15 พ.ย.ปิดสะพานรัชโยธิน “รัชดาฯ-พหลโยธิน” อัมพาต 2 ปี

เลื่อนเข้าเลื่อนออกเป็นระลอกแผนการรื้อสะพานข้ามแยกรัชโยธินเพื่อสร้างตอม่อรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย“หมอชิต-สะพานใหม่-คูคต”ซึ่งเป็นไซต์งานก่อสร้างสัญญาที่1ของ“บมจ.อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเมนต์”

เนื่องจากเป็นพื้นที่รถติดมหาโหด ทำให้ “รฟม.-การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย” หวั่นจะยิ่งซ้ำเติมคนกรุง ที่ผ่านมาแผนการรื้อสะพานข้ามแยกจึงยังไม่นิ่ง จากเดิมจะรื้อตั้งแต่เดือน เม.ย.ก่อนจะขยับไปต้นปีหน้า

จนมาล่าสุดได้รับการยืนยันจาก “พีระยุทธ สิงห์พัฒนากุล” ผู้ว่าการ รฟม.แล้วว่า ประมาณกลางเดือน พ.ย.นี้จะทดลองปิดการจราจรสะพานข้ามแยกรัชโยธินเป็นระยะเวลา 1 สัปดาห์เพื่อประเมินผลกระทบจากปัญหารถติด หากสามารถรับมือได้จะดำเนินการปิดถาวรเป็นระยะเวลา 2 ปีเพื่อรื้อสะพานและสร้างอุโมงค์แทน

“เลื่อนแผนการก่อสร้างเร็วขึ้นเพื่อไม่ให้การก่อสร้างทั้งโครงการล่าช้าจากกำหนดที่วางไว้เดือนก.พ.ปี′62 อาจจะทำให้ผู้รับเหมาขอขยายเวลาและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มเหมือนกับสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยาย เราก็ไม่อยากให้เกิดกรณีดังกล่าวขึ้นอีก จึงต้องปรับแผนการก่อสร้างใหม่ เพราะการก่อสร้างอุโมงค์อยู่ในแนวถนนรัชดาภิเษก จะใช้เวลากว่า 2 ปี โดยใช้เวลารื้อสะพาน 2 เดือน คาดว่าจะเริ่มได้ประมาณ พ.ย.-ธ.ค.นี้”

สำหรับแผนการจราจรเพื่อรับมือรถติดนั้น ทางผู้ว่าการ รฟม.กล่าวว่า ภายในสิ้นเดือน ต.ค.นี้การขยายพื้นผิวจราจรด้านล่างบริเวณ 4 แยกรัศมีด้านละ 500 เมตรจะแล้วเสร็จ เพื่อเพิ่มทางเบี่ยง จะช่วยบรรเทาปัญหารถติดบริเวณทางแยกได้ เนื่องจากรถที่ผ่านแยกนี้จะต้องใช้ถนนพื้นราบทั้งหมด

ส่วนการสร้างสะพานข้ามแยกแนวถนนพหลโยธิน ผู้รับเหมาเริ่มเข้าไซต์ก่อสร้างแล้ว จะใช้เวลาสร้างประมาณ 1 ปี อยู่ระหว่างเสนอแผนจัดจราจรใหม่ เพราะถ้ารอให้สะพานเสร็จ จะทำให้งานอุโมงค์ล่าช้าไปด้วย

“รถผ่านแยกรัชโยธินเฉลี่ยอยู่ที่ 2 แสนคัน/วัน ผ่านไปถนนพหลโยธินประมาณ 6 หมื่นคัน/วัน ที่เหลือกว่า 1 แสนคันจะวิ่งบนถนนรัชดาภิเษก ซึ่งหากปิดจราจรเพื่อรื้อสะพานและสร้างอุโมงค์ทางลอดจะทำให้รถติดมาก เราจึงต้องทำแผนจัดจราจรให้ดีเพื่อให้รถติดน้อยที่สุด”

แหล่งข่าวจาก รฟม.กล่าวเพิ่มเติมว่า เพื่อให้งานก่อสร้างอุโมงค์เสร็จเร็วขึ้น ทางผู้รับเหมาได้ปรับแบบก่อสร้างใหม่ พร้อมกับออกแบบจุดกลับรถใหม่ เพื่อลดความยาวของอุโมงค์ให้สั้นลง โดยใช้เทคโนโลยีการก่อสร้างใหม่ ๆ จะร่นเวลาก่อสร้างจากเดิม 3 ปีเหลือ 2 ปี ซึ่งจะไม่ส่งผลกระทบต่อค่าก่อสร้างแต่อย่างใด

ส่วนการจัดการจราจรในช่วง 2 ปีที่สร้างอุโมงค์ทางลอด จะปิดทีละด้านและให้ประชาชนใช้เส้นทางด้านล่าง รวมถึงทางเลี่ยงตามตรอกซอกซอยควบคู่ไปด้วย อีกทั้งยังมีทางด่วนใหม่ศรีรัช-วงแหวนรอบนอกตะวันตกที่จะมาช่วยแบ่งเบาได้อีกทางหนึ่ง

ถึงนาทีนี้คงจะทำอะไรได้ไม่มากนอกจากทำใจเพราะปัญหารถติดในกรุงเทพฯมีแทบทุกพื้นที่ไม่ใช่แค่แยกรัชโยธินที่กำลังจะเผชิญในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์