ชาวบ้านอ่วม อาหาร-น้ำมันแพง ดันเงินเฟ้อพุ่ง 16 เดือนติด แต่ราคาสินค้าเกษตรยังคงลดลง

พาณิชย์เผยเงินเฟ้อเดือนต.ค.สูงต่อเนื่อง 16 เดือน ผลพวงอาหาร-เครื่องดื่ม-น้ำมันแพง ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงลดลง

อาหาร-น้ำมันแพง ดันเงินเฟ้อพุ่ง – น.ส.พิมพ์ชนก วอนขอพร ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป หรือ อัตราเงินเฟ้อ ในเดือนต.ค. 2561 ว่า อัตราเงินเฟ้อขยายตัวสูงขึ้น 1.23% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเป็นการขยายตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 16 จากการสูงขึ้น หมวดอาหารและเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ สูงขึ้น 0.26% จากการสูงขึ้นของข้าวแป้ง และผลิตภัณฑ์จากแป้ง 4.87% ข้าวสารเจ้า ขนมอบ ขนมปังปอนด์ อาหารบริโภค-ในบ้าน 0.94% และอาหารบริโภค-นอกบ้าน 2.15% ข้าวราดแกง อาหารเช้า อาหารตามสั่ง เครื่องประกอบอาหาร 2.06% เครื่องปรุงรส น้ำพริกแกง ซอสพริก เครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ 1.77% (กาแฟ และชาสำเร็จรูปพร้อมดื่ม) ไข่และผลิตภัณฑ์นม สูงขึ้น 0.73 % (นมผง นมสด นมเปรี้ยว) เนื้อสัตว์ เป็ดไก่และสัตว์น้ำ 0.21% (ปลาทู ปลาหมึกกล้วย)

ขณะที่ผักและผลไม้ ลดลง 8.33% โดยผักสดลดลง 12.26% (ผักชี ผักคะน้า พริกสด) ผลไม้สด ลดลง 3.75% (เงาะ มะม่วง ส้มเขียวหวาน) เป็นช่วงฤดูกาลผลไม้หลายชนิดเข้าตลาด ปริมาณมาก หมวดอื่นๆ ไม่ใช่อาหารและเครื่องดื่ม สูงขึ้น 1.79% ตามการสูงขึ้นของหมวดพาหนะการขนส่ง และการสื่อสาร 3.89% โดยเฉพาะน้ำมันเชื้อเพลิง สูงขึ้นถึง 11.98% จากการสูงขึ้นของน้ำมันเชื้อเพลิงทุกประเภท และค่าโดยสารสาธารณะ 0.66% ค่าโดยสารรถประจำทาง หมวดเคหสถาน สูงขึ้น 0.59%

ทั้งนี้ การที่เงินเฟ้อเพิ่มขึ้นต่อเนื่องก็ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ขยายตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 1.15% โดยได้รับอิทธิพลจากการเพิ่มขึ้นของราคาพลังงาน อาหาร และเครื่องดื่มเป็นสำคัญ โดยราคาอาหารและเครื่องดื่มที่เพิ่มขึ้นส่วนใหญ่อยู่ในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล แต่ในภาพรวมทั้งประเทศ ราคายังไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก ส่วนน้ำมันเชื้อเพลิงราคาเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาสินค้าเกษตรยังคงลดลง ทำให้คาดว่าเงินเฟ้อในช่วงที่เหลือของปีจะยังคงเพิ่มขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป และอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีคาดว่าจะอยู่ 1.25% หรือเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบที่คาดการณ์ไว้ที่ 0.8-1.6%