ชาวสวนยางตรัง ปรับตัวหันเลี้ยง ”ต่อหัวเสือ” สร้างรายได้ถึงหลักหมื่น

เกษตรกรสวนยาง ต.เขาไพร อ.รัษฎา จ.ตรัง รวมตัวเลี้ยงต่อหัวเสือเพื่อขายหลังราคายางตกต่ำ เผยราคาดี 700 บาท/กก. สร้างรายได้กว่า 40,000 บาทต่อการเก็บ 1 ครั้ง

นายณรงค์ ก่อสกุล เกษตรกรผู้เลี้ยงต่อหัวเสือจังหวัดตรัง เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกยางพาราในพื้นที่จังหวัดตรังได้เริ่มหันมาเลี้ยงตัวอ่อนต่อหัวเสือกันมากขึ้น หลังจากที่ราคายางพาราตกต่ำมาอย่างต่อเนื่อง ขณะที่การบริโภคตัวอ่อนต่อหัวเสือกำลังได้รับความนิยม สามารถขายได้กก.ละ 700 บาท โดยใน 1 รังต่อหัวเสือจะมีปริมาณตัวอ่อนที่พร้อมนำไปจำหน่ายราว 2-3 กก. หรือบางครั้งมีปริมาณมากที่สุดถึง 5 กก. โดยจะเลือกเก็บเฉพาะตัวอ่อนที่มีอายุ 3-4 เดือน และเว้นช่วง 3 สัปดาห์ หรือ 1 เดือน/ครั้ง ในส่วนของตนเองนั้นสามารถสร้างรายได้จากต่อหัวเสือได้ประมาณ 40,000-50,000 บาท จากการเก็บตัวอ่อน 1 ครั้งในส่วนของการจัดจำหน่ายนั้น นอกจากจะจำหน่ายในพื้นที่จังหวัดตรังเองแล้ว ยังส่งไปขายยังจังหวัดอื่นๆ เช่น จังหวัดนครศรีธรรมราช และกรุงเทพฯ อีกด้วย โดยตัวอ่อนต่อหัวเสือนั้นสามารถนำไปทำอาหารรับประทานได้สารพัดเมนู เช่น ต่อคั่วเกลือ ผัดกะทิ เป็นต้น

นายณรงค์ กล่าวต่อว่า เริ่มแรกที่ตนเองและเกษตรกรหลายรายในพื้นที่ ต.เขาไพร อ.รัษฎา จ.ตรัง เริ่มการเลี้ยงต่อหัวเสือ เนื่องจากชอบรับประทาน แต่มีราคาแพงและหารับประทานได้ยาก ประกอบกับราคายางพาราตกต่ำต่อเนื่องในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา จึงเริ่มเลี้ยงไว้เพื่อรับประทานเอง และขยายรังเพิ่มขึ้นจนเหลือผลผลิตแบ่งขาย โดยในปัจจุบันเกษตรกรผู้เลี้ยงต่อหัวเสือตำบลเขาไพร สามารถขยายรังต่อหัวเสือรวมกันได้มากกว่า 50 รัง “สำหรับการเริ่มต้นเลี้ยงต่อหัวเสือนั้นจะเริ่มต้นในช่วงเดือนพฤษภาคม โดยจะตามหารังต่อขนาดเล็กมาแขวนไว้ หลังจากมีการจัดเตรียมพื้นที่ไว้เรียบร้อยแล้ว

จากนั้นรังต่อที่มีขนาดเล็กจะค่อยๆ ขยายรังเพิ่มขึ้น โดยจำเป็นต้องมุงหลังคาเพื่อป้องกันฝน และแสงแดด เนื่องจากจะทำให้รังพังได้ง่าย ส่วนการให้อาหารตัวต่อนั้น เกษตรกรนิยมใช้น้ำหวานเป็นหลัก และนำเศษเนื้อสัตว์ เช่น เนื้อหมู เนื้อไก่ ตั๊กแตน จัดวางไว้ใกล้รังตัวต่อ” นายณรงค์ กล่าว

นายณรงค์ กล่าวต่อไปว่า สำหรับวิธีการเข้าไปเก็บรังต่อค่อนข้างเสี่ยงอันตราย โดยต้องเตรียมชุดป้องกัน ซึ่งทางกลุ่มได้ประดิษฐ์ชุดขึ้นเองจากวัสดุที่หาได้ทั่วไป รวมถึงมีการติดตั้งระบบระบายอากาศโดยใช้พัดลมดูดอากาศเข้าออกเพื่อให้มีอากาศไหลเวียนในขณะปฏิบัติงาน นอกจากนี้ ยังต้องมีการกันพื้นที่ไม่ให้บุคคลภายนอกเข้ามาเพื่อความปลอดภัยอีกด้วย