ลูกจ้างสุขภาพแย่-ครอบครัวเครียด หากถูกกดดันให้คอยเช็กอีเมลหลังเลิกงาน

BBCไทย – ชีวิตคนทำงานในยุคที่การสื่อสารผ่านอินเทอร์เน็ตไม่ว่าจะเป็นอีเมลหรือไลน์เข้าถึงตัวได้ทุกที่ทุกเวลานั้น แม้จะเพิ่มความสะดวกสบายในการติดต่อ แต่ก็ทำให้สมดุลระหว่างเวลาทำงานและเวลาส่วนตัวที่ใช้กับครอบครัวต้องสูญเสียไปโดยปริยาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากมีแรงกดดันจากเจ้านายให้ต้องคอยเช็กและตอบอีเมลอยู่ตลอดเวลา แม้จะไม่ใช่เวลางานก็ตาม

ผลวิจัยล่าสุดของสถาบันโพลีเทคนิคและมหาวิทยาลัยแห่งรัฐเวอร์จิเนีย (Virginia Tech) ในสหรัฐฯ ชี้ว่าสถานการณ์ดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจของลูกจ้าง รวมทั้งสมาชิกในครอบครัวของพวกเขามากกว่าที่คาดกันไว้

ศ. วิลเลียม เบ็กเกอร์ ผู้นำทีมวิจัยนี้ได้นำเสนอผลการศึกษาข้างต้นในที่ประชุมประจำปีสถาบันวิชาการบริหารศาสตร์ (Academy of Management) ที่นครชิคาโกของสหรัฐฯ โดยระบุว่า “ลูกจ้างส่วนใหญ่ไม่ค่อยตระหนักว่าการที่ต้องคอยตอบข้อความสื่อสารกับที่ทำงานตลอด 24 ชั่วโมง ส่งผลเสียต่อตนเองและคนรอบข้าง รวมทั้งสร้างปัญหาให้ชีวิตคู่อย่างร้ายแรง”

มีการออกแบบสอบถามให้กลุ่มพนักงานประจำอายุ 31-40 ปี จากหลากหลายสาขาอาชีพ ซึ่งต้องคอยตอบอีเมลจากที่ทำงานหลังกลับบ้านไปแล้วอยู่เสมอ ได้ประเมินเกี่ยวกับสุขภาพร่างกายและจิตใจของตนเอง รวมทั้งมีการออกแบบสอบถามให้กับบรรดาคู่ชีวิตของพวกเขาด้วย

ผลปรากฏว่าคนกลุ่มนี้ไม่คิดว่าพฤติกรรมการทำงานที่รุกล้ำเข้ามาในชีวิตส่วนตัวของตนเองนั้นเป็นปัญหามากนัก ตรงข้ามกับคู่ครองของพวกเขาส่วนใหญ่ที่บอกว่าการคอยเช็กอีเมลเรื่องงานของสามีหรือภรรยานั้น ทำให้ตนเองใกล้หมดความอดทนเต็มทีแล้ว

Teenager using a mobile phone

Getty Images

ผลสำรวจยังชี้ว่า กลุ่มพนักงานที่คอยตอบอีเมลนอกเวลางานมากครั้งที่สุด ส่วนใหญ่ระบุว่าตนเองป่วยบ่อยและมีความวิตกกังวลเพิ่มสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก ส่วนคู่ครองของพวกเขาก็มีระดับความเครียดพุ่งสูงขึ้นไม่แพ้กัน

“หากปล่อยให้เป็นเช่นนี้ต่อไป สถานการณ์จะยิ่งเลวร้ายลงจนลูกจ้างเกิดความเหนื่อยหน่ายหมดไฟในการทำงาน ทำให้ถึงขั้นต้องลาออกหรือชีวิตครอบครัวล่มสลายได้ เพราะคู่ครองต่างไม่มีเวลาให้กัน ซึ่งแสดงถึงการไม่เห็นความสำคัญของอีกฝ่ายนั่นเอง” ศ. เบ็กเกอร์กล่าว

ทีมผู้วิจัยแนะนำให้องค์กรและบริษัทต่าง ๆ จัดการกับปัญหานี้ โดยกำหนดเวลาเส้นตายให้เลิกส่งข้อความทางอีเมลหรือไลน์หลังเวลางานให้ชัดเจน เช่นอาจเป็นที่ 19.00 น. หรือให้พนักงานสลับกันอยู่เวรเพื่อคอยตอบข้อความดังกล่าว หากผู้บริหารมีความจำเป็นต้องส่งอีเมลถึงลูกน้องในเวลาดึกดื่น ควรชี้แจงย้ำไปด้วยว่าพวกเขาไม่จำเป็นต้องรีบร้อนตอบข้อความในทันทีก็ได้ เพื่อผ่อนคลายแรงกดดันในการทำงานลง