ชาวเน็ตเสียงแตก! “กระทงขนมปัง” ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ควรหลีกเลี่ยงถ้าคิดจะลอย

ชาวเน็ตเสียงแตก!  “กระทงขนมปัง”  ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ควรหลีกเลี่ยงถ้าคิดจะลอย

กระทงขนมปัง ผู้สื่อข่าว “เส้นทางเศรษฐีออนไลน์” รายงานบรรยากาศเทศกาลลอยกระทงประจำปีนี้  โดยลงสำรวจตามตลาดริมน้ำย่านชานเมือง ปรากฏ มีกระทงสำเร็จรูปหลากหลายแบบวางจำหน่าย ส่วนใหญ่ทำจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ขนมปัง ใบไม้ หัวปลี และ กรวยไอศกรีมชุบสี ฯลฯ ซึ่งคนขายให้ข้อมูลกับผู้ซื้อว่า กระทงทำจากกรวยไอศกรีมนั้น  เมื่อละลายแล้วสามารถเป็นอาหารของปลาได้

กระทงอาหารปลา ทำจากขนมปัง กรวยไอศกรีมชุบสี

ขณะเดียวกัน เกี่ยวกับประเด็น  “กระทงขนมปัง”  มีข้อมูลน่าสนใจ จากรศ. ดร. เจษฎา  เด่นดวงบริพันธ์ อาจารย์ประจำภาควิชาชีววิทยา คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาฯ และนักสื่อสารวิทยาศาสตร์ โพสต์ไว้ ใน เพจ Jessada Denduangboripant ว่า

“กระทงขนมปัง  คือ กระทงที่ไม่ดีต่อสิ่งแวดล้อมที่สุด ควรหลีกเลี่ยงถ้าคิดจะลอย….

ถ้ายังตัดใจเลิกลอยกระทงไม่ได้ อย่างน้อยก็ขอให้หลีกเลี่ยงความเชื่อผิดๆ เรื่อง “ลอยกระทงขนมปังเพื่อสิ่งแวดล้อม” ครับ กระทงขนมปังเนี่ย ทำน้ำเน่าเสียมากกว่าอย่างอื่น เพราะกระทงขนมปัง มันเป็นสารอินทรีย์ ลงน้ำก็ยุ่ยและเน่าอย่างรวดเร็ว จะเก็บขึ้นแบบกระทงใบตองหรือโฟมก็ไม่ได้ ปลาก็ไม่ค่อยกิน แล้วถ้ากินไม่หมด มันก็จะกลายเป็นอาหารของเชื้อจุลินทรีย์ให้น้ำ ทำให้น้ำเน่าเสียหนักขึ้นอีก

ฟังความเห็นของผู้เชี่ยวชาญสิ่งแวดล้อมท่านอื่นประกอบได้ครับ

ดร.ขวัญฤดี โชติชนาทวีวงศ์ ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย กล่าวว่า กระทงขนมปัง ถ้าใช้ลอยในแหล่งน้ำไม่ว่าจะเปิดหรือปิด ยกตัวอย่างเช่น หากเป็นแหล่งน้ำปิดแล้วมีบ่อปลา ก็จะสามารถใช้ได้ จะมีประโยชน์ เพราะปลาสามารถกินขนมปังได้ แต่ถ้าเป็นแหล่งน้ำปิดแล้วไม่มีบ่อปลา จะอันตรายต่อสภาพน้ำ เพราะขนมปังจะเกิดการยุ่ย และทำให้น้ำมีค่าบีโอดี หรือค่าสารอินทรีย์สูง ไม่สมควรนำมาลอย (https://www.pptvhd36.com/sport/news/19051)

ดร. อาภา หวังเกียรติ ผู้ช่วยคณบดีวิทยาลัยวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต กล่าวว่า สำหรับกระทงขนมปังถึงจะย่อยสลายได้ แต่ก็เป็นสาเหตุทำให้เกิดน้ำเน่าได้ เพราะขนมปังเป็นประเภทสิ่งที่เป็นสารอินทรีย์ ซึ่งสารอินทรีย์ก็คือ โปรตีน คาร์โบไฮเดรต ไขมัน โดยธรรมชาติหากสารอินทรีย์พวกนี้ลงไปอยู่ในแม่น้ำ มันก็จะมีจุลินทรีย์พวกแบคทีเรียมากินเป็นอาหาร หากปริมาณของสารพวกนี้ไม่มากนักไม่ถือว่าส่งผลเสียเพราะมันก็จะเปลี่ยนแป้งไปเป็นคาร์บอนไดออกไซด์ หากใช้กระทงขนมปังลอยน้ำในปริมาณมาก ขบวนการนี้ก็จะมีดึงออกซิเจนในน้ำมาใช้ เมื่อใช้ออกซิเจนในน้ำมากไปจะกลายเป็นสาเหตุของน้ำเน่าเสียได้ (http://www.jr-rsu.net/article/747)”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมด้วยว่า โพสต์จากรศ.ดร.เจษฎา ดังกล่าวนั้น มีชาวเน็ตเข้ามาแสดงความคิดเห็นกันเป็นจำนวนมาก โดยออกเป็นหลายกลุ่ม  บ้างมองว่าถ้านำกระทงขนมปังไปลอยในแหล่งน้ำเปิด ก็อาจไม่สร้างปัญหาใดๆ บางส่วนบอกต่อไปนี้จะไม่สนับสนุนกระทงที่ทำจากอาหารปลา แต่บางส่วนบอก ควรเห็นใจพ่อค้าแม่ขายบ้าง แต่มีอีกไม่น้อยที่บอกพ่อค้าแม่ขายก็ต้องให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมด้วย