“ปตท.”ผุดโรงสีกาแฟชุมชน ตั้ง3เงื่อนไขบวกเพิ่มราคารับซื้อผลผลิต

ปตท.จ่อสร้างโรงสีกาแฟที่เชียงราย หลังเปิดโปรเจ็กต์วิสาหกิจเพื่อสังคม รับซื้อกาแฟจากชาวบ้านต่อยอดธุรกิจร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน บวกเพิ่มให้ทุก 1 บาท/กก. จาก 3 เงื่อนไขปลูกป่าเพิ่ม-ดูแลสิ่งแวดล้อม และชุมชนบริหารจัดการเอง

หลายองค์กรชั้นนำได้ใช้รูปแบบ social enterprise หรือ SE เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยนำหลักการบริหารที่ดีของภาคธุรกิจ ผนวกรวมเข้ากับความรู้และนวัตกรรมทางสังคม อย่างเช่น กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) รวม 7 บริษัทในเครือ ที่ประกอบไปด้วย บริษัท ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP บริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) หรือ TOP บริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC บริษัท ไออาร์พีซี จำกัด (มหาชน) และล่าสุด บริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ PTTOR จดทะเบียนตั้งบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ด้วยทุนเริ่มต้นกว่า 40 ล้านบาท เพื่อดูแลแก้ไขปัญหาสังคม ชุมชน และสิ่งแวดล้อม ให้กับพื้นที่เป้าหมาย

นางอัจฉริยา เจริญศักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อสังคม จำกัด ภายใต้กลุ่มบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) เปิดเผยกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายกาแฟกับชุมชนในพื้นที่จังหวัดเชียงราย เพื่อนำมาป้อนให้กับร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน ของ ปตท. โดยราคารับซื้อกาแฟของ ปตท. จะมีราคา “สูงกว่า” กาแฟที่จำหน่ายในตลาดทั่วไป ภายใต้ 3 เงื่อนไข คือ 1) ปลูกต้นไม้เพิ่มสลับกับต้นกาแฟ 2) ดูแลสิ่งแวดล้อมรอบพื้นที่ปลูกกาแฟ และ3) ชุมชนต้องทำหน้าที่บริหารเป็นหลักเพื่อความยั่งยืนในอนาคต โดยสัญญาซื้อขายไม่มีข้อผูกพันว่า ต้องขายกาแฟให้กับ ปตท.เท่านั้น เกษตรกรสามารถขายให้กับรายอื่น ๆ ที่สนใจได้ด้วย เพราะเป้าหมายของ ปตท.นอกจากต้องดูแลสังคม สิ่งแวดล้อมแล้ว ยังต้องการสร้างงาน สร้างอาชีพให้กับชุมชนด้วย

นอกจากนี้ ภายใต้บริษัท สานพลังฯ ยังเตรียมลงทุนสร้างโรงสีกาแฟ โดยให้ชุมชนเข้ามาร่วมลงทุนด้วย ซึ่งในระยะยาวหากชุมชนมีความพร้อมทางด้านการเงิน บริษัท สานพลังฯ ก็เปิดทางให้สามารถเข้ามาซื้อกิจการในส่วนที่บริษัท สานพลังฯ ถือหุ้นได้ ซึ่งรายได้ที่เข้ามาจะไม่นำกลับมาเป็นรายได้ แต่จะนำไปพัฒนาการลงทุนในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือในการสร้างอาชีพ หรือนำไปทำประโยชน์ด้านสาธารณกุศล เช่น การบริจาคต่อไป

“ก่อนหน้าที่จะเกิดความร่วมมือกับชุมชน ได้ลงมาศึกษาต้นทุนกาแฟเป็นอย่างไร เพื่อนำมาเป็นเกณฑ์ในการรับซื้อกาแฟจากชุมชนในราคาที่เป็นธรรม และเรายังได้พบปัญหาของชาวบ้านอีกก็คือ บางครั้งมีบริษัทมาสนับสนุนให้ชาวบ้านปลูกกาแฟ แต่เมื่อราคาตกต่ำก็ไม่ได้ช่วยเหลือเกษตรกร และยังรับซื้อในราคาต่ำ แต่สำหรับชุมชนที่ขายกาแฟให้กับ ปตท. เมื่อราคาตกต่ำ ปตท.ก็พร้อมเข้าไปช่วยเกษตรกร นอกจากนั้น ที่สำคัญคือเรื่องการปลูกกาแฟ ยังมีการมองว่าเป็นการบุกรุกป่า ฉะนั้น ควรคิดอะไรที่ตอบโจทย์มากกว่าการปลูกกาแฟเพียงอย่างเดียว ควรเพิ่มการปลูกต้นไม้เพื่อให้ร่มกับต้นกาแฟร่วมด้วย นอกจากนี้ เรื่องการใช้สารเคมีสำคัญมาก กำหนดเลยว่าจะไม่มีการใช้สารเคมีในการปลูกกาแฟ ชุมชนที่เข้าร่วมจะต้องมีความเข้มแข็ง ต้องรวมกลุ่มกัน แตกแยกกันก็อาจทำให้โครงการไม่ยั่งยืน”

นางอัจฉริยากล่าวเพิ่มเติมถึงการดำเนินงานของบริษัท สานพลังฯ ในปี 2562 ว่า จะเริ่มที่การลงทุนสร้างโรงสีกาแฟ กำลังผลิตเริ่มต้นประมาณ 100-200 ตัน ในขั้นตอนการสีกาแฟนั้น โดยปกติเกษตรกรผู้ปลูกกาแฟจะส่งกาแฟ ขั้นที่เรียกว่า “เชอรี่” หรือบางรายก็จะนำกาแฟไปแช่น้ำเพื่อขัดผิวกาแฟออกให้เหลือแค่ขั้นกะลา เมื่อกาแฟเข้าโรงสีก็เพื่อให้กาแฟกะลาเป็นสารกาแฟ และส่งต่อไปยังโรงคั่วของ ปตท. ที่อำเภอวังน้อย จังหวัดพระนครศรีอยุธยา นอกเหนือจากการได้ต่อยอดธุรกิจกาแฟของ ปตท.แล้ว ยังช่วยให้ ปตท.สามารถรักษาคุณภาพของกาแฟได้ตั้งแต่ต้นทางของการผลิตอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม สำหรับบริษัทในเครือ ปตท. ไม่ได้มีเพียง PTTOR ที่ดำเนินการดูแลสังคมและสิ่งแวดล้อมในรูปแบบ SE เท่านั้น ยังมีบริษัทอื่น ๆ ที่เตรียมดำเนินการเช่นกัน เช่น บริษัท พีทีที

โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ที่กำลังจัดทำโครงการรีไซเคิลพลาสติก เพราะเป็นประเด็นที่เกี่ยวข้องทางธุรกิจที่สามารถร่วมงานกับผู้ผลิตในหมวดเส้นใย สิ่งทอ รวมถึงบริษัท ไทยออยล์ จำกัด (มหาชน) ที่กำลังอยู่ในระหว่างพิจารณาโครงการที่จะทำร่วมกับประชาชนที่อยู่รอบโรงกลั่นน้ำมัน

รายงานข่าวเพิ่มเติมระบุว่า เมื่อเร็ว ๆ นี้ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) โดยบริษัท สานพลัง วิสาหกิจเพื่อชุมชน จำกัด ได้ลงนามการซื้อขายเมล็ดกาแฟกะลา ภายใต้กระบวนการปลูกและการผลิตกาแฟระบบอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ กับ 8 ชุมชนผู้ปลูกกาแฟ จังหวัดเชียงราย เช่น วิสาหกิจชุมชนกาแฟปางขอน บ้านห้วยหยวกป่าโซ บ้านห้วยหมาก และบ้านอาโต่ เป็นต้น นอกจากนี้ ปตท.ยังเข้ามาช่วยเหลือคนพิการ ที่ปัจจุบันมีจำนวนมากถึง 2 ล้านคน ซึ่งในจำนวนนี้มีเพียงแค่ 10% ที่มีงานทำ แต่ก็ไม่ได้สร้างความมั่นคงให้กับชีวิต ส่วนใหญ่จะขายสลากกินแบ่งรัฐบาล หรือขายของทั่วไป ฉะนั้น ปตท.จึงเข้ามาช่วยเหลือด้วยการเป็นบาริสต้าในร้านกาแฟคาเฟ่อเมซอน