เศรษฐกิจโลกอ่อนแอ มองส่งออกปีหน้าขยายตัวไม่ถึง 1% (คลิป)

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย กล่าวในงานสัมมนา The wisdom wealth avenue : investor’s next move รู้รอบทิศ พิชิตการลงทุน ว่า แนวโน้มประเทศเศรษฐกิจหลัก ยังอยู่ในภาวะอ่อนแอ ทั้งยุโรป จีน และญี่ปุ่น มีเพียงสหรัฐฯ ที่ค่อย ๆ ฟื้นตัว ส่งผลต่อภาคส่งออกไทยปีนี้ หดตัว 2.5% และปี 60 ขยายตัวไม่ถึง 1% เศรษฐกิจไทยยังต้องฝากความหวังไว้กับการลงทุนภาครัฐ จะช่วยสร้างความมั่นใจให้ภาคเอกชนลงทุน ประเมินจีดีพีทั้งปีนี้และปีหน้า ขยายตัวได้ 3.3% ขณะที่ตลาดการเงินยังคงผันผวน จากกรณีของดอยซ์แบงก์ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยของเฟด แต่ไม่กระทบกับภาคการเงินของไทยมากนัก โดยประเมินว่าเฟดมีโอกาสขยับอัตราดอกเบี้ยขึ้น 1 ครึ้งในปีนี้ และ 1 ถึง 2 ครั้งในปีหน้า ส่วนอัตราดอกเบี้ยของไทย คาดว่า กนง. จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายตลอดปีนี้ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวต่อเนื่อง
.
ด้านนายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า หากเฟดมีการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ค่าเงินบาทที่อ่อนค่าลงจะผลดีกับการส่งออกของไทย แต่สิ่งที่น่าเป็นห่วงคือ เศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มชะลอตัว ขณะที่พฤติกรรมการบริโภค มีการเลือกสินค้าที่มีความเฉพาะเจาะจงมากขึ้น ผู้ประกอบการไทยควรปรับตัว พัฒนาตัวสินค้าและบรรจุภัณฑ์ ให้ตรงกับความต้องการของตลาดจีนให้มากขึ้น

นอกจากนี้ยังต้องจับตาปัญหาการก่อการร้าย เพราะจะมีผลกระทบรุนแรงกับภาคการท่องเที่ยว โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวปลายปีนี้ เพราะหากเกิดความวุ่นวาย อาจกระทบกับบรรยากาศการท่องเที่ยวไตรมาส 4 ของปีนี้ ต่อเนื่องจนถึงปีหน้า

ด้านนายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกรรมการหอการค้าไทย และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย มองว่าจีนยังคงเป็นตลาดส่งออกที่สำคัญของไทย เนื่องจากสัดส่วนการส่งออกของไทยไปจีนสูงกว่าประเทศอื่น อย่างไรก็ตาม อยากให้ผู้ประกอบการไทยปรับตัว ออกไปลงทุนต่างประเทศมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่ม CLMV เนื่องจากมีขนาดตลาดที่ใหญ่ แม้ในช่วงแรกอาจมีอุปสรรคบ้าง แต่เชื่อว่าเอกชนไทยจะได้ประสบการณ์ และบุกตลาดต่างประเทศได้ในอนาคต

ด้านนายทองมา วิจิตรพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการบริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บริษัท พฤกษา เรียลเอสเตท มองว่า ภาคอสังหาริมทรัพย์ยังเติบโตได้ต่อเนื่อง เพราะขึ้นอยู่กับความต้องการภายในประเทศเป็นหลัก โดยเฉพาะตลาดอสังหาฯ ในพื้นที่กรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่คาดว่าจะยังขยายตัวต่อเนื่องไปอีก 7 ถึง 10 ปี เนื่องจากจำนวนประชากรในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ที่มีอยู่กว่า 16 ล้านคน ขณะที่การขยายการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานภาครับ เป็นตัวสนับสนุนการขยายตัวของภาคอสังหาริมทรัพย์