คณะพาณิชย์ฯ ม.ธรรมศาสตร์ ไขกุญแจลับ CoD สูตรสำเร็จองค์กรมีดีไซน์ยุคดิจิทัล

คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี ม.ธรรมศาสตร์  นำเสนอต้นแบบองค์กรยุคเทคโนโลยีเปลี่ยนโลก เพื่อขับเคลื่อนองค์กรสู่ความล้ำ เผยสูตรสำเร็จที่เรียกว่าองค์กรมีดีไซน์ยุคดิจิทัล The Next Gen Corporation of Design (CoD) ต้องผสมผสานองค์ประกอบทั้ง 4 ส่วนอย่างลงตัว ประกอบด้วย  A – Aesthetic -สุนทรียะ  , T คือ Technology –เทคโนโลยี , P คือ Process- กระบวนการ และ แพลทฟอร์ม (Platform) เพื่อขับเคลื่อนองค์กรในทุกจุดเพื่อชัยชนะในยุคเทคโนโลยีพลิกโลก

รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ อุดร คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัย ธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยทีมวิจัยประกอบด้วยคณาจารย์หลากหลายสาขาได้วิจัยเรื่ององค์กรมีดีไซน์ ซึ่งเป็นแนวทางการทำงานขององค์กร (CoD)  เมื่อปี  2551 มีองค์ประกอบเพียง 3 อย่างได้แก่ สุนทรียะ เทคโนโลยี และกระบวนการ แต่อย่างไรก็ดีเมื่อเทคโนโลยีเปลี่ยนโลกไปอย่างรวดเร็ว คณาจารย์ผู้วิจัยได้ทำการต่อยอดแนวคิด CoD ไปอีกระดับหนึ่งเพื่อรับมือกับโลกดิจิทัล ซึ่งจากผลวิจัยต้องมีองค์ประกอบ 4 ส่วน ได้แก่. A – Aesthetic -สุนทรียะ, T คือ Technology –เทคโนโลยี, P คือ Process- กระบวนการ และ แพลทฟอร์ม (Platform)

“จากการคาดการณ์ 10 ปีข้างหน้า ภูมิทัศน์ทางธุรกิจของโลกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง ปรากฏการณ์เทคโนโลยีพลิกโลก (Technology Disruption) นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงอย่างหน้ามือเป็นหลังมือในกิจการจำนวนมาก สื่อสิ่งพิมพ์ล้มตาย สื่อทีวีตกต่ำ วิธีการสื่อสารของคนทั้งโลกเปลี่ยนแปลง ธนาคารและสถาบันการเงินถูกท้าทายจากธุรกรรมดิจิทัล การจับจ่ายซื้อสินค้าและบริการกำลังเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิง รวมทั้งการมาถึงของ Big Data และ AI การเปลี่ยนแปลงอย่างรุนแรงเหล่านี้จะใช้เวลาเพียงไม่กี่ปีในการเปลี่ยนแปลงบางธุรกิจไปตลอดกาล”

อย่างไรก็ตามในภาคธุรกิจต้องมีการปรับตัวในหลายรูปแบบจะใช้ราคาแข่งขัน หรือมุ่งเน้นประชาสัมพันธ์เพียงอย่างเดียวไม่ได้ ซึ่งโจทย์ใหญ่ที่สำคัญ ต้องมีองค์ประกอบ 4 ส่วน สุนทรียะ  เทคโนโลยีกระบวนการ และ แพลทฟอร์ม

“ทุกธุรกิจและบริการสิ่งสำคัญที่สุด ต้องทำให้ลูกค้าร้อง ‘ว้าว’ ให้ได้ ลูกค้าต้องมีความประทับใจเมื่อเห็นสินค้าในครั้งแรก ดังนั้นกระบวนการทำงาน ต้องนำเทคโนโลยีและสุนทรียะเข้าไปผสมผสานเนื่องจากปัจจุบันผู้บริโภคจะเสพสิ่งค้าด้วยอารมณ์และความรู้สึกเป็นหลัก”

รองศาสตราจารย์ ดร.พิภพ ยกตัวอย่างองค์กรที่นำปัจจัยแห่งความสำคัญธุรกิจยุคใหม่  4 ส่วน สุนทรียะ เทคโนโลยี  กระบวนการ และ แพลทฟอร์ม ที่ไปใช้แล้วประสบความสำเร็จ อาทิ กลุ่มโรงพยาบาลกรุงเทพ กลุ่มธุรกิจค้าปลีกอย่างเทสโก้ โลตัส  มาร์เก็ตเพลสอย่างอาลีบาบา เป็นต้น

“ที่ผ่านมาจำนวนธุรกิจที่มีการปรับเปลี่ยนเร็วมีเพียง 1-3% เท่านั้นซึ่งกลุ่มที่น่าเป็นห่วง คือ องค์กรขนาดใหญ่เก่าแก่และประสบความสำเร็จธุรกิจเหล่านี้จะติดกับความสำเร็จทำให้ไม่คิดที่จะเปลี่ยนสุดท้ายธุรกิจอาจจะเจ๊งได้ ขณะที่กลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพและเอสเอ็มอีที่มีความใกล้ชิดกับลูกค้ามากกว่าจะสามารถปรับตัวได้เร็วและทำให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างยั่งยืน”

อย่างไรก็ตามปัจจุบันเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในทุกลมหายใจของผู้บริโภคซึ่งข้อดีคือทำให้องค์กรธุรกิจสามารถมีข้อมูลในเรื่องของพฤติกรรมลูกค้าได้อย่างครบถ้วนและกลายเป็นที่มาของคำว่า Big Datและ AI ซึ่งจะเป็นการพัฒนากลไกสำคัญเพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าได้ตรงจุด