พาส่องเส้นทาง “พันท้ายนรสิงห์” น้ำพริกพันล้าน นับหนึ่งจาก…รถเข็น

พาส่องเส้นทาง “พันท้ายนรสิงห์” น้ำพริกพันล้าน นับหนึ่งจาก…รถเข็น

ความ “มั่งคั่ง และ “มั่นคง” ของธุรกิจน้ำพริกมูลค่านับพันล้านบาท ภายใต้แบรนด์ “พันท้ายนรสิงห์” มีจุดเริ่มต้นเกิดขึ้นเมื่อราว 50 ปีที่แล้ว จากบรรพบุรุษ รุ่นพ่อ-แม่ ซึ่งมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ อดทน ขยัน และบากบั่น มากพอที่จะ ให้รุ่นลูก-หลาน ยึดถือเป็นแบบอย่างและสานเจตนารมณ์ต่อมาจนถึงวันนี้

จากทำกันอยู่ “ครัวหลังบ้าน” มาถึงปัจจุบัน กิจการเติบโตเป็น บริษัท อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง จำกัด ในฐานะเจ้าของสินค้าในกลุ่มเครื่องปรุงรสและเครื่องจิ้มนานาชนิด ภายใต้เครื่องหมายการค้า “ตราพันท้ายนรสิงห์” มีโรงงานผลิตตั้งบนที่ดินกว่า 80 ไร่ อยู่ริมถนนใหญ่ เขตตำบลกาหลง อำเภอเมือง จังหวัดสมุทรสาคร

ปัจจุบันผลิตภัณฑ์แบรนด์ “พันท้ายนรสิงห์” นับร้อยรายการ ถูกส่งออกไปจำหน่ายไปขายยังต่างแดน กว่า 50 แห่ง นับตั้งแต่ กลุ่มประเทศในทวีปยุโรป สหรัฐอเมริกา ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ รวมทั้งประเทศแถบโซนเอเชียด้วย

เข็นข้าวเกรียบขาย
จากมหาชัย-กทม.

คุณสุนทร วัฒนาพร ประธานกรรมการบริษัท อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง จำกัด ในฐานะลูกชายคนโต ผู้สืบทอดสายเลือดและกิจการมาจาก คุณสมศักดิ์ และ คุณสุรีย์ วัฒนาพร ผู้ก่อตั้งกิจการ “พันท้ายนรสิงห์” เริ่มต้นย้อนความทรงจำ ให้ฟังว่า เดิมที คุณพ่อ-คุณแม่ ของเขา เป็นเจ้าของร้านกาแฟ อยู่หน้าโรงหนัง “อำพล” ในย่านชุมชน แห่งตำบลท่าฉลอม จังหวัดสมุทรสาคร แต่แล้ววันหนึ่งเกิดเหตุการณ์ ไฟไหม้โรงหนัง ทำให้กิจการเล็กๆ ของครอบครัวต้องวอดไปด้วย

เมื่อไม่มีร้านให้ค้าขายต่อ คุณพ่อ-คุณแม่ ของเขา จึงกลับไปช่วยงานที่บ้าน โดยอาสาทำหน้าที่หั่น          “ข้าวเกรียบกุ้ง” ตากบนหลังคาแพ ก่อนนำไปขายให้กับชาวเรือที่สัญจรแล่นผ่านไปมา ระหว่างมหาชัย-ท่าฉลอม

แต่ด้วยความชอบคิดชอบฝันและไม่หยุดนิ่ง คุณพ่อสมศักดิ์ จึงมองหาช่องทางการขายใหม่ๆ เพราะคิดว่าถ้าขายแต่กับชาวเรือ คงเหลือกำไรวันละไม่มากนัก

“สมัย 50 ปีที่แล้ว ถนนหนทางยังไม่มี การเดินทางจากกรุงเทพฯ ผ่านมหาชัย ไปสุดทางที่สมุทรสงคราม มีแค่รถไฟเท่านั้น คุณพ่อของผม เลยนำข้าวเกรียบกุ้ง ใส่ถุงกระดาษ ก่อนนำใส่กระจาดเร่ขายตามโบกี้รถไฟ”

“ขายอยู่ได้ไม่นาน ลูกค้าติดใจ คุณแม่สุรีย์ ซึ่งเป็นฝ่ายผลิต จึงช่วยกันคิดกับคุณพ่อ ทำข้าวเกรียบรสชาติแปลกๆ ออกมาขายอีกหลายอย่าง เท่าที่จำได้มี ข้าวเกรียบปู ข้าวเกรียบปลากะพง ข้าวเกรียบหอยแมลงภู่  ข้าวเกรียบเผือก ข้าวเกรียบฟักทอง” คุณสุนทร ย้อนอดีตให้ฟังด้วยแววตาเป็นประกาย

แม้จะขายดิบขายดีไม่เว้นแต่ละวัน แต่นั่นไม่ได้ทำให้คุณพ่อสมศักดิ์ พอใจอยู่ที่กำไรแค่นั้น จึงหาทางขยับขยายอีกครั้ง คราวนี้ตั้งใจไปขายไกลถึงในกรุงเทพฯ โดยนำ “รถเข็น” บรรทุกข้าวเกรียบนานาชนิด ขนขึ้นโบกี้รถไฟ มีจุดหมายปลายทางอยู่ที่สถานีวงเวียนใหญ่

“คุณพ่อของผม เชื่อว่าข้าวเกรียบน่าจะขายให้คนกรุงเทพฯ ได้ เลยเอาของใส่รถเข็นก่อนขึ้นรถไฟเพื่อไปขายตลาดนัดสนามหลวง พอลงที่สถานีรถไฟวงเวียนใหญ่ ก็เข็นรถข้ามสะพานพุทธ ไปวัดพระแก้ว กว่าจะถึงสนามหลวง คำนวณระยะทางแล้วไม่ใกล้เลยนะ แสดงให้เห็นว่าท่านมีความอุตสาหะ ขยันขันแข็ง ตั้งใจในงานจริงๆ” คุณสุนทร ย้อนความทรงจำ

แตกไลน์ น้ำพริกเผา
ดังเพราะปากต่อปาก

ขน “รถเข็น” ขึ้น “รถไฟ” ไปขายข้าวเกรียบ ที่ตลาดนัดท้องสนามหลวงอยู่หลายปี กระทั่งมีถนนหนทางให้รถยนต์วิ่งสัญจร คุณพ่อสมศักดิ์ยังคงมุ่งมั่นทำการค้าในแบบที่ถนัด

อยู่มาวันหนึ่ง มีลูกค้าตั้งคำถาม

“ไม่มีอะไรมาจิ้มกับข้าวเกรียบกุ้งบ้างเลยหรือ”

และนั่นเอง…คือที่มาของการ “แตกไลน์” สินค้าใหม่ ด้วยการดัดแปลง “น้ำพริกเผา” แบบของคนจีน มาแต่งเติมรสชาติให้ถูกปากคนไทย ก่อนนำมาขายคู่กับข้าวเกรียบ

“น้ำพริกเผาใส่ถุงพลาสติก ขายกิโลกรัมละ 20 บาท มี 3 รสชาติ คือ เผ็ดน้อย ไว้จิ้มข้าวเกรียบกุ้ง เผ็ดกลาง และเผ็ดมาก ไว้ใช้ทำกับข้าว ขายอยู่หลายปี มีลูกค้านิยมกันมาก อาจเพราะสมัยนั้นยังไม่ค่อยมีใครทำขาย จำได้ว่าถ้าใครจะไปเมืองนอก ต้องมาซื้อน้ำพริกเผาใส่กระป๋องนมขึ้นเครื่องบินไปด้วย” คุณสุนทร ย้อนอดีต

กิจการข้าวเกรียบและน้ำพริกเผา ของตระกูล “วัฒนาพร” ค่อยๆ เติบโตมาตามลำดับ กระทั่งขยับขยายเป็นโรงงานขนาดเล็ก อยู่หลังบ้านพัก ในจังหวัดสมุทรสาคร

จนในราวปี พ.ศ. 2505 ทำการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้า ใช้ “ตราสุวรรณหงษ์” เป็นตราผลิตภัณฑ์ แต่ใช้อยู่ไม่นาน จึงทราบว่าไปจดทะเบียนซ้ำซ้อนกับเจ้าอื่นซึ่งใช้อยู่ก่อนหน้า

คุณพ่อสมศักดิ์ของเขา เลยต้องคิดเครื่องหมายการค้าของตัวเองขึ้นใหม่ ด้วยการอัญเชิญมงคลนาม            “พันท้ายนรสิงห์” วีรบุรุษแห่งความซื่อสัตย์ มาจดทะเบียนเป็นเครื่องหมายการค้า และใช้มาตั้งแต่บัดนั้นจนกระทั่งปัจจุบัน

คุณสุนทร เล่าต่อว่า เมื่อเขาเติบโตถึงวัยพอจะช่วยเหลือกิจการของครอบครัวได้แล้ว คุณพ่อซึ่งทำหน้าที่เป็นเซลส์ ได้มอบหมายให้เขาทำหน้าที่ “แบก” น้ำพริกเผาไปขายตามงานแสดงสินค้าประจำปีต่างๆ เช่น งานวชิราวุธ งานแสดงสินค้าไทย หรืองานกาชาด

โดยกลยุทธ์เข้าถึงลูกค้าในสมัยนั้น ไม่มีพิธีรีตองอะไรมาก หากอยากให้ลูกค้ารู้ว่าสินค้าอร่อยแค่ไหน การให้ทดลองชิม “ของจริง” นับเป็นวิธีเรียกลูกค้าได้ดีที่สุด

“สมัยนั้นสื่อโฆษณาน้อย โทรทัศน์มีเพียงไม่กี่ช่อง การเป็นที่รู้จักของน้ำพริกเผาตราพันท้ายนรสิงห์ ในยุคแรก เริ่มต้นมาจากปากต่อปาก พอเขาได้ชิมมันอร่อยเลยบอกต่อกัน เรียกว่าการเป็นที่รู้จักในยุคนั้น มาจากความอร่อย ราคาขายสมเหตุสมผล และคู่แข่งซึ่งแทบไม่มี” คุณสุนทร เล่า

บุกต่างประเทศ
โดนตะเพิดจากร้าน

ประธานกรรมการบริษัท อุตสาหกรรมพันท้ายนรสิงห์สินค้าพื้นเมือง จำกัด ย้อนให้ฟังถึงพัฒนาการของธุรกิจครอบครัวให้ฟังว่า หลังจากน้ำพริกเผา “ตราพันท้ายนรสิงห์” ประสบความสำเร็จ คุณแม่สุรีย์ ซึ่งทำหน้าที่อยู่ฝ่ายผลิต ได้คิดค้นน้ำพริกสูตรอื่นออกมาขายเพิ่มเติมอีก 4 ชนิด คือ น้ำพริกตาแดง น้ำพริกปลาย่าง น้ำพริกกุ้ง และน้ำพริกปลาร้า ก่อนจะตามมาด้วยน้ำจิ้มปลาหมึก และน้ำจิ้มไก่

เมื่อยอดขายในประเทศประสบความสำเร็จอย่างดี ผู้ที่เกี่ยวข้องในธุรกิจนี้ จึงเห็นพ้องกันว่า ควรออกไปบุกตลาดต่างประเทศดูบ้าง โดยราวปี พ.ศ. 2519 ได้ส่งน้ำจิ้มไก่ และน้ำพริกนรก เข้าไปขายที่ประเทศออสเตรเลียเป็นแห่งแรก เพราะประเมินว่ามีคนไทยอาศัยอยู่กันไม่น้อย

หลังจากเริ่มส่งออกได้ไม่นาน เกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองทั้งในไทยและประเทศเพื่อนบ้าน ส่งผลให้เกิดการอพยพของผู้คนจำนวนมาก มีการหนีไปตั้งรกรากตามประเทศต่างๆ อาทิ ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย สหรัฐอเมริกา ซึ่งจากจุดนี้เอง เป็นเหตุให้สินค้าไทย หลายชนิดถูกส่งไปขายในต่างแดนกันอย่างกว้างขวาง และเป็น “โอกาสทอง” ของสินค้าตราพันท้ายนรสิงห์ด้วย

ยาก-ง่าย แค่ไหน กับการนำผลิตภัณฑ์ไปตั้งบนเชลฟ์ร้านค้าต่างแดนในยุคบุกเบิก ประเด็นนี้ คุณสุนทร ถึงกับหัวเราะลั่น ก่อนเล่าเสียงดังออกรส

“ยากมาก ใช้เวลาเป็นปีกว่าจะเข้าวางขายได้แต่ละตัว ตอนจะเอาน้ำปลา เข้าไปขายย่านโซโห ประเทศอังกฤษ เจ้าของร้านค้าส่วนใหญ่เป็นคนจีน พยายามอธิบายอยู่ตั้งนานว่า ฟิช ซอส เขาส่ายหัว ไม่รู้จัก รู้จักแต่ซอย ซอส หรือซีอิ๊ว พอตัดจุกขวดเท่านั้นแหละ โดนไล่ออกจากร้านเลย”

เจ้าของผลิตภัณฑ์ “ตราพันท้ายนรงสิงห์” ยังเผยให้ฟังถึงแนวคิดในการทำธุรกิจด้วยว่า การส่งของไปขายเมืองนอกให้คนไทยนั้น เป็นเพียงเป้าหมายแรก แต่ “เป้าหมายใหญ่” ที่ตั้งไว้ในใจ คือ หวังให้คนต่างชาติรู้จัก และหันมารับประทาน สินค้า “แบบไทยๆ” ดูบ้าง เลยพยายามบุกตลาด ด้วยการนำเครื่องปรุงพวก น้ำจิ้มไก่ น้ำปลา น้ำพริกเผา เข้าไปเป็นส่วนประกอบของอาหารไทย เพื่อทำขายให้ต่างชาติรับประทาน

กระทั่งปัจจุบัน มีราว 95 เปอร์เซ็นต์ ของภัตตาคารไทยในต่างประเทศ หรือประมาณหมื่นกว่าราย เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ “ตราพันท้ายนรสิงห์” โดยเฉพาะน้ำพริกเผา ซึ่งใช้เป็นส่วนผสมของต้มยำ เนื่องจากรสชาติถูกปากชาวต่างชาติ ยิ่งระยะหลัง ชาวตะวันตก เริ่มรู้จักการรับประทานน้ำจิ้มไก่ เขานำไปทาบาร์บีคิว ทำให้ยอดขายน้ำจิ้มไก่ ในทวีปยุโรป เติบโตมาก

“น้ำจิ้มไก่” ไปจีน
เพื่อนหัวเราะตกเก้าอี้

ความพยายามในการ “ชักจูง” ให้คนต่างชาติ หันมารับประทานสินค้าแบบไทย ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญในการทำธุรกิจของ “พันท้ายนรสิงห์” นั้น ดำเนินต่อมาเป็นระยะ โดยในราวปี พ.ศ. 2525 คุณสุนทรมีแนวคิดนำ “น้ำจิ้มไก่” เข้าไปขายในประเทศจีน แต่ตอนที่เผยความตั้งใจให้เพื่อนฝูงฟัง กลับถูกหัวเราะเยาะถึงขั้น “ตกเก้าอี้” ก่อนจะถูกหาว่า “บ้า” ถ้าคิดจะนำ “พริก” ไปให้คนจีนรับประทาน

คุณสุนทร จึงอธิบายให้พรรคพวกฟัง เขามีความเชื่อว่าทุกชนชาติในโลก ไม่มีใครอยากรับประทานอาหารซ้ำแบบเดิมตลอดเวลา คงต้องการ “เปลี่ยนอารมณ์” กันบ้าง ยกตัวอย่าง แต่ไหนแต่ไร คนจีนรับประทานไก่จิ้มแต่กับซีอิ๊ว เพราะไม่ชอบเผ็ด แต่ถ้าวันหนึ่งอยากเปลี่ยนรสชาติ จากไก่จิ้มซีอิ๊ว มาเป็นจิ้มกับน้ำจิ้มไก่ สินค้าของเขา คงเป็นที่ต้องการของคนจำนวนมากทันที

“ใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี กว่าที่คนจีนจะรู้จักน้ำจิ้มไก่ แต่ไม่เคยคิดถอดใจ เรื่องแบบนี้ เข้าทำนอง สองคนยลตามช่อง มองกันคนละมุม เพราะถ้าวันไหนคนจีนหันมาทานน้ำจิ้มไก่เมื่อไหร่ ผมก็รวยเมื่อนั้น และทุกวันนี้ พันท้ายฯ ส่งน้ำจิ้มไก่ ไปขายที่จีน ปีหนึ่งไม่รู้กี่ร้อยตู้คอนเทนเนอร์ แม้จะมีสินค้าของปลอมมาขายแข่งก็ตาม” คุณสุนทร บอกยิ้มๆ

เกี่ยวกับมูลค่าการซื้อขายทั้งในและต่างประเทศ ณ ปัจจุบัน เจ้าของผลิตภัณฑ์ เผยให้ฟัง ส่งออกปีหนึ่งถึงหลักพันล้านบาท สินค้าส่งออกที่ได้รับความนิยมเป็นอันดับหนึ่งคือ น้ำจิ้มไก่ รองลงมาคือ น้ำพริกเผา ส่วนสินค้าขายดีติดอันดับหนึ่งในประเทศคือ น้ำจิ้มสุกี้สูตรกวางตุ้ง รองลงมาคือ น้ำจิ้มกระทะร้อน น้ำพริกเผา และ น้ำจิ้มไก่

ทุกวันนี้ คงต้องยอมรับว่าที่ยืนในตลาดของ “พันท้ายนรสิงห์” อยู่บนจุดของความสำเร็จแล้ว แต่กว่าจะมาถึงได้นั้น คงไม่ใช่เรื่องง่าย เจ้าของเรื่องราว กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า ปัญหาอุปสรรคของคนทำธุรกิจ ล้วนแล้วต้องเจอะเจอแตกต่างกันไป แต่สิ่งหนึ่งที่ต้องพึงระลึกไว้เสมอคือ “อย่าท้อถอย”

“ที่ผ่านมาเจอมาเยอะ ทั้งวิกฤตค่าเงินบาท ลูกค้าโกงเป็นสิบล้าน แต่อย่าไปท้อ ล้มได้ก็ยืนใหม่ได้ ความบีบคั้นมันจะทำให้มีไฟต่อสู้ การล้มครั้งหนึ่งจะทำให้เราละเอียดรอบคอบขึ้น” คุณสุนทร บอกอย่างนั้น

ก่อนฝากแง่คิดสั้นๆ ไว้ สไตล์พ่อค้ารุ่นใหญ่ ใจนิ่ง ไว้ด้วยว่า

ปัญหามีไว้แก้ ไม่ได้มีไว้กลุ้ม