SACICT เปิดนิทรรศการ “หัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย” จ.พระนครศรีอยุธยา

SACICT เปิดนิทรรศการ “หัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย” จ.พระนครศรีอยุธยา

งานประณีตศิลป์ หรือ งานหัตถกรรมในประเทศไทย มีอยู่ด้วยกันหลากหลายชนิด บางชนิดยังคงสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน บางชนิดก็เริ่มสูญหายไปตามกาลเวลาเช่นกัน

หน้างานนิทรรศการ

คุณวิชชากร จันทรศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ เป็นประธานเปิดงาน นิทรรศการ “หัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย” จัดขึ้น ณ หอหัตถศิลป์ระหว่างประเทศ ชั้น 2  อ.บางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา

คุณวิชชากร จันทรศิริ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ คุณจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ช่างเครื่องรัก ครูบุญธรรม วิเชียร ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรพนัสนิคม กลุ่มเครื่องจักสาน คุณพิเชฏฐ์ เกิดทรง ช่างเครื่องไม้ และคณะร่วมถ่ายรูปร่วมกัน

โดยมี คุณจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ช่างเครื่องรัก ประเภทงานลงรักประดับมุก (ครูช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2558) ครูบุญธรรม วิเชียร ประธานกลุ่มสตรีสหกรณ์การเกษตรพนัสนิคม กลุ่มเครื่องจักสาน จ.ชลบุรี และ คุณพิเชฏฐ์ เกิดทรง ช่างเครื่องไม้ ประเภทงานเครื่องดนตรีไทย (ทายาทช่างศิลปหัตถกรรม ปี 2559) มาร่วมพูดคุยและนำงานหัตถกรรมมาแสดงโชว์ในงาน

ภายในงานนิทรรศการ จะเสนอองค์ความรู้เกี่ยวกับงานหัตถกรรมที่ใกล้สูญหายทั้งของไทยและของกลุ่มประเทศอาเซียนมาจัดแสดง อาทิ งานไม้ เครื่องมุก และเครื่องจักสาน ซึ่งบางชิ้นงานมีอายุกว่า 300 ปี

โซนงานไม้ งานแกะสลักไม้จำหลัก

ซึ่งนิทรรศการนี้ เป็นอีกหนึ่งนิทรรศการที่ต้องการนำเสนอภูมิปัญญาในการเลือกสรรวัตถุดิบที่มีอยู่ในท้องถิ่นมาทำของใช้เอง รวมถึงค่านิยมและขนบธรรมเนียมของแต่ละท้องถิ่น ที่เป็นปัจจัยสำคัญ ทำให้งานเครื่องจักสาน งานไม้และงานเครื่องมุกของแต่ละท้องถิ่นมีความแตกต่างกัน รวมถึงเป็นหลักฐานบ่งชี้ถึงภูมิปัญญาของบรรพบุรุษในอดีตอีกด้วย

คุณจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ครูช่างงานเครื่องมุก ครูบุญธรรม วิเชียร งานเครื่องจักสาน คุณพิเชฏฐ์ เกิดทรง ช่างเครื่องไม้งานเครื่องดนตรีไทย และ อาจารย์เผ่าทอง ทองเจือ ร่วมพูดคุยกันบนเวที

“ปัจจุบันคนที่ทำงานด้านนี้ ที่เน้นรูปแบบแบบครูโบราณนั้นเริ่มเหลือน้อยแล้ว ซึ่งงานที่ทำให้ปัจจุบันจะเป็นเชิงพาณิชย์เสีย 20% มันทำให้ต้องปรับลายของงานตามความต้องการของลูกค้า ส่วนอีก 80% ก็พยายามจะคงรูปแบบงานโบราณเอาไว้ ” คุณจักรกริศษ์ กล่าว

ตัวอย่าง ตะลุ่มงานลงรักประดับมุก ของครูจักรกริศษ์ สุขสวัสดิ์ ที่นำมาจัดแสดงในงาน

“ในปัจจุบันตัวหัตถกรรมนั้น ยังคงมีความต้องการจากผู้บริโภคอยู่ แต่ตัวบุคคลที่เป็นช่างเป็นคนผลิตงานหัตถกรรมพวกนี้นั้นเหลือน้อย ซึ่งงานพวกนี้มันต้องใช้ความอดทน ใจเย็น กว่าจะได้แต่ละชิ้นก็ใช้เวลา คนเลยไม่ค่อยอยากมาทำกัน ตรงนี้ต่างหากที่กำลังจะทำให้งานหัตถกรรมค่อยๆ สูญหายไป” คุณพิเชฏฐ์ กล่าว

อุปกรที่ใช้ในการทำงานเครื่องไม้

โดยนิทรรศการ หัตถกรรมที่ใกล้สูญหาย นี้เปิดให้ผู้ที่สนใจได้เข้าชมทุกวัน ตั้งแต่วันที่ 12 กันยายน 2561 เป็นต้นไป ระหว่างเวลา 08.00 – 17.00 น.  ณ SACICT CRAFT CENTER ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม โทร 1289 หรือที่ www.facebook.com/sacict