สภาพัฒน์ หั่น จีดีพีทั้งปีเหลือ 4.2% หลังตัวเลขไตรมาส 3/2561 ไม่สดใสโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดไว้

สภาพัฒน์หั่นจีดีพีทั้งปีเหลือ 4.2% หลังตัวเลขไตรมาส 3/2561 ไม่สดใสโตต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันการค้าโลก ยอมรับส่งออกชะลอตัวเหลือ 7.2% จากเดิม 10% ด้านแบงก์ชาติยังเชื่อไตรมาส 4 จะดีกว่า

หั่นจีดีพีทั้งปีเหลือ 4.2% – นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือ สภาพัฒน์ เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาส 3/2561 ขยายตัว 3.3% ต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้าที่ขยายตัวถึง 4.6% เป็นไปตามอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดย สศช. ได้ปรับประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของไทยปี 2561 ที่ 4.2% ในช่วงคาดการณ์ 4.2-4.7% จากเดิม 4.5% ในช่วงคาดการณ์ 4.2-4.7% เนื่องจากคาดว่าการส่งออกทั้งปีจะขยายตัวลดลงเหลือ 7.2% จากเดิม 10% ส่วนการนำเข้าคาดว่าอยู่ที่ 16.2% จากเดิม 15.4%

ทั้งนี้ เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ชะลอตัวลงจากไตรมาส 2 ตามการชะลอตัวของอุปสงค์ภาคต่างประเทศ ในขณะที่อุปสงค์ในประเทศปรับตัวดีขึ้น ส่วนด้านการใช้จ่ายมีปัจจัยสนับสนุนจากการเร่งตัวขึ้นของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการขยายตัวต่อเนื่องของการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐ โดยการบริโภคภาคเอกชน พบว่าในไตรมาสนี้ขยายตัวได้ 5% ถือเป็นอัตราการขยายตัวสูงสุดในรอบ 22 ไตรมาส โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการปรับตัวดีขึ้นของฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจ การดำเนินมาตรการดูแลผู้มีรายได้น้อยของภาครัฐ รวมทั้งอัตราดอกเบี้ยและอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับต่ำ

ขณะที่ การปรับตัวเพิ่มขึ้นของความเชื่อมั่นผู้บริโภค การใช้จ่ายซื้อสินค้าในหมวดคงทนขยายตัวเร่งขึ้น ส่วนการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคของรัฐบาล ขยายตัว 2.1% โดยการใช้จ่ายในหมวดค่าใช้สอย เพิ่มขึ้น 4.5% และหมวดค่าใช้จ่ายสวัสดิการสังคม 14.5% อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรวมในไตรมาสนี้อยู่ที่ 20.5% เทียบกับเป้าหมายที่กำหนดไว้ซึ่งอยู่ที่ 21.7% ส่วนการลงทุนรวมในไตรมาสนี้ เพิ่มขึ้น 3.9% โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.9% สูงสุดในรอบ 15 ไตรมาส ส่วนการลงทุนภาครัฐ ขยายตัว 4.2% เป็นผลจากการลงทุนของรัฐวิสาหกิจที่ขยายตัว 9.9% และลงทุนรัฐบาลขยายตัว 0.7%

นายทศพร กล่าวว่า เสถียรภาพทางเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี โดยอัตราการว่างงานอยู่ในระดับต่ำที่ 1% อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ที่ 1.5% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 4.2 พันล้านดอลลาร์ เงินทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 อยู่ที่ 204.5 พันล้านดอลลาร์ และหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือน ก.ย. 2561 อยู่ที่ระดับ 41.5% ของจีดีพี ซึ่งจากทั้งหมดนี้ ส่งผลให้ในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้แล้ว 4.3%

ทั้งนี้ สศช. ได้ปรับองค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจให้สอดคล้องกับข้อมูลจริงในช่วง 3 ไตรมาสแรกของปี 2561 โดย เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ขยายตัวต่ำกว่าที่ประมาณไว้ และการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวและรายรับจากการท่องเที่ยวที่ต่ำกว่าที่คาด ซึ่งมีสาเหตุจากการลดลงของนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป จากผลของเหตุการณ์เรือล่มที่ภูเก็ต และการแข่งขันฟุตบอลโลกที่รัสเซีย

ส่วนในช่วงที่เหลือของปีนี้ คาดว่าระบบการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศยังอยู่ในระหว่างการปรับตัว และสร้างแรงกดดันต่อการส่งออกและการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยและประเทศต่างๆ อย่างต่อเนื่อง แต่ในกรณีที่ไม่มีมาตรการกีดกันการค้าเพิ่มเติม คาดว่าแรงกดดันดังกล่าวจะผ่อนคลายลงตามความคืบหน้าในการปรับตัวของระบบการค้าและสายพานการผลิตระหว่างประเทศ ซึ่งจะเห็นได้จากการขยายตัวเร่งขึ้นของมูลค่าการส่งออกและนำเข้าของจีนในเดือนต.ค.

ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวล่าช้ากว่าที่คาดการณ์ไว้ และผลกระทบจากการปรับเปลี่ยนรุ่นรถยนต์ในตลาดส่งออกมีแนวโน้มผ่อนคลายลงเมื่อรถยนต์รุ่นใหม่ออกสู่ตลาดมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้จากการเริ่มปรับตัวดีขึ้นของปริมาณการจำหน่ายรถยนต์กระบะที่มีการนำเข้าจากประเทศไทยในตลาดออสเตรเลียเดือนต.ค.

นอกจากนี้ ยังมีการปรับเปลี่ยนสมมติฐานประมาณการที่สำคัญ เช่น การปรับลดการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกลงเหลือ 4.0% จากประมาณการในครั้งก่อนที่ 4.1% ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของแรงกดดันจากมาตรการกีดกันทางการค้าและสัญญาณการชะลอตัวของเศรษฐกิจ ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้ขยายตัวได้ต่ำกว่าที่คาดการณ์ไว้ มีการปรับลดสมมติฐานรายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ เหลือ 2.05 ล้านล้านบาท จากประมาณการในครั้งก่อนที่ 2.15 ล้านล้านบาท ตามการลดลงที่มากกว่าคาดของจำนวนนักท่องเที่ยวจีนและยุโรป

นายดอน นาครทรรพ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า เศรษฐกิจไทยไตรมาส 3 ปี 2561 ขยายตัวที่ 3.3% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน (หรือ 0.0% จากไตรมาสก่อน) ชะลอลงจากครึ่งปีแรกที่ขยายตัวสูงถึง 4.8% จากการส่งออกสินค้าและบริการเป็นสำคัญ โดยส่วนหนึ่งได้รับผลกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าระหว่างสหรัฐฯ และจีน วัฏจักรอิเล็กทรอนิกส์ที่ชะลอลง ผลจากสภาวะอากาศของประเทศคู่ค้าที่เป็นปัจจัยชั่วคราว รวมถึงการชะลอตัวของภาคการท่องเที่ยว

อย่างไรก็ดี การบริโภคภาคเอกชนขยายตัวดีต่อเนื่อง ตามรายได้และการจ้างงานนอกภาคเกษตรที่ปรับดีขึ้น เช่นเดียวกับการลงทุนภาคเอกชนที่ปรับดีขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งช่วยลดทอนผลกระทบจากการลดลงของอุปสงค์ต่างประเทศได้ส่วนหนึ่ง

สำหรับระยะต่อไป คาดว่าเศรษฐกิจไตรมาส 4 จะกลับมาขยายตัวสูงกว่าในไตรมาส 3 ที่มีผลของปัจจัยชั่วคราว อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจไทยเผชิญกับความไม่แน่นอนที่สูงขึ้น โดยเฉพาะจากปัจจัยภายนอกที่ต้องติดตามพัฒนาการต่อไปอย่างใกล้ชิด อาทิ นโยบายการค้าระหว่างประเทศของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้ของประเทศคู่ค้าที่ชัดเจนขึ้น