อย่าลืม! หลังเที่ยงคืน 14 ธ.ค. ‘ฝนดาวตกเจมินิดส์’ โคราชเตรียมสถานที่รองรับปชช.

หลังจากก่อนหน้านี้ทางสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (สดร.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชวนชม “ฝนดาวตกเจมินิดส์” หลังเที่ยงคืนวันที่ 14 ถึงรุ่งเช้าวันที่ 15 ธันวาคม 2561

ความคืบหน้าล่าสุดเมื่อเวลา 16.00 น.วันที่ 14 ธันวาคม ที่หอดูดาวเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบ พระชนมพรรษา จ.นครราชสีมา  นายสมานชาญ จันทร์เอี่ยม เจ้าหน้าที่สารสนเทศดาราศาสตร์พร้อมบุคลากรประจำหอดูดาว ฯ ได้จัดเตรียมสถานที่และเครื่องมือการดูฝนดาวตกเจมินิดส์ โดยจัดกิจกรรมช่วงเวลา 18:00-22:00 น. ตั้งกล้องโทรทรรศน์ขนาดต่างๆ รวมทั้งสิ้น 7 ตัว ซึ่งมีขนาด 0.7 เมตร ถือเป็นกล้องที่มีขนาดใหญ่ที่สุดในภาคอีสาน เพื่อรับชมวัตถุท้องฟ้าที่น่าสนใจ ทั้งดวงจันทร์ ดาวอังคาร กาแล็กซี่แอนโดรเมดาและกระจุกดาวลูกไก่ และช่วงเวลาหลัง 22:00 น. จนถึงเช้า ทางหอดูดาว ฯ จะเริ่มปิดกล้องและปิดไฟ เพื่อให้ประชาชนได้เตรียมตัวดูฝนดาวตกเจมินิดส์อย่างจุใจไร้แสงรบกวน โดยจัดพื้นที่บริเวณสนามหญ้าและลานต่างๆ เพื่อจับจองพื้นที่กางเต้นท์หรือปูผ้ารองนอนชมปรากฏการณ์ตลอดทั้งคืน

คาดการณ์เห็นมากที่สุดในคืนวันที่ 14 ธันวาคม มีอัตราการตกสูง 120 ดวง ต่อชั่วโมง จนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม ฝนดาวตกเจมินิดส์ มีจุดเด่นคือความเร็วของดาวตกไม่มากนัก จึงสังเกตเห็นได้ง่าย โดยแต่ล่ะดวงปรากฏนานประมาณ 1-3 วินาที จนสามารถชี้ชวนให้คนข้างกายให้ชมดาวตกได้อย่างทันท่วงทีหรือบางช่วงปรากฏการณ์อาจเห็นเป็นลูกไฟขนาดใหญ่ (Fireball) สร้างบรรยากาศการชมฝนดาวตกมีความคึกคักและสนุกสนานมากขึ้น การเตรียมตัวและวิธีการชมฝนดาวตกเจมินดิส์เบื้องต้น ต้องเตรียมอุปกรณ์กันหนาวหรือกันน้ำค้าง เช่น เสื้อกันหนาว หมวกหมอน ผ้าห่ม ทีนอน ฯลฯ

ด้านนายศุภฤกษ์ คฤหานนท์ หัวหน้างานบริการวิชาการทางดาราศาสตร์ สดร. กล่าวว่า ฝนดาวตกเจมินิดส์ หรือฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วง 14-17 ธันวาคมของทุก ๆ ปี ในปี 2561 นี้คาดการณ์ว่าจะมีอัตราการตกสูงสุดประมาณ 120 ดวงต่อชั่วโมง ศูนย์กลางการกระจายอยู่บริเวณกลุ่มดาวคนคู่ กลุ่มดาวคนคู่จะขึ้นจากขอบฟ้าเวลาประมาณ 20.05 น. ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ แต่มีแสงจันทร์รบกวนในช่วงหัวค่ำ ดวงจันทร์จะตกลับขอบฟ้าเวลาประมาณ 23.30 น. ดังนั้น จะสามารถสังเกตฝนดาวตกได้ชัดเจนตั้งแต่หลังเที่ยงคืนของวันที่ 14 ไปจนถึงรุ่งเช้าของวันที่ 15 ธันวาคม 2561

 ฝนดาวตกเจมินิดส์ เกิดจากการที่โลกเคลื่อนที่เข้าตัดกับกระแสธารของเศษหินและเศษฝุ่นขนาดน้อยใหญ่ที่ดาวเคราะห์น้อย 3200 เฟธอน ทิ้งไว้ในขณะเคลื่อนผ่านเข้ามาในระบบสุริยะชั้นใน เมื่อโลกโคจรผ่านเส้นทางดังกล่าว สายธารของเศษหินและฝุ่นของดาวเคราะห์น้อยจะถูกแรงดึงดูดของโลกดึงเข้ามาเผาไหม้ในชั้นบรรยากาศโลกเกิดเป็นลำแสงวาบ หรือในบางครั้งเกิดเป็นลูกไฟที่มีสีสวยงาม (fireball) ฝนดาวตกแตกต่างจากดาวตกทั่วไป คือเป็นดาวตกที่มีทิศทางเหมือนมาจากจุดๆ หนึ่งบนท้องฟ้า เรียกว่า จุดแ (Radiant) เมื่อจุดศูนย์กลางการกระจายตรงหรือใกล้เคียงกับกลุ่มดาวอะไร ก็จะเรียกชื่อฝนดาวตกตามกลุ่มดาวนั้นๆ หรือ ดาวที่อยู่ใกล้กลุ่มดาวนั้น เช่น ฝนดาวตกกลุ่มดาวคนคู่ ฝนดาวตกกลุ่มดาวสิงโต เป็นต้น