เพจสาธารณสุขแฉ! รายการคืนวันศุกร์ให้ข้อมูล บัตรทอง ผิด ทีมงาน บิ๊กตู่ ดึงจากกูเกิล!

เพจสาธารณสุขแฉ! รายการคืนวันศุกร์ให้ข้อมูล บัตรทอง ผิด ทีมงาน บิ๊กตู่ ดึงจากกูเกิล!

เพจสาธารณสุขแฉ! บิ๊กตู่ พูดข้อมูลบัตรทองผิด / จากกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคสช. กล่าวในรายการศาสตร์พระราชาสู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน ที่ออกอากาศเมื่อคืนวันศุกร์ วันที่ 28 ก.ย. ที่ผ่านมา เกี่ยวกับเรื่องสาธารณสุข โครงการ 30 ยังรักษาทุกโรคไม่สมบูรณ์

โดย พล.อ.ประยุทธ์ ได้กล่าวตอนหนึ่งในรายการ ว่า หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้ายังคงมี “ความไม่สมบูรณ์” นะครับ ในการขอรับบริการด้านสุขภาพหลายประการ ได้แก่ 1.รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐ อาจจะสร้างความลำบากให้กับผู้ที่อยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาลรัฐมาก 2.ไม่คุ้มครองการรักษาที่เกินความจำเป็นพื้นฐาน เช่น การผสมเทียม เพื่อมีบุตร การรักษากรณีที่มีบุตรยาก การบริการทางการแพทย์เพื่อความสวยงามการเปลี่ยนแปลงเพศ เป็นต้น

3.ไม่คุ้มครองการรักษา ที่มีงบประมาณจัดสรรโดยเฉพาะ เช่น โรคจิต หรืออาการป่วยทางจิต ซึ่งทางการแพทย์จำเป็นต้องรับไว้ เพื่อการรักษาและฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วย โดยให้เป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 15 วัน การบำบัดผู้ติดยาเสพติด ผู้ที่เกิดอุบัติเหตุทางรถ โดยมีพ.ร.บ.คุ้มครองอยู่ ซึ่งจะต้องใช้สิทธิ์พ.ร.บ.ให้ครบก่อนนะครับ

4.ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง และโรคที่ต้องเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นผู้ป่วยในเกินกว่า 180 วัน ยกเว้นหากมีความจำเป็นจริงๆ เช่น เกิดภาวะแทรกซ้อน จึงต้องรักษายาวนานขึ้น เป็นต้น

แฉเสิร์ชข้อมูลจากกูเกิล

ล่าสุด เพจ Gossipสาสุข ได้โพสต์ “อึ้ง ทีมงาน พล.อ.ประยุทธ์ เสิร์ชกูเกิลหา “ข้อเสียของบัตรทอง”เอาไปพูดในรายการวันศุกร์ แต่ข้อมูลกลับมั่วทั้งหมด” ระบุว่า น่าสนใจก็ตรงที่ว่า ข้อมูลดังกล่าวแทบจะเป็นข้อมูลที่ “มั่ว” ทั้งหมด ซึ่ง Gossip สาสุข พยายามสืบหาว่า “ต้นทาง” มาจากไหน

จนไปพบว่า ข้อมูลเหล่านี้อ้างอิงจากเว็บไซต์แห่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่งานวิชาการ ไม่ใช่งานวิจัย ไม่ใช่แม้แต่ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข หรือหน่วยงานที่รับผิดชอบโดยตรงอย่างสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) แต่เป็นข้อมูลจากเว็บไซต์ “ขายยา” และให้คำแนะนำด้านสุขภาพออนไลน์ ซึ่งจะขึ้นมาเป็นเว็บแรก หากเสิร์ชใน GOOGLE ว่า “ข้อเสียของบัตรทอง”

สันนิษฐานได้ว่าเมื่อทีมงานของหัวหน้าคสช. เจอข้อมูลในเว็บ ก็ดึงมาทำสคริปต์ทันที ไม่ได้ตรวจทานข้อมูล ว่าจริงเท็จแค่ไหน เรื่องยิ่งมั่วไปกว่านั้นก็ตรงที่พอได้รับข้อมูลมาไม่ได้มีการตรวจสอบข้อมูลและความถูกต้องใดๆ ก่อนจะออกอากาศในรายการซึ่งเผยแพร่ในทีวี-วิทยุทุกช่อง

ทีมงาน Gossip สาสุข ถือโอกาสนี้ชี้แจงข้อมูลที่อ่านออกรายการ ในแต่ละข้อ

1.ระบบ “30 บาท” ไม่ได้รักษาได้เฉพาะโรงพยาบาลรัฐเท่านั้น – ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เกิดขึ้นโดยมีแนวคิดให้ประชาชนสามารถเข้ารับการรักษาได้ในหน่วยบริการที่ใกล้ที่สุด โดยสำนักงานหลักหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เหมาจ่ายลงไปยังทั้งโรงพยาบาลรัฐ และเอกชน เพื่อดูแลผู้ใช้สิทธิ์บัตรทอง

เรื่องนี้ในต่างจังหวัดจะมีปัญหาน้อยกว่าในกรุงเทพฯ เพราะในเขตภูมิภาคมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล โรงพยาบาลอำเภอ และโรงพยาบาลจังหวัดค่อนข้างครบ ต่างจากในกรุงเทพฯ โดยในกรุงเทพฯ สปสช. พยายามดึงโรงพยาบาลเอกชนหลายแห่งเข้ามาช่วยบริการในระบบ เช่น โรงพยาบาลมงกุฎวัฒนะ โรงพยาบาลแพทย์ปัญญา โรงพยาบาลสุขสวัสดิ์ ฯลฯ ตลอดจนคลินิกเอกชนในชื่อของคลินิกชุมชนอบอุ่น

โรงพยาบาลเอกชนอาจหายไปบ้างจากระบบ เนื่องจากเม็ดเงินในระบบไม่พอ แต่ก็ไม่ได้ใช้ได้แต่ “โรงพยาบาลรัฐ”อย่างเดียว อย่างที่พล.อ.ประยุทธ์พูดแน่นอน

2.ไม่คุ้มครองการรักษาเกินความจำเป็นพื้นฐาน- พล.อ.ประยุทธ์ยกตัวอย่างในรายการว่า ปัจจุบัน “30 บาท” ไม่คุ้มครองการผสมเทียมเพื่อมีบุตร การรักษากรณีมีบุตรยาก การผ่าตัดแปลงเพศ

แน่นอนว่านี่คือข้อเท็จจริง เพราะการรักษาเหล่านี้มีค่าใช้จ่ายสูง และไม่ได้เป็นเรื่องของการดูแลรักษาสุขภาพขั้นพื้นฐาน น่าเสียดายที่หัวหน้าคสช. ไม่ได้บอกว่าควรแก้ปัญหาเหล่านี้อย่างไร หรือหาก พล.อ.ประยุทธ์ ได้เป็นรัฐบาลต่อ อาจเพิ่มการทำกิฟต์ หรือผ่าตัดแปลงเพศ ไปอยู่ในระบบบัตรทอง?

3.ไม่คุ้มครองการรักษาที่มีงบจัดสรรเฉพาะ เช่น อาการป่วยทางจิต – ปัจจุบันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าได้ตั้งงบเพื่อการบริการผู้ป่วยจิตเวชเรื้อรังในชุมชน แยกออกจากงบเหมาจ่ายรายหัว และมีการรักษาผู้ป่วยจิตเวชเรื่อยมานับตั้งแต่มีนโยบายนี้

บำบัดผู้ติดยาเสพติด– หากผู้ติดยาเสพติดมีสิทธิบัตรทอง และต้องการเข้ารับการบำบัดการรักษา สามารถใช้บริการในโรงพยาบาลรัฐได้

ผู้ประสบอุบัติเหตุทางรถ– แน่นอนว่าต้องใช้สิทธิ์ตามพ.ร.บ.คุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ ก่อนเป็นอันดับแรก แต่หลังจากนั้นก็สามารถใช้สิทธิบัตรทองได้ตามปกติ

4.ไม่คุ้มครองกรณีโรคเรื้อรัง– ข้อนี้คือสาระสำคัญที่ผิดมหันต์ ปัจจุบันหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ครอบคลุมโรคเรื้อรัง มีกองทุนเฉพาะทั้งโรคหลอดเลือดสมอง โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง โรคมะเร็ง รวมถึงโรคไต สปสช.ก็สนับสนุนให้มีการล้างไตทางช่องท้อง โดยแนวทางการรักษาแต่ละโรคเรื้อรัง ก็มีราชวิทยาลัยแพทย์ฯ เป็นผู้กำหนดแนวทางการรักษา และตรวจสอบมาตรฐาน-คุณภาพ การรักษาอย่างใกล้ชิด