ผู้เขียน | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
ปัจจุบันในการดูแลสัตว์เลี้ยงทั้งสุนัขและแมว ได้รับความเอาใจใส่จากเจ้าของสัตว์เลี้ยงดีมากขึ้นกว่าการเลี้ยงสัตว์ในสมัยก่อนๆ เพราะเจ้าของสัตว์สามารถหาความรู้เรื่องการเลี้ยง ความรู้เกี่ยวกับโรคต่างๆ ได้ง่ายขึ้น โดยเฉพาะการหาข้อมูลจากทางอินเตอร์เน็ต และอาหารการกินของสัตว์เลี้ยงก็ได้รับการดูแลเอาใจใส่มากขึ้นด้วย
แต่โรคภัยไข้เจ็บก็สามารถเกิดขึ้นได้จากหลายๆ สาเหตุนะคะ เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่า สุนัขและแมวก็มีโอกาสเจ็บไข้ได้ป่วยบ้าง ไม่มากก็น้อย
งั้นฉบับนี้หมอขอให้ข้อมูลถึง 5 โรคฮิตที่พบได้บ่อยในคลินิกที่เจ้าของมักจะพาสัตว์เลี้ยงมาหาสัตวแพทย์กันนะคะ ได้แก่ โรคอ้วน โรคระบบทางเดินอาหาร โรคผิวหนัง โรคไต และโรคนิ่ว เพื่อความเข้าใจเกี่ยวกับสาเหตุ การดูแล และการป้องกันโรค เพื่อให้สัตว์เลี้ยงที่เรารักมีคุณภาพชีวิตที่ดี และได้อยู่กับเราไปนานๆ นะคะ
โรคอ้วน
ปัจจุบันสุนัขและแมวที่เลี้ยงภายในบ้านกำลังพบกับโรคอ้วนกันมากขึ้น หมอว่าเจ้าของหลายๆ คนต้องคิดแบบหมอคือ เราชอบกอด ฟัด และเล่นกับสัตว์เลี้ยงของเราที่อ้วนๆ กลมๆ น่าฟัดมากๆ จริงมั้ยคะ แต่…เราคงต้องคิดกันใหม่ว่า เราจะให้สัตว์เลี้ยงของเราอ้วนไม่ได้นะคะ เพราะความอ้วนมันจะนำพาอีกหลายโรคมาสู่สัตว์เลี้ยงที่เรารัก
สาเหตุ
มักเกิดขึ้นจากการให้อาหารโดยไม่มีการชั่งตวง มีขนมกินเล่นเพิ่มเติมจากมื้ออาหารปกติ ประกอบกับภาวะของร่างกาย เช่น กรรมพันธุ์ อายุที่มากขึ้น และการทำหมันก็เป็นปัจจัยเสริมของโรคอ้วนได้
โดยการมีน้ำหนักที่มากเกินไป ยังเป็นสาเหตุของปัญหาสุขภาพต่างๆ เช่น โรคกระดูกและข้อ โรคเบาหวาน โรคหัวใจ เป็นต้น
– แมวที่มีน้ำหนัก 4 กิโลกรัม ถ้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม จะเทียบเท่ากับคนที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 16 กิโลกรัม
– สุนัขที่มีน้ำหนัก 10 กิโลกรัม ถ้ามีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม จะเทียบเท่ากับคนที่มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 7 กิโลกรัม
ซึ่งเป็นการเปรียบเทียบที่เห็นภาพได้ชัดว่า สุนัขและแมวที่อ้วนขึ้นนั้นไม่ใช่เรื่องที่น่ายินดีเลยแม้แต่น้อยนะคะ
การดูแลและป้องกัน
- การควบคุมอาหาร โดยคำนึงถึงอาหารตามปริมาณที่แนะนำต่อวัน โดยการชั่งตวงหรือใช้ถ้วยตวง ซึ่งมันเป็นวิธีที่ง่ายและเหมาะสมที่สุด
- หลีกเลี่ยงการให้อาหาร หรือขนมอื่นๆ เพิ่มเติม
- ควรพาสัตว์เลี้ยงออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หากสุนัขและแมวมีน้ำหนักเกินมาตรฐาน เจ้าของควรพาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อเข้าโปรแกรมควบคุมน้ำหนัก โดยควบคุมอาหารที่กิน ตามที่สัตวแพทย์แนะนำ
โรคระบบทางเดินอาหาร
โรคระบบทางเดินอาหารนั้นพบได้ทั้งในสุนัขและแมว เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ เช่น การขาดเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหาร การแพ้อาหาร ปรสิตในทางเดินอาหาร การกินอาหารที่ไม่เหมาะสม หรือการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียในทางเดินอาหาร
สัญญาณของโรคที่พบได้บ่อย
– ลมหายใจมีกลิ่นเหม็น
– กินอาหารน้อยลง เบื่ออาหาร น้ำหนักลดลง
– อาเจียน หรือสำรอกอาหาร
– ปวดเบ่ง เกร็งช่องท้อง
– ท้องอืด ท้องร้อง ท้องเสีย ท้องผูก
สาเหตุ
ส่วนใหญ่ของโรคทางเดินอาหารผิดปกติ มักเกิดจาก
– การติดเชื้อไวรัส หรือแบคทีเรีย
– การขาดสารอาหาร
– การผ่าตัดทางเดินอาหาร
– ภูมิแพ้อาหาร
การดูแลและการป้องกัน
หากสัตว์เลี้ยงของท่านมีอาการดังกล่าวข้างต้น ควรรีบปรึกษาสัตวแพทย์ เนื่องจากความผิดปกติของโรคระบบทางเดินอาหาร จะทำให้สุนัขและแมวได้รับสารอาหารที่สำคัญไม่ครบถ้วน หรือน้อยกว่าความต้องการในแต่ละวันของพวกเขา
และเพื่อให้การวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น จำเป็นต้องตรวจเลือดและอุจจาระ นอกจากนี้ การให้อาหารที่เหมาะสม จะช่วยให้การย่อยและการดูดซึมดีขึ้น ซึ่งส่งผลให้ระบบทางเดินอาหารทำงานหนักน้อยลง สุนัขและแมวก็จะฟื้นตัวได้เร็วยิ่งขึ้นด้วยค่ะ
โรคผิวหนัง
โรคผิวหนังเป็นโรคที่พบได้บ่อยในสุนัขและแมว แม้จะไม่เป็นอันตรายรุนแรงถึงแก่ชีวิต แต่ก็สร้างความวิตกกังวลให้เรา และยังทำความรำคาญให้กับสุนัขและแมวอีกด้วย สัตว์เลี้ยงที่มีปัญหาผิวหนังจะแสดงอาการต่างๆ กันออกไป เช่น คัน เกา ผิวหนังแดงอักเสบ มีสะเก็ดรังแค ขนร่วง เป็นตุ่ม มีผื่น เป็นต้น
สาเหตุ
สาเหตุของโรคผิวหนังเกิดได้จากหลายอย่างนะคะ ไม่ว่าจะจากพวกปรสิตภายนอก เช่น เห็บ หมัด ไร ไรขี้เรื้อน ภาวะภูมิแพ้อาหาร หรือความผิดปกติของฮอร์โมนบางชนิดของร่างกาย ภาวะการแพ้จากสภาพแวดล้อม แพ้อากาศ หรือแม้แต่ภูมิแพ้ตัวเองก็ได้นะคะ
สัญญาณของโรคผิวหนัง
– คัน เกา
– ผิวหนังแดงอักเสบ
– มีสะเก็ด ผิวหนังหลุดลอก
– มีตุ่มหนองตามตัว
– ขนร่วง
การดูแลและป้องกัน
เบื้องต้นทำได้โดย
- การให้อาหารที่เหมาะสม รวมถึงการดูแลร่างกายและสิ่งแวดล้อมให้สะอาด เช่น ความถี่ในการอาบน้ำ
- การเลือกใช้แชมพู การแปรงขน และชนิดของหวี ล้วนแต่มีความสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแรงให้ชั้นผิวหนัง และลดโอกาสที่จะเกิดความผิดปกติของผิวหนังหรือเส้นขน ทำให้ผิวหนังของสุนัขและแมวมีสุขภาพผิวหนังที่แข็งแรง และขนนุ่มสวย อีกทั้งยังเป็นเกราะป้องกันผิวหนังอีกด้วย
- แต่หากสุนัขและแมวมีอาการข้างต้น เจ้าของก็ควรพาไปพบสัตวแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แท้จริงของโรคผิวหนังที่เป็นอยู่ และได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี
โรคไต
ไตเป็นอวัยวะที่สำคัญ ที่ต้องทำงานตลอดเวลา เพราะทำหน้าที่กรองของเสียออกจากร่างกายทิ้ง เพื่อให้ร่างกายรักษาสมดุลต่างๆ ได้ ทั้งความเป็นกรด-ด่างของร่างกาย ปริมาณน้ำในร่างกาย มีส่วนช่วยควบคุมความดันโลหิต และยังสร้างฮอร์โมนที่จำเป็นอีกด้วย
เจ้าของหลายคนมักเข้าใจผิดว่าอาหารสำเร็จรูปเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้สุนัขและแมวเป็นโรคไต แต่ในความเป็นจริงนั้น โรคไตเกิดได้จากหลายปัจจัยด้วยกัน เช่น
– อายุ สุนัขและแมวที่มีอายุมากขึ้นมีความเสี่ยงมากกว่าสุนัขและแมวที่มีอายุน้อย
– โรคบางชนิด เช่น โรคหัวใจ ภาวะความดันโลหิตสูง โรคเบาหวาน หรือนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
– สายพันธุ์ ที่มีแนวโน้มการเกิดความผิดปกติของไตตั้งแต่กำเนิด ในสุนัข เช่น ชิสุ มิเนียเจอร์ ชเนาเซอร์ ในแมว เช่น อะบิสซิเนียน และเปอร์เซีย
– พฤติกรรม ที่เสี่ยงต่อการเกิดโรค เช่น การกินน้ำน้อย หรือชอบเลียกินน้ำไม่เลือกที่ตามพื้นที่ที่มีสารเคมี น้ำในกระถางต้นไม้ที่ใส่ปุ๋ย หรือการที่พวกเขาอาศัยอยู่ในบริเวณที่ใช้ยาฆ่าแมลง โดยสารเหล่านี้ล้วนเป็นพิษต่อไต
โรคไตเป็นอีกโรคที่สังเกตไม่ได้ด้วยตาเปล่า สุนัขและแมวจะไม่แสดงอาการเลยจนกว่าไตจะเกิดความเสียหายมากกว่า 75 เปอร์เซ็นต์ขึ้นไป
โรคไตแบ่งได้เป็นหลายระยะ ตามความรุนแรงของโรค โดยส่วนมากสัตวแพทย์มักจะได้ทำการตรวจรักษาในระยะท้ายๆ แล้ว เนื่องจากในระยะแรก สุนัขและแมว จะไม่ค่อยแสดงอาการ โดยเฉพาะในแมว แต่สามารถตรวจค่าเลือดเพื่อหาความผิดปกติได้ตั้งแต่เริ่มเป็นโรค
สัญญาณของโรค
– ซึม เบื่ออาหาร
– อาเจียน ท้องเสีย เป็นแผลในช่องปาก มีกลิ่นปากแรง
– ดื่มน้ำเยอะและปัสสาวะบ่อย หรือไม่ปัสสาวะเลยในรายที่เป็นโรครุนแรง
– อาจมีอาการชักในระยะที่รุนแรงขึ้น
การดูแลและป้องกันโรค
- อาหารที่เหมาะสมสามารถช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดโรคได้ เช่น การเลือกอาหารที่เหมาะสมกับช่วงอายุ เพราะในสุนัขและแมวสูงวัย จำเป็นต้องควบคุมแร่ธาตุที่สำคัญบางชนิด เช่น ฟอสฟอรัสและโซเดียม ที่สำคัญคือ ได้รับปริมาณโปรตีนที่เหมาะสม โดยควรเป็นโปรตีนที่ย่อยและดูดซึมง่าย เพื่อลดการทำงานหนักของไต
- การปรับพฤติกรรมการกินน้ำของสุนัขและแมว โดยวางภาชนะใส่น้ำไว้หลายๆ ที่ในบ้าน แต่หากพบสัญญาณของโรคดังกล่าวข้างต้น ควรรีบพาพวกเขาไปพบสัตวแพทย์ เพื่อรับการวินิจฉัยและหาสาเหตุ เพื่อให้สุนัขและแมวได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา
- การตรวจเลือดและตรวจปัสสาวะในสุนัขและแมว เพื่อตรวจสุขภาพและตรวจดูความเสียหายของไต ดูภาวะโลหิตจางที่มักเกิดตามมา นอกจากนั้นการเอกซเรย์และอัลตราซาวนด์เพิ่มเติม ก็สามารถช่วยวินิจฉัยโรคให้แม่นยำมากขึ้นด้วย
การรักษา
การรักษานั้น มักเป็นไปตามอาการ เช่น
- การให้สารน้ำ เพื่อรักษาความดันเลือดและกำจัดของเสียที่อาจสะสมในกระแสเลือด
- การให้ยา ยาลดอาการอาเจียน หรือยาบำรุงเลือด
- การเปลี่ยนอาหาร ให้เหมาะสมกับสุนัขและแมวที่เป็นโรคไตมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพื่อลดการทำงานหนักของไต บรรเทาอาการและยืดอายุของสุนัขและแมวป่วยให้ยืนยาวขึ้น
โรคนิ่ว
นิ่วเกิดจากแร่ธาตุและสารอาหารบางชนิดจับตัวเป็นก้อนในระบบทางเดินปัสสาวะ เช่น แคลเซียม แมกนีเซียม ฟอสฟอรัส ฯลฯ หรืออาจเกิดจากพันธุกรรม โดยพบได้ง่ายในปัสสาวะที่มีความเข้มข้นสูง และขังอยู่ในกระเพาะปัสสาวะเป็นเวลานานจนเกิดการตกตะกอนของสารก่อนิ่ว สะสมตัวเป็นก้อนนิ่วขนาดเล็กและเพิ่มขนาดใหญ่ขึ้นตามลำดับ ซึ่งพบได้บ่อยในแมวและสุนัขพันธุ์เล็ก
จากการสำรวจพบว่ามีอัตราการเกิดนิ่วในกระเพาะปัสสาวะสูงขึ้น โดยเฉพาะประเทศที่มีการเลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด อย่างเช่นประเทศไทย ที่เจ้าของมักให้อาหาร ขนมขบเคี้ยว และวิตามินต่างๆ ที่มากขึ้น ซึ่งเป็นการให้ที่มากเกินความต้องการของสุนัขและแมว ประกอบกับพฤติกรรมการกินน้ำน้อย และการกลั้นปัสสาวะของสุนัขและแมว ล้วนเป็นความเสี่ยงของการเกิดนิ่ว
สัญญาณของโรค
– ปวดเบ่งปัสสาวะ
– นั่งปัสสาวะนานกว่าปกติ
– ปัสสาวะกะปริดกะปรอย
– ปัสสาวะมีเลือดปนหรือมีกลิ่นฉุน
– ส่งเสียงร้องเวลาปัสสาวะ
– เลียอวัยวะเพศ
การดูแลและป้องกัน
- ควรหลีกเลี่ยงสาเหตุที่ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระเพาะปัสสาวะและในทางเดินปัสสาวะ เช่น การเปลี่ยนทรายหรือที่รองปัสสาวะสม่ำเสมอ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในแมว ควรมีจำนวนกระบะทรายเพียงพอ ควรมีการเพิ่มจุดวางน้ำที่สะอาดและใช้ภาชนะที่เหมาะสม
- งดขนมและอาหารปรุงเอง
- หากพบสัญญาณของโรคดังกล่าวข้างต้น ควรรีบไปพบสัตวแพทย์เพื่อทำการวินิจฉัยเพิ่มเติม เช่น ตรวจปัสสาวะ ตรวจเลือด เอกซเรย์ และตรวจวิเคราะห์ชนิดของนิ่วในห้องปฏิบัติการ
การรักษา
สำหรับการรักษามักพิจารณาตามชนิดและขนาดของนิ่ว เช่น การผ่าตัด สวนท่อปัสสาวะ ให้ยาปฏิชีวนะร่วมกับยาชนิดอื่น เพื่อรักษาร่วมกับการให้อาหารสูตรละลายนิ่ว (นิ่วสตรูไวต์หรือนิ่วเม็ดทราย) และลดโอกาสการกลับมาเป็นโรคนิ่วซ้ำอีก