“ยกโรงงานสู่โรงเรียน” ฝึกปฏิบัติงานร่วมกับหุ่นยนต์ สร้างโอกาสอาชีวะไทย

“ยกโรงงานสู่โรงเรียน” สร้างโอกาสอาชีวะไทย ฝึกปฏิบัติงานร่วมกับหุ่นยนต์

สำนักงานคณะกรรมการอาชีวศึกษา (สอศ.) ร่วมกับ เชฟรอนฯ สร้างโอกาสอาชีวะไทย เรียนรู้เทคโนโลยียุคใหม่ “หุ่นยนต์อุตสาหกรรม” ในโปรเจ็กต์ “ยกโรงงานสู่โรงเรียน” ตอบโจทย์ เรียนจบใช้ได้จริง สร้างแรงงานยุคใหม่รองรับอุตสาหกรรม S-Curve  

พล.อ. สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ, คุณอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด, ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา, คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย และคณะ

พลเอก สุทัศน์ กาญจนานนท์กุล ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า ในปัจจุบัน รัฐบาลมุ่งให้ความสำคัญในการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 เพื่อผลักดันระบบเศรษฐกิจให้ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม โดยเฉพาะกลุ่มในอุตสาหกรรมเป้าหมาย (S-Curve) จึงได้วางแผนผลิต “ช่างเทคนิค” ให้ตอบรับกับนโยบายทั้งในเชิงคุณภาพและปริมาณ รวมถึงผลักดันและกระตุ้นความสนใจการศึกษาด้านอาชีวะมากขึ้น

คุณอาทิตย์ กริชพิพรรธ ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าว “ทางเชฟรอนเล็งเห็นถึงความสำคัญของการพัฒนาช่างเทคนิคให้มีทักษะตรงความต้องการภาคอุตสาหกรรมที่มุ่งสู่ยุค 4.0 ซึ่งมีการนำหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติเข้ามาทำงานในโรงงานอุตสาหกรรมมากขึ้น

โดยสนับสนุนหุ่นยนต์ ABB IRB 120 จากประเทศสวีเดน พร้อมหลักสูตรอบรมทั้งหมด 27 ชุด เป็นอุปกรณ์การเรียนรู้จำลองมาตรฐานเดียวกับโรงงานในกลุ่ม S-Curve มูลค่า 30 ล้านบาท เพื่อให้นักศึกษาฝึกฝนทักษะการใช้งานหุ่นยนต์แขนกล และการใช้โปรแกรมจำลองเสมือนอยู่ในโรงงานจริง

พร้อมพัฒนาแผนการสอนวิชาหุ่นยนต์ในงานอุตสาหกรรมและระบบการผลิตอัตโนมัติที่สอดคล้องกับหลักสูตรของ สอศ. เพื่อให้ครูอาชีวะสามารถนำไปปรับใช้ในการสอน

ด้าน ดร.สาโรจน์ ขอจ่วนเตี๋ยว ที่ปรึกษาด้านมาตรฐานอาชีวศึกษาช่างอุตสาหกรรม สำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า “ความต้องการแรงงานช่างเทคนิค และช่างสายสนับสนุนที่มีทักษะในกลุ่มแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์มีแนวโน้มที่สูงขึ้น

แต่ปัจจุบันมีสถาบันอาชีวศึกษาเพียงส่วนน้อยที่มีหุ่นยนต์  หรือ แขนกลสำหรับฝึกสอน ดังนั้น สอศ. จึงร่วมกับภาคีเครือข่ายภาคเอกชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หาแนวทางเติมองค์ความรู้ ทั้งการฝึกทักษะ ควบคุมระบบเชื่อมอัตโนมัติ การออกแบบชิ้นส่วนยานยนต์ ตลอดจนเทคนิคการใช้งานเครื่องมือ เครื่องจักรกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมสั่งการด้วยระบบอัตโนมัติให้นักศึกษาอาชีวะอย่างต่อเนื่อง”

คุณปิยะบุตร ชลวิจารณ์ ประธานสถาบันคีนันแห่งเอเซีย กล่าวเสริมว่า ปัจจุบันแมคคาทรอนิกส์และหุ่นยนต์เป็นศาสตร์ใหม่ จึงมีการเปิดสอนโดยตรงอยู่น้อย หลายแห่งที่พยายามเปิดสอนก็ยังขาดความพร้อม การเข้ามาสนับสนุนของเชฟรอนฯ จะช่วยเติมเต็มให้เกิดการพัฒนาได้เร็วขึ้น โดยเฟสแรกจะมีการส่งมอบอุปกรณ์และซอฟต์แวร์ รวมถึงหลักสูตรการเรียนการสอน พร้อมจัดอบรมให้ 27 วิทยาลัยเทคนิค เพื่อสร้าง Master Teacher มากกว่า 80 คน และนักเรียนอาชีวะ 1,600 คน