รักเหมียว ห่วงตูบ อย่าให้กิน “พาราเซตามอล”

ยาสามัญประจำบ้านของคน ที่ทุกๆ บ้านต้องมีติดไว้ก็คงหนีไม่พ้นยาแก้ปวด ลดไข้ ที่ชื่อ พาราเซตามอล หรือ อะเซตามิโนเฟน ท่านผู้อ่านทุกท่านคงรู้จักและได้ใช้ยาตัวนี้กันแทบทุกคนอยู่แล้วจริงมั้ยคะ

บางท่านที่เลี้ยงสัตว์เลี้ยง อาจจะเคยนำยาตัวนี้ไปใช้ลดไข้ แก้ปวดในสุนัขของท่านกันบ้างแล้วแน่ๆ แต่หมอว่าหลายท่านต้องไม่ทราบถึงอันตรายและความเป็นพิษของพาราเซตามอลต่อสุนัขและแมวใช่มั้ยคะ เพราะในคลินิกบรรดาสัตวแพทย์ก็จะได้รักษาสุนัขและแมวที่มีอาการผิดปกติเพราะพิษจากพาราเซตามอลกันมาแล้วหลายเคส

งั้นฉบับนี้มารู้จักอันตรายของพาราเซตามอลต่อสุนัขและแมวกันดีกว่านะคะ

สำหรับพาราเซตามอล (paracetamol) หรือ อะเซตามิโนเฟน (acetaminophen) เป็นยาระงับปวดและลดไข้ที่ถูกนำมาใช้ในทางการแพทย์ พาราเซตามอลเป็นยาที่ใช้กันอย่างกว้างขวางในคน เนื่องจากพาราเซตามอลนั้นมีข้อดีกว่าแอสไพรินตรงที่ไม่ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อเยื่อบุกระเพาะ และไม่มีผลต่อการเกาะตัวของเกล็ดเลือด จึงไม่ทำให้เกิดแผลหลุมในกระเพาะและไม่ทำให้การแข็งตัวของเลือดเสียไป แต่อย่างไรก็ตาม พาราเซตามอลไม่มีผลในการลดอักเสบเหมือนแอสไพริน ดังนั้น จึงไม่สามารถใช้ในการลดการอักเสบของระบบกระดูกและกล้ามเนื้อหรือข้ออักเสบได้

ในปัจจุบันพาราเซตามอลนั้น เป็นหนึ่งในยาสามัญประจำบ้านที่เราสามารถหาซื้อได้ทั่วไปโดยไม่จำเป็นต้องใช้ใบสั่งแพทย์ ทำให้คนนิยมใช้ในการรักษาอาการต่างๆ เพราะง่ายต่อการหยิบมาใช้และส่วนใหญ่มักมีความคิดว่าเป็นยาที่ไม่ก่อให้เกิดอันตราย ซึ่งความเข้าใจนี้อาจเป็นจริงถ้าใช้พาราเซตามอลกับคนและใช้ในขนาดที่แพทย์แนะนำเท่านั้น แต่ถ้าหากนำมาใช้ในสัตว์เลี้ยงอาจก่อให้เกิดอันตรายได้ เพราะในสัตว์นั้นจะไวต่อความเป็นพิษจากพาราเซตามอล ยามีหลายรูปแบบ ได้แก่ ยากินชนิดเม็ด ยาน้ำเชื่อม และยาฉีด

ในสุนัข

ขนาดของพาราเซตามอลเพื่อลดปวดลดไข้ในสุนัข คือ ขนาด 10 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ให้กินทุก 12 ชั่วโมง ในสุนัขจะเกิดความเป็นพิษเมื่อได้รับขนาด 200 มิลลิกรัม ต่อกิโลกรัม ขึ้นไป เมื่อสุนัขได้รับพาราเซตามอลในขนาดที่สูง จะเกิดอาการของความเป็นพิษ ซึ่งเป็นอาการที่บ่งชี้ถึงภาวะที่เซลล์ตับถูกทำลาย อาการที่พบคือ อาเจียน เบื่ออาหาร หัวใจเต้นเร็ว หายใจเร็ว อาจปวดท้อง และมีดีซ่าน อาจมีเยื่อเมือกคล้ำ มีเลือดปนในปัสสาวะ ใบหน้า และฝ่าเท้าบวม

ในแมว

แมวจะไวต่อความเป็นพิษของพาราเซตามอลได้มากกว่าสุนัข โดยขนาดยาเพียง 45-55 มิลลิกรัม ต่อน้ำหนักตัว 1 กิโลกรัม ก็สามารถทำให้เกิดความเป็นพิษได้ จึงไม่แนะนำให้ใช้ยาตัวนี้ในแมว (พาราเซตามอล 1 เม็ด ขนาดเท่ากับ 500 มิลลิกรัม) เนื่องจากในแมวนั้นขาดเอนไซม์ที่ใช้เปลี่ยนแปลงยาทำให้ยาเกิดความเป็นพิษขึ้น โดยจะมีความเป็นพิษร้ายแรงต่อไต ตับ ระบบทางเดินอาหาร และระบบเลือด โดยเม็ดเลือดแดงของแมวนั้นไวต่อการถูกทำลาย ทำให้ไม่สามารถขนส่งออกซิเจน ส่งผลให้แมวเสียชีวิตได้ อาการที่แสดงความเป็นพิษจะเกิดขึ้นภายใน 4-12 ชั่วโมงหลังจากได้รับยา โดยอาการที่อาจพบได้ในระยะเริ่มแรก คือ น้ำลายฟูมปาก อาเจียน ซึม หายใจลำบาก เหงือกมีสีคล้ำ อุ้งมือบวม อุ้งเท้าบวม หน้าบวม และเบื่ออาหาร อาการทั้งหลายเหล่านี้จะแสดงหลังได้รับยาเพียง 1-2 ชั่วโมง หลังจากนั้นตับอาจเสียหาย เริ่มสังเกตเห็นอาการดีซ่าน ชัก โคม่า และเสียชีวิตได้ภายใน 18-36 ชั่วโมง

การรักษา

จะมุ่งเน้นที่การป้องกันไม่ให้ยาถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกาย ให้การรักษาพยุงชีพ และให้ยาแก้พิษเฉพาะ หากเป็นกรณีเฉียบพลัน เจ้าของควรนำสัตว์เลี้ยงมาพบสัตวแพทย์ภายใน 4 ชั่วโมงหลังได้รับพาราเซตามอล หรืออาจช่วยปฐมพยาบาลเบื้องต้นก่อน โดยถ้าสัตว์เลี้ยงได้รับยาเข้าไปไม่เกิน 2 ชั่วโมง ให้เราใช้วิธีทำให้สัตว์เลี้ยงอาเจียนด้วยการป้อนเกลือแกงประมาณ 1-2 ช้อนโต๊ะ หรือป้อนผงถ่าน หรือ actived charcoal เพื่อช่วยในการดูดซึม

การรักษาพยุงชีพ ได้แก่ การให้สารน้ำเข้าหลอดเลือด การให้ออกซิเจน ถ้าเลือดจางรุนแรงอาจจำเป็นต้องให้เลือดหรือสารทดแทนเลือด

สำหรับการดูแลอื่นๆ ควรระวังเรื่องภาวะขาดน้ำ และอุณหภูมิของร่างกาย ควรใช้แผ่นความร้อนเพื่อให้สัตว์อบอุ่นตลอดเวลา (ทั้งนี้ ควรตรวจสอบอุณหภูมิร่างกายของสัตว์เป็นระยะๆ ด้วย เพื่อป้องกันไม่ให้อุณหภูมิร่างกายสูงมากเกินไป)

จะเห็นได้ว่า การให้พาราเซตามอลแก่สุนัขและแมวนั้น นอกจากจะไม่ช่วยให้อาการตัวร้อน มีไข้ ดีขึ้นแล้ว ยังอาจเกิดภาวะแพ้พิษจากพาราเซตามอลได้ โดยความเป็นพิษของพาราเซตามอลในสุนัขจะเกิดที่ตับ สำหรับแมวจะเกิดที่เซลล์เม็ดเลือดแดงเป็นหลัก

เพราะฉะนั้น ก่อนจะให้ยาอะไรก็ตาม ควรให้ยาตามที่สัตวแพทย์สั่ง และปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด เพียงเท่านี้ ก็ช่วยให้สัตว์เลี้ยงของเราลดความเสี่ยงของการเกิดพิษจากยาต่างๆ ได้นะคะ