สรรพากรมั่นใจปีงบ 62 รีดภาษีได้เข้าเป้า 2 ล้านล้านบาทแน่!

กรมสรรพากรมั่นใจปีงบ 62 รีดภาษีได้ 2 ล้านล้านแน่ แม้ว่าจะเป็นโจทย์ที่ยากก็ตาม ฟุ้งใช้ดิจิทัลช่วยเดือนแรกของปีงบ 62 จัดเก็บได้เพิ่มขึ้น 5.92%

รีดภาษีได้เข้าเป้า 2 ล้านล้าน – นายเอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ เปิดเผยว่า กรมสรรพากรยืนยันว่าในปีงบประมาณ 2562 จะเก็บภาษีได้ตามเป้าหมาย 2 ล้านล้านบาท แม้ว่าจะเป็นโจทย์ที่ยากก็ตาม เพราะคิดเป็น 80% ของรายได้รัฐบาลทั้งหมด เพราะในปีงบประมาณ 2562 กรมสรรพากรมีเดินหน้ายุทธศาสตร์ ยกระดับประสิทธิภาพการจัดเก็บภาษีให้ทันสมัย รวดเร็ว และเป็นธรรม ด้วยการเชื่อมโยงฐานข้อมูลขนาดใหญ่ของผู้เสียภาษีผ่านระบบดิจิทัล ทำให้แยกผู้เสียภาษีดี กับไม่ดีออกจากกันได้

“ยุทธศาสตร์ยกประสิทธิภาพของกรมสรรพากรในปีงบประมาณ 2562 จะทำให้คนที่อยู่นอกระบบเข้ามาอยู่ในระบบมากขึ้น และการเก็บภาษีของกรมสรรพากรจะเก็บเพิ่มได้ในทุกๆ ตัว” นายเอกนิติ กล่าว

ทั้งนี้ การเก็บภาษีของกรมสรรพากรเดือนต.ค. 2561 ซึ่งเป็นเดือนแรกของปีงบประมาณ 2562 ได้ 1.23 แสนล้านบาท เพิ่มขึ้น 5.92% จากปีก่อนหน้า และมากกว่าเป้าหมายที่ประมาณการไว้ 5,800 ล้านบาท หรือคิดเป็น 4.93% ผลจากการเพิ่มประสิทธิภาพในช่วงแรกของกรมสรรพากรดิจิทัลในช่วงแรกที่ผ่านมา

นอกจากนี้ พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรมาตรการป้องกันการกำหนดราคาโอนระหว่างบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่มีความสัมพันธ์กัน (Transfer Pricing) มีผลบังคับใช้แล้ว จะทำให้การเก็บภาษีบริษัทในประเทศและนอกประเทศมีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ ร่าง พ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากรเพื่อรองรับระบบภาษีและเอกสารธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ตามแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาโครงการพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ (อีเพย์เมนต์) อยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เป็นกฎหมายวางรากฐานการเก็บภาษีทางอิเล็กทรอนิกส์ เช่น การหักภาษี ณ ที่จ่าย กฎหมายใหม่นี้ให้อำนาจสถาบันการเงินหักภาษี ณ ที่จ่ายของผู้เสียภาษีให้กรมสรรพากรได้เลยทำให้เกิดความสะดวก ไม่ได้เป็นกฎหมายที่ออกมาเพื่อจับผิดรายย่อย แต่จะทำให้เกิดความเป็นธรรมของผู้เสียภาษีนอกระบบและในระบบมากขึ้น

นายเอกนิติ กล่าวว่า ร่างพ.ร.บ.แก้ไขเพิ่มเติมประมวลรัษฎากร เพื่อรองรับการจัดเก็บภาษีจากผู้ประกอบการธุรกรรมอิเล็กทรอนิกส์ (อีบิสซิเนส) ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากการให้บริการในต่างประเทศ อยู่ระหว่างการพิจารณาของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งกรมสรรพากรพยายามเร่งให้สู่การพิจารณาของ สนช. บังคับใช้ออกมาบังคับ ทำให้ผู้ประกอบการต่างประเทศมาทำธุรกิจในประเทศบนระบบออนไลน์ต้องเสียภาษีมูลค่าเพิ่มในประเทศ ที่ผ่านมากรมสรรพากรได้หารือกับผู้ประกอบการรายใหญ่ที่ค้าขายออนไลน์ระดับโลก พร้อมที่จะทำตามกฎหมายที่กรมสรรพากรออกมา