ธุรกิจเบียร์ “เวียดนาม” สมรภูมิรบของต่างชาติ

ด้วยพฤติกรรมของนเวียดนามซึ่งได้รับฉายาให้เป็น “นักดื่ม” อันดับ 3 ในภูมิภาคเอเชีย ทำให้เวียดนามกลายเป็นสมรภูมิตลาดเบียร์ของยักษ์ข้ามชาติ

สมาคมเครื่องดื่มของเวียดนาม (VBA) ระบุว่า ภายในปี 2021 คาดว่าปริมาณการดื่มเบียร์ของคนเวียดนามจะเพิ่มสูงขึ้น 65% จากระดับปัจจุบันที่บริโภคเกือบ 4,000 ล้านลิตรต่อปี

ประธานสมาคมกล่าวว่า กลุ่มผู้มีรายได้ปานกลางถึงสูงในเวียดนาม กำลังเติบโตขึ้นเรื่อย ๆ ขณะที่นักดื่มเวียดนามนิยมบริโภคเบียร์แบรนด์ต่างชาติมากกว่า เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้บริษัทเบียร์และเครื่องดื่มหลากหลายสัญชาติเข้ามาลงทุนในเวียดนามมากขึ้น

การเข้ามาของบริษัทต่างชาติแม้จะทำให้ตลาดเบียร์ในเวียดนามคึกคักมากขึ้น ทว่ากำลังสร้างความเสียเปรียบ และอาจทำให้อุตสาหกรรมเบียร์ตกอยู่ในมือของบริษัทต่างชาติทั้งหมด

“วอยซ์ ออฟ เวียดนาม” รายงานว่าช่วงไม่กี่ปีมานี้ 3 บริษัทเครื่องดื่มยักษ์ใหญ่จากต่างประเทศ ได้แก่ ไทยเบฟเวอเรจ, ไฮเนเก้น และคาร์ลสเบิร์ก ปรากฏตัวขึ้นในตลาดเบียร์เวียดนาม โดยเข้ามาซื้อหุ้นบริษัทเบียร์ท้องถิ่น และพยายามขยายมาร์เก็ตแชร์ในตลาดเวียดนาม

ปัจจุบัน “ไทยเบฟ” ถือหุ้น 53.39% ใน “ไซ่ง่อนเบียร์” หรือซาเบโก ผู้ผลิตเบียร์รายใหญ่สุดในเวียดนาม ซึ่งมีมาร์เก็ตแชร์ราว 40%

เมื่อวันที่ 30 ต.ค.ที่ผ่านมา ซาเบโกได้ยื่นขอปรับโครงสร้างบริษัทเพื่อให้บริษัทต่างชาติเข้าถือหุ้น 100% ตามกฎใหม่ของทางการเวียดนาม ซึ่งจะต้องผ่านการเห็นชอบจากกระทรวงอุตสาหกรรมและการค้าเวียดนาม (MoIT)

ผู้เชี่ยวชาญด้านแบรนด์สินค้าจากสมาคมเครื่องดื่มของเวียดนามมองว่า มีความเป็นไปได้สูงที่จะเห็นไทยเบฟกลายเป็นเจ้าของ “ไซ่ง่อนเบียร์” แบบ 100% และคาดว่าหลังจากนั้นจะมีการปรับโครงสร้างให้ “ซาเบโก” อยู่ภายใต้การบริหารของไทยเบฟโดยตรง เนื่องด้วยวิสัยทัศน์ 2020 ของไทยเบฟที่ได้ประกาศไว้ก่อนหน้าว่าจะสร้างแบรนด์ “ไซ่ง่อนเบียร์” ให้ก้าวออกสู่ตลาดอินเตอร์มากขึ้น พร้อมด้วยเป้าหมายให้ “ซาเบโก” เป็นท็อปแบรนด์ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ถือเป็นการแสดงถึงการเป็นเจ้าของแบรนด์ไซ่ง่อนเบียร์อย่างเต็มตัว

สำหรับ “ไฮเนเก้น” บริษัทเบียร์สัญชาติเนเธอร์แลนด์ ที่ได้เข้าร่วมทุนกับผู้ผลิตเบียร์ท้องถิ่น 2 บริษัท ได้แก่ เอเชียแปซิฟิก บริวเวอรีส์ และเวียดนาม บริวเวอรี่ รับหน้าที่เป็นผู้ผลิตเบียร์แบรนด์ “ไฮเนเก้น” ที่ครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 2 ในตลาดเวียดนาม 25% โดยปัจจุบันไฮเนเก้นถือหุ้นในบริษัททั้งสอง 60% และมีโรงงานผลิตเบียร์ 5 แห่งในเวียดนาม

นอกจากแบรนด์ไฮเนเก้นแล้ว ยังมีเบียร์แบรนด์อื่น ๆ ในเครือ เช่น ไทเกอร์เบียร์, ลารูเบียร์ (Larue) ของเวียดนาม และอัมสเทลเบียร์ (Amstel) ที่ครองตลาดเบียร์ในระดับไฮเอนด์ในเวียดนาม

หัวหน้าฝ่ายการตลาดจากบริษัทเวียดนาม บริวเวอรี่ ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น “ไฮเนเก้น เวียดนาม บริวเวอรี่”
กล่าวกับ “เวียดนาม อีโคโนมิกส์ ไทมส์” ว่า ไฮเนเก้นเตรียมจะยื่นขอซื้อหุ้นเพิ่มจากทั้ง 2 บริษัทแม้ไม่ได้ระบุชัดว่าต้องการถือหุ้นเพิ่มเป็น 100% แต่มีแนวโน้มสูง เพราะไฮเนเก้นเป็นแบรนด์เดียวที่สามารถครองตลาดเบียร์ไฮเอนด์ในเวียดนามได้นานกว่า 10 ปี และทำกำไรให้กับบริษัทเฉลี่ยปีละ 1,000 ล้านดอลลาร์

ขณะที่ “คาร์ลสเบิร์ก” บริษัทเบียร์จากเดนมาร์ก ที่ก่อนหน้านี้ได้เข้าซื้อ “ฮิว บริวเวอรี่” เพื่อผลิตเบียร์คาร์ลสเบิร์กป้อนตลาดเวียดนาม และในปีที่ผ่านมา คาร์ลสเบิร์กได้เข้าไปซื้อหุ้น 51% ในบริษัท ฮาเบโก หรือ “ฮานอยเบียร์” ซึ่งครองมาร์เก็ตแชร์อันดับ 3 ในเวียดนาม โดยล่าสุดคาร์ลสเบิร์กได้ยื่นคำร้องแสดงความประสงค์ขอถือหุ้นฮาเบโกมากกว่า 51%

ความเคลื่อนไหวนี้ “ยูโรมอนิเตอร์” ระบุว่ามีความเสี่ยงสูงที่เบียร์แบรนด์เวียดนามจะหายไปจากตลาด หรืออีกนัยหนึ่งคือ บริษัทเบียร์ของเวียดนามจะกลายเป็นของต่างชาติทั้งหมด

สาเหตุหลัก ๆ มาจากผู้บริโภคชาวเวียดนามที่ไม่นิยมดื่มเบียร์แบรนด์ท้องถิ่น ทำให้เบียร์เวียดนามไม่สามารถแข่งขันได้ กับการผ่อนปรนกฎระเบียบการเป็นเจ้าของของบริษัทต่างชาติที่มากเกินไป จนทำลายธุรกิจเบียร์ท้องถิ่น