“SME ONLINE” ติดอาวุธ SME ไทย เกิดกว่า 10,000 ร้านค้า ยอดขายกว่า 110 ลบ.

SME ONLINE” ติดอาวุธ SME ไทย เกิดกว่า 10,000 ร้านค้า ยอดขายกว่า 110 ลบ.

จากยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 ของรัฐบาลที่ต้องการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทยไปสู่เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วยนวัตกรรม (Value-based economy) การส่งเสริมให้เอสเอ็มอีไทยปรับตัวเข้าสู่สังคมยุคดิจิตอล ถือเป็นกลยุทธ์สำคัญในการเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในตลาดโลก เพื่อสนับสนุนให้เป้าหมายผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศของกิจการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (GDP SME) ขยับสู่ 50% ของ GDP ประเทศ ภายในปี 2564

สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) จึงได้ดำเนินการ โครงการส่งเสริมพัฒนาตลาดอิเล็กทรอนิกส์สำหรับ SME หรือ ‘SME ONLINE’ อย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับ 4 หน่วยงานพันธมิตร ได้แก่ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) จนสามารถส่งเสริมให้เอสเอ็มอีรายใหม่มีทักษะในการทำการตลาดออนไลน์ และมีช่องทางการจำหน่ายสินค้าเพิ่มขึ้น ในรูปแบบ Business to Business to Customer (B2 B 2C) รวมทั้งพัฒนาเอสเอ็มอีที่ค้าขายออนไลน์อยู่แล้วให้สามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างยั่งยืน

คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) กล่าวว่า “โลกยุคดิจิตอลเปลี่ยนแปลงไปเร็วมาก หากเอสเอ็มอีไทยไม่ตื่นตัวที่จะพัฒนาหรือเปลี่ยนแปลงตัวเอง ย่อมเป็นการยากที่จะอยู่รอด เพื่อเพิ่มความสามารถทางการแข่งขันในยุค 4.0 เอสเอ็มอีควรปรับเปลี่ยนองค์ประกอบบางอย่างในธุรกิจ เช่น Digital Transformation นำเครื่องมือดิจิตอลมาเสริมสร้างโอกาสทางธุรกิจ

สสว. ในฐานะหน่วยงานหลักในการให้การส่งเสริม สนับสนุน และให้ความช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอี จึงได้รวมพลังกับพันธมิตรในการพัฒนาเอสเอ็มอีที่กระจายตัวอยู่ทั่วทุกภูมิภาค ผ่านกิจกรรมรูปแบบต่างๆ ในโครงการ SME ONLINE ซึ่งมีการพัฒนาหลักสูตรการอบรมที่เน้นปฏิบัติจริงอย่างหลากหลาย เพื่อให้บริการองค์ความรู้แก่เอสเอ็มอีที่มีพื้นฐานความรู้และธุรกิจแตกต่างกันไป โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใดๆ ทั้งสิ้น”

ทั้งนี้กับการส่งเสริมให้โครงการ SME ONLINE ประสบความสำเร็จด้วยดีคือ รูปแบบการอบรมมีให้เลือกเรียนรู้ตามสะดวกทั้งช่องทางออฟไลน์และออนไลน์ โดยอบรมเอสเอ็มอีไปแล้ว  10,000 รายทั่วประเทศ สนับสนุนผู้ประกอบการใหม่ที่เข้าร่วมอบรมมากถึง 50% ในการเตรียมทำการตลาดออนไลน์เบื้องต้น เช่น สอนเทคนิคถ่ายภาพ การเขียนเนื้อหา รวมทั้งการเปิดร้านค้าออนไลน์กับ e-Marketplace ที่เข้าร่วมโครงการ สำคัญคือ การจัดกิจกรรมส่งเสริมการขาย เพื่อให้เอสเอ็มอีมีประสบการณ์จริงในการค้าขายออนไลน์ และสร้างความมั่นใจในการเริ่มต้นธุรกิจช่องทางใหม่ ขณะที่เอสเอ็มอีที่มีร้านค้าออนไลน์อยู่แล้ว ยังสามารถเพิ่มเติมเทคนิคขั้นสูง ช่วยติดอาวุธให้ออนไลน์เป็นช่องทางการตลาดที่ยั่งยืนต่อไป

“เห็นได้ชัดว่าเอสเอ็มอีวันนี้ตื่นตัวและกระตือรือร้นที่จะทำธุรกิจทางออนไลน์มากขึ้น และไม่หยุดที่จะพัฒนาสินค้าให้ตอบโจทย์ตลาด เมื่อระบบนิเวศเอื้อต่อการทำธุรกิจ ก็ไม่มีอะไรจะมาหยุดการเติบโตของเอสเอ็มอีไทยได้”

รศ.ดร.ประเสริฐ ปิ่นปฐมรัฐ อธิการบดี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลธัญบุรี ได้กล่าวถึงการเข้าร่วมโครงการฯ และแนวทางช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีที่ผ่านมา ว่า “หลายๆ คนทำมาค้าขายมาเป็นสิบปี แต่อยู่ในรูปแบบออฟไลน์ มีหน้าร้านรอลูกค้ามาซื้อ และหลายคนไม่รู้วิธีเข้าถึงตลาดออนไลน์ เราในฐานะดูแลผู้ประกอบการในส่วนพื้นที่ภาคกลางและภาคตะวันตก ได้เดินทางลงพื้นที่อบรมมอบความรู้เรื่องออนไลน์มาร์เก็ตติ้ง เริ่มตั้งแต่เตรียมความพร้อม เทคนิคการถ่ายภาพเพื่อใช้ในตลาดออนไลน์ หรือการนำไปใช้ทำโปสเตอร์ จัดทำหน้าร้านออนไลน์ โดยสอนกันตัวต่อตัว พร้อมโพสต์ขายจริง สอนเรื่องกระบวนการสั่งซื้อ เก็บเงิน วิธีจัดส่งสินค้า”

ทั้งนี้สำหรับผู้ประกอบการที่สนใจแต่ไม่ได้เข้ารับอบรม สามารถคลิกเข้าไปดูหลักสูตรอบรมทางออนไลน์ได้ ซึ่งจะจัดเตรียมไว้ให้พร้อมทุกกระบวนการตั้งแต่ขั้นเตรียมพร้อมจนจบการขายไปถึงปลายทางสู่มือลูกค้า

“นอกจากเรื่องการทำตลาดออนไลน์แล้ว สิ่งที่แนะนำผู้ประกอบการคือ การตั้งรับให้ทันกับงานด้านการผลิต เพราะช่องทางขายเพิ่มมากขึ้น สินค้าต้องพอขาย ต้องมีกำลังผลิตพร้อม ฉะนั้นผู้ประกอบการต้องมีศักยภาพรองรับการเข้าสู่ตลาดออนไลน์ให้ได้” รศ.ดร.ประเสริฐ กล่าว

ผศ.ดร.สมเดช รุ่งศรีสวัสดิ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา รับผิดชอบดูแลผู้ประกอบการในส่วนของพื้นที่ภาคอีสานและภาคตะวันออก กล่าวแนะนำสำหรับผู้ประกอบการสนใจเปิดตลาดค้าขายทางออนไลน์ สิ่งสำคัญคือผลิตภัณฑ์ต้องโดดเด่นแตกต่าง และสร้างแบรนด์ของตนเองให้ชัดเจน กำหนดกลุ่มเป้าหมายให้สอดรับกับสินค้า นั่นหมายถึงต้องรู้ว่าจะขายสินค้าให้ใคร ทั่งนี้ในด้านการกระตุ้นยอดขายนั้นยังมีความจำเป็น ไม่ว่าจะเรื่องจัดโปรโมชั่น เพื่อส่งเสริมการขาย ก่อเกิดการทดลองใช้ และซื้อซ้ำ

ทางด้าน ดร.ภคินี อริยะ รักษาการแทนผู้อำนวยการ ศูนย์นวัตกรรมและการจัดการความรู้วิทยาลัยศิลปะ สื่อ และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวเสริมถึงการช่วยเหลือกลุ่มผู้ประกอบการในเขตพื้นที่ภาคเหนือ ว่าต้องทำให้ผู้ประกอบการรู้ในสิ่งที่ไม่รู้ก่อน ทั้งเรื่องวิธีเข้าถึงตลาดออนไลน์ อีคอมเมิร์ช อินเตอร์เน็ตแบงกิ้ง โลจิสติกส์ โดยจะจัดเป็นองค์ความรู้ เพื่อมอบให้ผู้ประกอบการ ทั้งนี้ยังมีชุดความรู้ที่จัดเป็นหลักสูตร ผู้ประกอบการสามารถเรียนรู้ผ่านช่องทางออนไลน์ ซึ่งในอนาคตจะยังคงพัฒนาชุดความรู้นี้ให้ง่ายต่อการเข้าถึงโดยเฉพาะกับกลุ่มผู้ประกอบการที่อยู่ในขั้นเริ่มก้าว

ในส่วนของ คุณธนนนทน์ พรายจันทร์ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (ISMED) กล่าวถึงความร่วมมือกับ สสว. โดยรับผิดชอบพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งมุ่งเน้นพัฒนาผู้ประกอบการให้เติบโตอย่างยั่งยืน “ผลิตภัณฑ์ในพื้นที่ภาคใต้มีมากมายและหลากหลาย เราพยายามผลักดันให้สินค้านั้นได้รับโอกาสในการสร้างการรับรู้ในวงกว้าง นำสินค้าออกมาสู่สายตาคนนอก วางจำหน่ายในตลาดที่เหมาะสม อย่างพื้นที่ภาคใต้สินค้าอาหารจำนวนมากเป็นของผู้ประกอบการมุสลิม มีฮาลาล เราจึงต้องเชื่อมโยงกับตลาดทั่วโลก ให้สินค้าของคนในพื้นที่ภาคใต้ได้เป็นที่รู้จัก ทั้งยังเป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ของคนในชุมชนพี่น้องภาคใต้ด้วย”

 สำหรับ e-Marketplace ชั้นนำของประเทศที่เข้าร่วมโครงการ เพื่อเป็นช่องทางในการจำหน่ายสินค้าของเอสเอ็มอีมีทั้งสิ้น 11 รายด้วยกัน ประกอบด้วย Shopee, Buzzebees, Lnwmall, welovershopping, Tarad.com,  Thailandmall, smesiam, Lnwshop, Beautynista, Shopseason, Pinsouq  ซึ่งแต่ละรายต่างร่วมมอบสิทธิพิเศษต่างๆ ให้เอสเอ็มอีได้มีโอกาสทดลองค้าขายและสร้างรายได้ผ่านช่องทางออนไลน์ โดยกลุ่มสินค้าขายดี ได้แก่ แฟชั่น ของตกแต่งบ้าน และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์

ทั้งนี้เพื่อช่วยกระตุ้นยอดขายให้กับผู้ประกอบการ สสว. จึงได้จัดกิจกรรมส่งเสริมการขายต่างๆ อาทิ การทำคูปองส่วนลด และที่พิเศษคือร่วมมือกับ 5 e-Marketplace จัดแคมเปญ “SME 1 BAHT” ลดราคาสินค้าที่อยู่ภายใต้โครงการ SME ONLINE จำนวน 500 รายการ โดยจำหน่ายในราคา 1 บาท สำหรับส่วนที่เหลือ สสว. จะเป็นผู้สนับสนุน แต่ไม่รวมค่าขนส่ง

การดำเนินงานโครงการ SME ONLINE ในปีนี้ ผู้อำนวยการ สสว. เผยมีผู้ประกอบการได้รับความรู้และประโยชน์จากโครงการกว่า 52,000 ราย มีสินค้าและบริการเข้าร่วมจำหน่ายผ่านทางออนไลน์กว่า 62,000 รายการ และสามารถสร้างยอดขายให้กับผู้ประกอบการกว่า 110 ล้านบาท และในปีต่อไป สสว. จะเดินหน้าสานต่อโครงการ SME ONLINE ต่อเนื่องเป็นปีที่ 3 เพื่อเสริมความแข็งแกร่งด้านการค้าออนไลน์ให้กับเอสเอ็มอีไทยในยุคการแข่งขันดิจิตอล ภายใต้พันธกิจหลัก คือ ผู้สนับสนุนกลุ่มผู้ประกอบการเอสเอ็มอีไทยรอบด้านทั่วทั้งประเทศ

“ความสำเร็จของโครงการนี้เกิดจากความร่วมมือ ทั้งในส่วนของหน่วยงานพันธมิตรทั้ง 4 แห่ง ที่เดินทางไปช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีกว่า 60 จังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งถือเป็นความสำเร็จที่สร้างความยั่งยืนให้กับผู้ประกอบการ ซึ่งการเรียนรู้เรื่องอีคอมเมิร์ชไม่ใช่แค่อบรมแล้วเกิดการโพสต์สินค้าจำหน่าย แต่เราให้ความสำคัญว่าทำอย่างไรผู้ประกอบการจะได้รู้จริงและขายจริง ซึ่งเมื่อทุกคนอยู่ในโลกดิจิตอลแบบนี้ ถือว่าเป็นเครื่องมือใกล้ตัว สามารถหยิบมาใช้ให้เกิดประโยชน์ แต่ไม่ได้หมายความว่ามาแทนที่ออฟไลน์ แต่ขอให้ทำควบคู่กันไป”

ผู้อำนวยการ สสว. ยังกล่าวเพิ่มเติมถึงหนทางนำไปสู่การค้าขายให้ประสบความสำเร็จและยั่งยืน ผู้ประกอบการต้องรู้จักสินค้าของตนเอง พัฒนาสินค้าให้ดีมีมาตรฐาน และสำคัญคือวางจำหน่ายในจุดที่ใช้ หรือเรียกว่าตรงกลุ่มเป้าหมาย ซึ่งถ้าผู้ประกอบการรู้ว่าสินค้าของตนอยู่ที่ไหนก็จะทำให้เกิดการขายได้ตามมา

 “ผู้ประกอบการต้องมีความขยัน ใฝ่เรียนรู้เพิ่มเติม ซึ่งในส่วนของหลักสูตรความรู้ สสว.และหน่วยงานร่วม ได้จัดทำไว้เพื่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งเราทุกหน่วยงานพร้อมที่จะมอบและให้คำปรึกษา” คุณสุวรรณชัย โลหะวัฒนกุล ผู้อำนวยการ สสว. กล่าวทิ้งท้าย