ผู้ค้าโวย รัฐรีดภาษี ขายของออนไลน์ ระวัง!! คนจะเอาเงิน ไปเก็บไว้ใน “ไห” แทน

ผู้ค้าโวย รัฐรีดภาษี ขายของออนไลน์ ระวัง!! คนจะเอาเงิน ไปเก็บไว้ใน “ไห” แทนการฝากเงินไว้ในธนาคาร

ผู้ค้าโวย รีดภาษีออนไลน์ – 4 ธ.ค. นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ ตลาดดอทคอม Tarad.com เว็บ e-Commerce Marketplace แห่งแรกๆ ของประเทศไทย กรรมการสมาคม e-Commerce กล่าวว่า ตนไม่เห็นด้วยกับการที่รัฐบาลจะออกกฎหมายตัวนี้ เพราะสาระสำคัญคือ

การกำหนดให้สถาบันการเงินต้องรายงานข้อมูลของบุคคลและนิติบุคคลที่มีความเคลื่อนไหวทางบัญชีในการทำธุรกรรมฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีเกิน 3,000 ครั้งต่อปี หรือการฝากและรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้งและยอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปต่อปี ส่งให้กรมสรรพากรตรวจสอบเพื่อประโยชน์ในการเก็บภาษีได้อย่างถูกต้อง โดยตั้งเป้าเรียกเก็บภาษีจากผู้ขายสินค้าผ่านทางออนไลน์ที่ปัจจุบันการติดตามข้อมูลเพื่อจัดเก็บภาษีไม่อาจดำเนินการได้อย่างมีประสิทธิภาพ จึงต้องปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว

นายภาวุธ กล่าวว่า หากกฎหมายตัวนี้ออกมาก็เท่ากับว่ารัฐบาลออกกฎหมายที่มีความขัดแย้งกันเองเพราะมีการประกาศนโยบายว่าจะเป็นประเทศดิจิตอล ไทยแลนด์ 4.0 ส่งเสริมการค้าออนไลน์ หรืออีคอมเมริ์ส รวมทั้งผลักดันให้ประเทศเข้าสู่สังคมไร้เงินสด เช่น การใช้ E – Wallet , QR Code , E- Banking ซึ่งต้องทำผ่านธุรกรรมออนไลน์ทั้งหมด

หากกฎหมายตัวนี้ออกมาก็เท่ากับว่า ทำให้คนที่กำลังลังเลว่า จะเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสดหรือไม่ ตัดสินใจไม่ใช้ระบบออนไลน์ในการทำธุรกรรมทางการเงิน แม้ว่าจะมีความสะดวกสบายมากกว่า บวกกับความยังไม่มั่นวจในความปลอดภัยของการเข้าสู่ระบบสังคมไร้เงินสด ก็อาจทำให้นโยบายสังคมไทยไร้เงินสดไม่ประสบความสำเร็จ

“รัฐบาลควรชะลอการออกกฎหมายตัวนี้ออกไปก่อนสัก 2ปี เพื่อให้คนปรับตัวให้ได้ก่อนกับการใช้ระบบต่าง ๆทั้ง E – Wallet , QR Code , E- Banking รวมทั้งการค้าออนไลน์ ที่กำลังได้รับความนิยมและเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่หากรัฐบาลชุดนี้มุ่งจะเก็บภาษีกับผู้ที่ทำธุรกรรมผ่านบัญชี ตั้งแต่ 200 ครั้งแโวละยอดเงินตั้งแต่ 2 ล้านบาท ขึ้นไปนั้นมองว่าจะทำให้การค้าออนไลน์ของประเทศไทยที่กำลังเติบโตชะงัก

รวมทั้งรัฐบาลควรเข้มงวดในการเก็บภาษีทางตรงกับผู้ประกอบการที่มีอยู่เดิม มากกว่า การมารีดภาษี กับผู้ค้าออนไลน์ที่มีการทำธุรกรรมเป็นประจำ

เพราะไม่เช่นนั้นคนที่จะกลับไปใช้เงินสด หรืออาจต้องซื้อไหมาเก็บเงิน แทนการนำไปฝากธนาคาร” นายภาวุธ กล่าว

– สรรพากรแจงแล้ว พร้อมรีดภาษีออนไลน์

นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้เห็นชอบร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร (ฉบับที่..) พ.ศ. … เพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (อีเพย์เมนต์) วาระ 3 แล้วเรียบร้อยแล้ว จากนี้ก็เป็นไปตามกระบวนการตามกฎหมายเพื่อให้เริ่มมีผลบังคับใช้ ซึ่งจะทำให้การจัดเก็บภาษีมีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมกับผู้เสียภาษีถูกต้องมากขึ้น

ทั้งนี้ สนช.มีการอภิปรายกฎหมายกันเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะสาระสำคัญของกฎหมาย ที่กำหนดให้สถาบันการเงินต้องแจ้งข้อมูลที่เข้าข่ายเป็น ธุรกรรมพิเศษ ประกอบด้วย 1.การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 3,000 ครั้งต่อปี และ 2. การฝากหรือรับโอนเงินทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 200 ครั้งต่อปี แก้ไขเป็นทุกบัญชีรวมกันตั้งแต่ 400 ครั้งต่อปี ขณะที่ยอดรวมของการรับฝากโอนยังคงไว้ที่ตั้งแต่ 2 ล้านบาทขึ้นไปเหมือนเดิม

ก่อนหน้านี้ สรรพากรระบุว่า กฎหมายดังกล่าวจะช่วยให้ผู้เสียภาษีสามารถยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่าย ภาษีเงินได้และภาษีมูลค่าเพิ่ม รวมถึงรายการหรือเอกสารเกี่ยวกับภาษีอากรสามารถกระทำโดยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ ส่วนสถาบันการเงินธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินของรัฐ และผู้ให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ จะต้องรายงานการทำธุรกรรมการเงินพิเศษให้กรมสรรพากรรับทราบ หากไม่ปฏิบัติตามปรับ 1 แสนบาท และปรับอีกวันละไม่เกิน 1 หมื่นบาท

อย่างไรก็ดี การผลักดันกฎหมายเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกให้กับผู้เสียภาษี จากเดิมที่ต้องมีต้นทุน และค่าเสียเวลา ในการยื่นภาษีเงินได้หัก ณ ที่จ่ายต่อกรมสรรพากร จากกฎหมายมีผลบังคับใช้ สถาบันการเงินก็จะรายงานข้อมูลให้กรมรับทราบ และเป็นการสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ที่เสียภาษีถูกต้อง โดยกรมไม่ได้เข้าไปตรวจสอบ หรือจับผิดใคร และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ ไม่ต้องกลัวว่ากรมจะไปไล่บี้ หากเสียภาษีถูกต้องอยู่แล้วก็จะไม่มีผลกระทบ

รายงานข่าวจากกระทรวงการคลัง ระบุว่า ผู้ที่ได้รับผลกระทบจากกฎหมาย คือ ร้านค้าออนไลน์ที่ยังไม่อยู่ในระบบภาษี ข้าราชการที่ทุจริตมีโอนเงินเข้าบัญชีของตัวเอง และธุรกิจสีเทาผิดกฎหมาย ซึ่งจะเห็นว่าการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวไม่กระทบกับผู้เสียภาษีที่ถูกต้อง แต่การออกกฎหมายนี้จะทำให้ประเทศดีขึ้น เพราะจะมีการเสียภาษีให้ถูกต้องมากขึ้น ป้องกันการทุจริตของข้าราชการ และการค้าขายของผิดกฎหมายได้