“อาลีบาบา”กับยอดขาย วันเดียว 1 ล้านล้านบาท!

“อาลีบาบา”กับยอดขาย วันเดียว 1 ล้านล้านบาท!

ยอดขายสินค้าออนไลน์ผ่านระบบออนไลน์บน “มาร์เก็ตเพลซ” หลากหลายแห่งของอาลีบาบา เมื่อวันที่ 11 พฤศจิกายนที่ผ่านมา รวมแล้ว 24 ชั่้วโมงอยู่ที่ 30,800 ล้านดอลลาร์ หรือ คิดเป็นเงินบาทได้ตัวเลขกลมๆ ราว 1 ล้านล้านบาท ทำลายสถิติเดิมลงได้อย่างงดงาม เพราะในเทศกาลช็อปปิ้ง “วันคนโสด” ของอาลีบาบา วันเดียวกันนี้เมื่อปีก่อน ยอดขายอยู่ที่ราว 25,300 ล้านดอลลาร์เท่านั้น

ตัวเลขที่ว่านี้แสดงให้เห็นว่า ยอดขาย ในเทศกาลเดียวกันนี้เติบโตขึ้น 27 เปอร์เซ็นต์ เมื่อเทียบกับยอดขายของ 24 ชั่วโมงเดียวกันเมื่อ 1 ปีก่อน
ประเด็นที่น่าสนใจก็คือ เมื่อเทียบกับเทศกาลช็อปแบบชั่วคราว 24 ชั่วโมงหรือกว่านั้นเล็กน้อยในสหรัฐอเมริกา โดยผู้ค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่อย่างอเมซอนแล้ว ดูห่างไกลกันมาก
ตัวอย่างเช่น ไพรม์เดย์ เซล ของอเมซอนเมื่อเดือนกรกฎาคมปีเดียวกันนี้ ซึ่งนับเป็นวันลดแลกแจกแถมครั้งใหญ่ที่สุดประจำปีของอเมซอน ยังสร้าง “รายได้” ให้กับยักษ์ใหญ่ค้าปลีกของสหรัฐอเมริกาได้แค่ราวๆ 4,000 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง
ทั้งๆที่ ยอดรายได้ดังกล่าว (ซึ่งเป็นการประเมินของบริษัทวิจัยภายนอก อเมซอนเองไม่เคยเปิดเผยตัวเลขรายได้ชัดเจนออกมา) คือรายได้จากการขายของราว 100 ล้านชิ้นให้กับประชาชนในประเทศต่างๆ 17 ประเทศทั่วโลกก็ตามที
เทศกาลขายของออนไลน์อีกเทศกาลที่เรียกว่าเทศกาลสุดสัปดาห์ “แบล็คฟรายเดย์” ที่กินเวลาต่อเนื่องกัน 4 วัน มีเว็บไซต์ค้าปลีกออนไลน์ 4,500 แห่งของสหรัฐอเมริการ่วมทำโปรโมชันพิเศษอยู่ในเทศกาลนี้ด้วย ก็ประเมินกันว่าน่าจะสร้างรายได้เพียงแค่ 14,050 ล้านดอลลาร์เท่านั้นเอง
เกือบครึ่งหนึ่งในจำนวน 14,050 ล้านดอลลาร์ที่ว่านี้ เกือบครึ่้ง คือราว 6,590 ล้านดอลลาร์ เกิดขึ้นจากยอดขายในวันจันทร์ซึ่งเป็น 1 ใน 4 วันของเทศกาลแบล็คฟรายเดย์ ที่เรียกกันว่า “ไซเบอร์ มันเดย์” อีกด้วย
 

ต่อให้เอาตัวเลขทั้งหมดมารวมเข้าด้วยกัน ก็จะได้ยอดรวมเพียง 20,000 ล้านดอลลาร์เศษๆ ยังห่างไกลอยู่มากมายนักจากยอดขาย 30,800 ล้านดอลลาร์ของอาลีบาบา

คำถามชวนคิดก็คือ ทำไมตัวเลขถึงได้ต่างกันมากมายถึงขนาดนั้น? ปั้นยอดขายให้ตื่นเต้นกันเล่นหรืออย่างไร?
อันที่จริง มีหลายสำนักข่าวพยายามจะอธิบายเรื่องนี้กัน ตัวอย่างเช่น บลูมเบิร์ก ที่ชี้ว่า ตัวเลขของอเมซอน กับอาลีบาบา นำมาเทียบเคียงกันตรงๆ ไม่ได้ เหตุเพราะตัวเลขหนึ่งเป็นมูลค่ารวมของสินค้า (จีเอ็มวี) ซึ่งไม่แน่นักว่า เอาเข้าจริงแล้วผู้ที่สั่งซื้อหรือสั่งจองสินค้าจะซื้อจริงๆ หรือไม่ ส่วนตัวเลขของอเมซอนเป็นตัวเลข “รายได้” ที่ได้รับจากการขายจริงๆ
ข้อที่น่าสังเกตอีกอย่างก็คือ อาลีบาบา ไม่ใช่แพลทฟอร์ม อีคอมเมิร์ซ โดยตรง แต่มีลักษณะเป็น “มาร์เก็ตเพลซ” หรือ “ตลาดกลางออนไลน์” ให้พ่อค้าแม่ขายนำของมาวางขายเสียมากกว่า ข้อมูลของอาลีบาบาเอง ระบุว่า ในระบบของอาลีบาบา มีผู้ค้าเข้ามาจำหน่ายสินค้าผ่านไปยังผู้บริโภคมากถึง 180,000 ราย

แดเนียล เลวิทาส รองประธานบริหารฝ่ายวิจัยของ แอพพ์ แอนนี ที่ติดตามและวิเคราะห์ข้อมูลตลาดแอพพลิเคชัน ให้เหตุผลถัดมา ไว้ว่า เป็นเพราะจำนวนคนชั้นกลาง ของจีนไม่เพียงมีมากกว่าในสหรัฐอเมริกามากเท่านั้น ส่วนใหญ่ยังเป็นคนในกลุ่ม “เทคฯเซวี” คือคุ้นเคยและนิยมเทคโนโลยีใหม่ๆ จน “ซื้อได้และขายเป็น” ผ่านโลกออนไลน์มากกว่าด้วย
ข้อเท็จจริงอีกอย่างก็คือปีนี้เป็นปีแรกที่อาลีบาบา ขยายเทศกาลวันคนโสดให้กว้างขวางออกไป ครอบคลุมทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ซึ่งหมายความว่า ยอดขายจากร้านจริงๆ ของอาลีบาบา ที่มีอยู่มากมายในจีน ตั้งแต่ร้านกาแฟ เรื่อยไปจนถึงซุปเปอร์มาร์เก็ต เฮมา ก็ถูกนับรวมเข้ามาไว้ด้วยเช่นกัน

แต่ทั้งหลายทั้งปวงนั้น ก็ใช่ว่าจะลดทอนความยิ่งใหญ่ของ อาลีบาบา ลงแต่อย่างใด ตรงกันข้ามข้อมูลหลายๆ อย่างแสดงให้เห็นความอัศจรรย์ ทั้งความอัศจรรย์ในแนวคิดของอาลีบาบา และความอัศจรรย์ของศักยภาพในการค้าปลีกออนไลน์
ไม่มีที่ไหนในโลกนี้อีกแล้วที่จะมีความสามารถขายชุดลิปสติก 3,700 ชุดได้ในเวลาเพียง 1 วินาที ต่อให้มายืนแจกฟรีกันกว่าจะครบ 3,700 ชุดก็ยังใช้เวลามากกว่านั้นแน่นอน แต่โลกออนไลน์ทำให้เป็นไปได้

แล้วอย่าลืมว่า อาลีบาบา เป็นคนต้นคิด ทำให้วันที่เคยเป็นเพียงแค่ เทศกาลอย่างไม่เป็นทางการ ของคนโสดในวันที่ 11 พฤศจิกายน ซึ่งเขียนเป็นตัวเลขได้เป็นเลข 1 ที่เป็นสัญลักษณ์ของความเดียวดายทั้งหมด ให้กลายเป็นวันทำรายได้มหาศาล ชนิดที่ทุกเว็บไซต์อีคอมเมิร์ซในจีนทุกรายต้องทำตาม

ข้อเท็จจริงอย่างเดียวที่ถือเป็นเรื่องในเชิงลบจาก “วันคนโสด” ของอาลีบาบาก็คือ ยอดขายรวมปีนี้โตขึ้นเพียง 27 เปอร์เซ็นต์ ลดลงจากการเติบโตเมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา ซึ่งขยายตัวจากยอดขายของเมื่อปี 2016 สูงถึง 39 เปอร์เซ็นต์
การเพิ่มขึ้นในอัตราที่ลดลงดังกล่าวสอดคล้องกับภาวะเศรษฐกิจจีนที่ชะลอลงอย่างชวนเป็นกังวลนั่นเอง

ชวนให้น่าติดตามว่า วันคนโสดปีหน้า “ยอดขาย” ของอาลีบาบาจะเป็นอย่างไรกัน!

ที่มา : มติชนออนไลน์