดกรอบ ได้นำไปวางขายที่จังหวัดสระบุรี นครสวรรค์ สิงห์บุรี ลพบุรี และตลาดไทที่ร้านแม่กระเทียม มีทั้งจัดไปส่งให้และพ่อค้ามารับที่วิสาหกิจชุมชนฯ ด้วยตนเอง

ปัจจุบัน ผลิตภัณฑ์ข้าวโพดทอดกรอบรสอร่อย ที่วิสาหกิจชุมชนนำออกวางขายทำให้มีรายได้เฉลี่ยเดือนละ 350,000 บาท เป็นรายได้ที่ยังไม่หักค่าใช้จ่ายของต้นทุน และสมาชิกแต่ละคนจะมีรายได้เฉลี่ย 8,000-12,000 บาท ต่อเดือน เป็นอีกวิถีหนึ่งที่ช่วยให้สมาชิกมีรายได้พอเพียงเพื่อก้าวข้ามไปสู่การพัฒนาคุณภาพชีวิตที่มั่นคง

สอบถามข้อมูลเพิ่มได้ที่ คุณน้ำผึ้ง ธิติกาล เลขที่ 179 หมู่ที่ 4 ตำบลหัวลำ อำเภอท่าหลวง จังหวัดลพบุรี โทร. (083) 109-9621 หรือ คุณสวัสดิ์ สงวนชม โทร. (092) 250-2121 หรือ คุณภูวิชย์ ยิ่งเจริญ สำนักงานเกษตรจังหวัดลพบุรี โทร. (036) 411-296 หรือโทร. (087) 345-7774 ก็ได้ครับ

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์