ไทย-จีน ลงนามเอ็มโอยู ผูกสัมพันธ์การค้ายางในพิธีเปิดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562

เมื่อวันที่ 13 ธันวาคม 2561 นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานในพิธีเปิดงานวันยางพาราบึงกาฬ 2562 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ  ภายในงานมีหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน รวมทั้งเกษตรกรสนใจเข้าร่วมงานในครั้งนี้เป็นจำนวนมาก

ก่อนพิธีเปิดงานอย่างเป็นทางการ นายลักษณ์ วจนานวัช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ คุณพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี และนายนิพนธ์ คนขยัน นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดบึงกาฬ ร่วมให้เกียรติเป็นสักขีพยานในพิธีลงนามสัญญาการซื้อขายยางไทย-จีน จำนวน 2 ฉบับ

พิธีลงนามฉบับแรก เป็นสัญญาการซื้อขายล้อรถยนต์ ระหว่าง มิสเตอร์ จู เชา  ผู้อำนวยการบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด กับนายกายสิทธิ์ ศรีสุข บริษัท ไทยคชสาร โลจิสติกส์ เซอร์วิส จำกัด  จังหวัดชลบุรี  สัญญาดังกล่าวมีผล 1 ปี นับจากวันที่ลงนาม โดยบริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด ทำหน้าที่จัดหาล้อยางเรเดียลเส้นใยเหล็กยี่ห้อ “Double Coin” สำหรับรถบรรทุกให้กับ บริษัท ไทยคชสาร โลจิสติกส์ เซอร์วิส จำกัด  ไม่ต่ำกว่าปีละ 5,000 เส้น

ส่วนพิธีลงนามฉบับที่สอง เป็นการสัญญาซื้อขายล้อรถยนต์ ระหว่าง บริษัท หวาอี้ กรุ๊ป (ประเทศไทย) จำกัด  กับ นายนพดล อำอุ่น  ผู้บริหารบริษัท โชคอลังการ รีไซเคิ้ล จำกัด จังหวัดขอนแก่น โดย หวาอี้ ทำหน้าที่จัดหาล้อยางเรเดียลเส้นใยเหล็กยี่ห้อ “Double Coin”  ให้ตรงกับความต้องการของบริษัท โชคอลังการ รีไซเคิ้ล จำกัด ไม่ต่ำกว่าปีละ 1,000 เส้น ภายหลังการเซ็นสัญญา บริษัทเอกชนไทยแต่ละรายได้สั่งซื้อสินค้ายางล้อจากจีน ล็อตแรก จำนวน 200 เส้น

“งานวันยางพาราบึงกาฬ”  

เชื่อมสัมพันธ์การค้ายางไทย-จีน

นับตั้งแต่คุณพินิจ จารุสมบัติ อดีตรองนายกรัฐมนตรี ได้ริเริ่มการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬมาอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 7  กลุ่มผู้ประกอบการค้ายางพาราของจีน ก็ได้สนับสนุนการจัดงานวันยางพาราบึงกาฬต่อเนื่องทุกปี โดยจัดแสดงนิทรรศการค้ายางในลักษณะ “ไชน่า พาวิลเลี่ยน” สำหรับปีนี้ ไชน่า พาวิลเลี่ยน ได้นำเสนอนิทรรศการประวัติศาสตร์การค้าของจีนในอดีตที่มี “ผ้าไหม” เป็นสินค้าหลัก การค้าบนเส้นทางสายไหม มีอิทธิพลต่อการพัฒนาอารยธรรมจีน อนุทวีปอินเดีย เปอร์เซีย  คาบสมุทรอาหรับ และยุโรป ขณะเดียวกัน เกิดการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ศาสนา ปรัชญา จากตะวันออกสู่อารยธรรมตะวันตก

ปัจจุบันเศรษฐกิจจีน เติบโตอย่างรวดเร็ว จากนโยบาย One Belt One Road  ซึ่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นหนึ่งในแนวเขตการค้า One Belt One Road ที่จีนสนใจเข้ามาพัฒนาความสัมพันธ์ทางการค้าแบบหุ้นส่วน  แม้จะไม่มีเส้นทางผ่านถึงไทยโดยตรง แต่ประเทศไทยในฐานะศูนย์กลางของอาเซียน ที่เชื่อมโยงโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อนบ้าน ทำให้จีนสนใจเข้ามาพัฒนาสัมพันธ์การค้ากับไทย โดยเฉพาะสินค้า “ยางพารา”  เพราะจีนเป็นผู้ซื้อยางพารารายใหญ่ที่สุดของโลก

ภายในไชน่า พาวิลเลี่ยน  ได้ตอกย้ำความร่วมมือด้านการค้ายางพารา ไทย-จีน โดยระบุว่า ปัจจุบันมีบริษัทเอกชนรายใหญ่ของจีนจำนวนมากสนใจเข้ามาลงทุนอุตสาหกรรมยางพาราในไทย ได้แก่  “กลุ่มบริษัทไซ่หลุน” ได้ร่วมทุนกับ บริษัท ไทยฮั้วยางพารา จำกัด (มหาชน) จัดตั้ง บริษัท ไทยฮั้วระยองยางพารา จำกัด เมื่อช่วงปลายปี 2553 โดยฝ่ายจีนถือหุ้น 51% และฝ่ายไทย 49% ปัจจุบันดำเนินธุรกิจรับซื้อยางแปรรูปผลิตภัณฑ์ยางเอสทีอาร์ 20 และยางผสม กำลังการผลิตปีละ 55,000 ตัน

เอกชนจีนอีกราย คือ บริษัท เบทต้า ลาเท็กซ์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ได้ก่อตั้งโรงงานผลิตน้ำยางพาราชนิดข้น ในจังหวัดระยอง เมื่อปี 2009 ต่อมาในปี 2016 บริษัทได้ซื้อกิจการโรงงานยางทองลาเท็กซ์ จำกัด ปัจจุบัน บริษัท เบทต้า ลาเท็กซ์ มีเครื่องปั่นน้ำยางที่มีความทันสมัยและเครื่องจักรรีดยางสกรีมที่มีประสิทธิภาพผลิตน้ำยางข้นปีละ 20,000 ตัน ส่งออกไปขายทวีปยุโรป แอฟริกาเหนือ และทวีปเอเชีย บริษัทต้องการใช้ยางพาราเป็นดั่ง “แม่สื่อ” และยึดถือนโยบาย One Belt One Road ในการสร้างความเชื่อมโยงและสานสัมพันธ์ระหว่างไทย-จีนให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

จีนเปิดตัว “เครื่องกรีดยางรุ่นใหม่”

ในปีนี้ รับเบอร์วัลเลย์ผู้ค้ายางรายใหญ่จากจีน ได้นำเสนอ นวัตกรรมเครื่องกรีดยางรุ่นใหม่ เรียกว่า อุปกรณ์เครื่องมือกรีดยางพาราไฟฟ้ารุ่น WYD001F ทำงานโดยอาศัยแรงคนกรีดยางตามปกติ แต่กรีดยางได้เร็วกว่าเดิม แถมได้หน้ายางเรียบ ช่วยยืดอายุการกรีดต้นยางได้ยาวนานขึ้น

นวัตกรรมชิ้นนี้ มีน้ำหนักเบา ใช้งานสะดวกสบาย ทำงานด้วยระบบอัตโนมัติ ช่วยยกระดับการกรีดให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เกษตรกรสามารถเรียนรู้การใช้งานได้ง่ายไม่ซับซ้อน เพิ่มคุณภาพของน้ำยางพารา ช่วยถนอมรักษาต้นยางพาราได้ ขณะเดียวกัน สามารถปรับระดับความแรง ระดับความลึกของการกรีดยางได้ตามความต้องการและความเหมาะสม  เพื่อให้เกษตรกรได้ผลผลิตที่ดีที่สุด เครื่องกรีดยางรุ่นนี้ สามารถเปลี่ยนใบมีดใหม่ได้ง่ายไม่ยุ่งยาก สามารถใช้งานได้หลากหลายรูปแบบตามความถนัดของผู้ใช้งาน ไม่จำเป็นต้องมีเทคนิคหรือประสบการณ์การกรีดยางมาก่อน

โดยทั่วไป แรงงานที่ใช้มีดกรีดยางทั่วไป จะกรีดยางได้ 700-800 ต้น/คน/วัน แต่นวัตกรรมชิ้นนี้ จะทำให้กรีดยางได้สูงสุดถึง 2,000 ต้น/คน/วัน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการขาดแคลนแรงงานกรีดยางได้ในระยะยาว ปัจจุบัน เกษตรกรชาวสวนยางของจีนนิยมใช้อุปกรณ์เครื่องกรีดยางชนิดนี้กันอย่างแพร่หลายในเขตปกครองตนเองชนชาติไท สิบสองปันนา

ในอนาคต เอกชนจีนสนใจที่จะนำอุปกรณ์เครื่องกรีดยางดังกล่าวเข้ามาขายในเมืองไทยในราคาประมาณ  4,000 บาท ผู้สนใจสามารถแวะชมการทำงานของอุปกรณ์เครื่องกรีดยางรุ่นใหม่ได้ที่ “ไชน่า พาวิลเลี่ยน” ภายในงานวันยางพาราบึงกาฬ ตั้งแต่วันนี้จนถึงวันที่ 19 ธันวาคม 2561 ณ บริเวณสนามหน้าที่ว่าการอำเภอเมืองบึงกาฬ จ.บึงกาฬ

 

ที่มา เทคโนโลยีชาวบ้านออนไลน์