เพิ่มมูลค่า ‘ตู้เอกซเรย์เก่า’ ผลงานทันตะ ม.ขอนแก่น

สถานการณ์ความต้องการอุปกรณ์ทางการแพทย์ในปัจจุบันเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตามจำนวนของผู้ป่วยที่ต้องการรับการรักษาทางการแพทย์ที่มีมากขึ้น Film Viewer หรือตู้อ่านฟิล์มเอกซเรย์ เป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยทำให้แพทย์สามารถมองเห็นความผิดปกติที่เกิดขึ้นภายในได้อย่างชัดเจน เช่นเดียวกันกับทันตแพทย์เองที่จำเป็นต้องใช้ตู้อ่านฟิล์มเอกซเรย์นี้เพื่อมองหาความผิดปกติภายในช่องปากของคนไข้ แต่เมื่ออุปกรณ์ถูกใช้งานอย่างต่อเนื่องติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน ทำให้อุปกรณ์เหล่านั้นเสียหายหรือชำรุดได้

อุปกรณ์ในประเภทนี้ใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ในการกำเนิดแสงสว่าง ใช้พลังงานไฟฟ้าสูงเนื่องจากการใช้หลอดไฟฟลูออเรสเซนต์นั้นจะต้องมีไฟฟ้ามาเลี้ยงแผงวงจรอยู่ตลอดเวลาถึงแม้ว่าจะไม่ใช้งาน ทำให้อุปกรณ์มีความร้อนสูงส่งผลให้ชำรุดอยู่เป็นประจำ ปกติเมื่อ Film Viewer มีการชำรุด จำเป็นที่จะต้องจัดหาอุปกรณ์อันใหม่มาทดแทนโดยมีราคาสูงถึง 10,000 บาทต่อเครื่อง ชุดเก่าที่ถูกถอดออกไปนั้นก็ไม่สามารถนำกลับมาใช้งานได้อีกเนื่องจากไม่มีอะไหล่รวมไปถึงไม่คุ้มค่าในการซ่อมแซม

นายสุกิจ โสดากุล สังกัดหน่วยอาคารสถานที่และซ่อมบำรุง คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น (มข.) ได้เล็งเห็นถึงปัญหาและความสิ้นเปลืองดังกล่าว ประกอบกับเทคโนโลยีของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่ถูกพัฒนาให้มีประสิทธิภาพมากขึ้นในปัจจุบัน จึงริเริ่มการนำ Film Viewer หรือตู้อ่านฟิล์มเอกซเรย์เก่าหรือที่ชำรุดแล้วมาดัดแปลงเพื่อเพิ่มมูลค่าและประสิทธิภาพ โดยการพัฒนาดัดแปลงตู้ที่ชำรุดมาใช้หลอด LED แบบเดียวกันกับที่ใช้ในโทรทัศน์ มาเป็นตัวนำแสงสว่างแทนหลอดไฟฟลูออเรสเซนต์ ซึ่งการใช้ LED ช่วยลดความร้อนและลดพลังงานของตู้อ่านฟิล์มเอกซเรย์ลงอย่างมาก ทั้งยังสามารถนำไปใช้ในทุกคลินิก ที่ยูนิตติดตั้ง Film Viewer แบบ Panorama

“การพัฒนาที่สำเร็จนี้สามารถนำ Film Viewer เก่าหรือที่ชำรุดทั้งหลายมาดัดแปลง ซ่อมแซมเพื่อนำไปใช้ต่อได้ โดยใช้งบประมาณ 1,000 บาทเท่านั้น ช่วยลดค่าใช้จ่ายในการจัดซื้อตู้อ่านฟิล์มเอกซเรย์ใหม่ลงได้กว่า 10 เท่า ทั้งนี้ยังลดการใช้ไฟฟ้าได้มาก หลอดเดิมที่ติดมากับเครื่องกินพลังงานไฟฟ้าถึง 2 แอมป์ แต่ในขณะที่หลอดแบบ LED กินพลังงานไฟฟ้าเพียง 350 มิลลิแอมป์ โดยวัดประสิทธิภาพจากตัวเครื่องที่ไม่มีความร้อนทั้งในขณะใช้งานและไม่ใช้งาน ซึ่งแตกต่างกับการใช้หลอดแบบเดิมนำแสงสว่าง กล่าวได้ว่าการพัฒนานี้มีความคุ้มค่าทั้งในด้านค่าใช้จ่าย การจัดหาอุปกรณ์ รวมไปถึงการประหยัดพลังงาน แต่ยังคงประสิทธิภาพดีเช่นเดิม” นายสุกิจกล่าว

ผลงาน LED Film Viewer ของนายสุกิจ โสดากุล ได้รับรางวัลชนะเลิศผลงานประเภทนวัตกรรม ในงาน The 7th Dent KKU Show and Share 2016 งานแสดงผลงาน ความสำเร็จและความภาคภูมิใจอันเกิดจากการลงมือทำงานจริง จนเกิดเป็นองค์ความรู้ใหม่ของบุคลากรคณะทันตแพทย์

 

 

ที่มา มติชน