ที่มา | เส้นทางเศรษฐีออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
นายปิยะ ยอดมณี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท สายการบินนกแอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NOK เปิดเผยว่า ภาวะการแข่งขันที่รุนแรงในธุรกิจการบิน ท่ามกลางความผันผวนของราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ซึ่งนับเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ทำให้ผู้ประกอบการสายการบินต้องปรับตัวอย่างต่อเนื่องในการรับมือกับแรงกดดันดังกล่าว โดยนกแอร์ได้มีการปรับแผนธุรกิจครั้งใหญ่ในปลายปี 2560 เพื่อพัฒนาธุรกิจของสายการบินให้มีทิศทางที่ดีขึ้น
“ปี 2560 นกแอร์มีการเปลี่ยนแปลงหลายด้านตามแผนธุรกิจใหม่ที่มุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ รวมทั้งมีการเพิ่มทุนเพื่อเพิ่มความแข็งแกร่งด้านเงินทุน ซึ่งการดำเนินงานได้ผลตอบรับที่ดี เห็นได้จากผลงานในครึ่งแรกของปี 2561 ที่ขาดทุนลดลง 14.78% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนหน้า เรามีรายได้รวมเพิ่มขึ้น ทั้งจากค่าโดยสารและค่าบริการ แม้ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นจากราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง”
สำหรับแผนธุรกิจของนกแอร์ แบ่งออกเป็น 3 ระยะ ประกอบด้วย ระยะที่ 1 ลดการขาดทุน และระยะที่ 2 การสร้างความพร้อมให้มีประสิทธิภาพ แล้วเดินไปข้างหน้า ส่วนระยะที่ 3 การขยายเส้นทางบิน ตลอดจนการจัดองค์กรใหม่ เพื่อส่งเสริมให้พนักงานมีกระบวนการบริหารจัดการอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
นอกจากนี้ ยังได้ปรับรูปแบบการบริการครั้งใหญ่ เพื่อพลิกธุรกิจจากสายการบินราคาประหยัดไปสู่การเป็นไลฟ์สไตล์ แอร์ไลน์ ที่ไม่เน้นแข่งขันด้านราคา แต่มุ่งเน้นการเสนอบัตรโดยสารและการให้บริการในรูปแบบที่ให้ผู้โดยสารสามารถเลือกสิ่งที่ตรงกับความต้องการของตัวเองได้มากที่สุด ภายใต้แนวคิด “นกเลือกได้” หรือการร่วมมือไทยกรุ๊ป เพิ่มสิทธิพิเศษแก่ผู้โดยสารที่เป็นสมาชิกนกแฟนคลับ และสมาชิกรอยัล ออร์คิท พลัส ซึ่งผู้โดยสารจะได้รับไมล์สะสมของรอยัล ออร์คิท พลัส เมื่อเดินทางกับนกแอร์ เพื่อเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน
รวมทั้งขยายเส้นทางบินต่างประเทศเพิ่ม โดยเฉพาะเส้นทางสาธารณรัฐประชาชนจีน ถือว่าได้รับผลตอบรับดีมาก มีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันได้จัดสรรทรัพยากรเครื่องบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น มีการเพิ่มการใช้เครื่องบิน AIRCRAFT UTILIZATION ให้มีจำนวนชั่วโมงบินต่อลำต่อวันเพิ่มขึ้น
นายปิยะ กล่าวต่อว่า ปี 2561 ถือเป็นปีแห่งการวางรากฐานใหม่ของนกแอร์ โดยเร่งปรับปรุงพัฒนากระบวนการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นตามแผนธุรกิจที่วางไว้ เช่น เพิ่มอัตราการใช้เครื่องบินให้คุ้มค่า เพิ่มเส้นทางการบินไกลและเพิ่มเส้นทางบินไปต่างประเทศให้มากขึ้น ปรับปรุงเส้นทางการบินให้มีความเหมาะสมในการสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เป็นต้น รวมทั้งยังมุ่งเน้นการลดค่าใช้จ่าย เพื่อลดต้นทุนการดำเนินธุรกิจด้วย
สำหรับในปี 2562 จะเป็นแผน Rebuild หรือการเริ่มต้นใหม่เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งยิ่งขึ้นในอนาคต เช่น การขยายเครือข่ายเส้นทางการบินให้ครอบคลุมภูมิภาคมากขึ้น เพิ่มความสามารถในการแข่งขันโดยนำจุดเด่น หรือจุดแข็งของสายการบินมาพัฒนาต่อยอดในการสร้างแบรนด์ให้มีความแข็งแกร่ง มีการจับมือกับพันธมิตรเพื่อเพิ่มช่องทางในการสร้างรายได้อื่นๆ รวมทั้งมองหาช่องทางการลงทุนที่เอื้อต่อธุรกิจ หรือสร้างรายได้ให้แก่สายการบิน