“บิ๊กตู่”ถก200นักธุรกิจประชุมเอซีดี บูมฟิวเจอร์ส์ฟันด์-ดึง”แจ็กหม่า”ปั้นSMEs-สตาร์ตอัพ

“บิ๊กตู่” ระดมนักธุรกิจ 34 ประเทศ 200 คนร่วมวงถก “ฟินเทค” ขายไอเดีย “กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน” ดึง “แจ็ก หม่า” เชื่อม SMEs และ Startup ไทย ธนาคารลงทุนพื้นฐานเอเชีย และเอดีบี ไม่พลาดขึ้นเวที ACD ครั้งที่ 2

ประเทศไทยเตรียมตัวเป็นเจ้าภาพจัดงานประชุม “2nd Asia Cooperation Dialogue Summit” หรือการประชุมสุดยอดกรอบความร่วมมือเอเชีย ครั้งที่ 2 ขึ้น ในวันที่ 9 ตุลาคม 2559 ภายใต้หัวข้อ “เอเชียหนึ่งเดียว หลากหลายในพลัง” โดยมีนายกรัฐมนตรี “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา”เป็นประธานการประชุม มีผู้นำและหัวหน้าคณะผู้แทนจากประเทศสมาชิกทั้ง 34 ประเทศเข้าร่วม ประเด็นสำคัญคือเป็นการเปิดโอกาสให้ภาคเอกชนได้ขึ้นเวทีแสดงความคิดเห็นร่วมกับภาครัฐบาลเป็นครั้งแรก เช่น “แจ็ก หม่า” ซีอีโอ “อาลีบาบากรุ๊ป” จะเป็นตัวแทนภาคเอกชนขึ้นแลกเปลี่ยนกับบรรดาผู้นำด้วย

นายบัณฑิต หลิมสกุล เลขาธิการ ACD กล่าวว่า คำถามที่ท้าทายในการประชุมคราวนี้คือมติของผู้นำ ที่จะประกาศให้มีการเปลี่ยนแปลงทิศทางอนาคตของเอเชีย ในช่วงเวลา 10 ปีที่ผ่านมา ไม่ว่าจะมีปัญหาเศรษฐกิจ ความมั่นคง เอเชียยังคงยืนอยู่ได้และเจริญรุ่งเรือง นี่คือนัยสำคัญว่าไทยมีศักยภาพอย่างมาก ทั้งนี้ จะเป็นครั้งแรกที่ภาคธุรกิจจะมีส่วนร่วมในเวทีของ ACD ภายใต้การประชุม “ACD Connect Business Forum 2016” เพื่อผลักดันความเป็นหุ้นส่วนระหว่างภาครัฐและเอกชน เปิดพื้นที่ให้ภาคเอกชนของกลุ่มประเทศ ACD ได้หาหนทางขับเคลื่อนความเชื่อมโยงภาคธุรกิจในภูมิภาคเอเชีย

โดยมีประเด็นการหารือหลัก ในเรื่องการระดมทุนเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและการส่งเสริมและเชื่อมโยงนวัตกรรมทางการเงิน หรือ “ฟิคเทค” ที่จะสามารถเพิ่มความสะดวกให้กับผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) และกลุ่มสตาร์ตอัพให้เข้าถึงแหล่งทุนและทำการตลาดได้

นายชตินทร คงศักดิ์ อธิบดีกรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เชิญ “แจ็ก หม่า” ด้วยตัวเอง และประเด็นหารือเรื่อง “ฟินเทค”มาจากการนำเสนอของนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ส่วนนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรีด้านเศรษฐกิจ นำเสนอหัวข้อ “การระดมทุนโครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่งมีผู้แทนภาคธุรกิจสนใจเข้าร่วมราว 200 บริษัท และผู้กำหนดนโยบายการเงินและผู้กำกับดูแลการเงินจากกลุ่มประเทศสมาชิก

โดยมีรายชื่อผู้ขึ้นเวทีอภิปรายที่น่าสนใจ ทั้งจากกลุ่ม “แอนท์ ไฟแนนเชียล” จาก “อาลีบาบากรุ๊ป”, กลุ่มนวัตกรรมฟินเทค จากธนาคารกลางสิงคโปร์ (MAS), ตัวแทนบริษัท Tata Consultancy Service อินเดีย, ธนาคารพัฒนาเอเชีย (ADB), ธนาคารเพื่อการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานแห่งเอเชีย (AIIB)

สำหรับภาคเอกชนจากประเทศสมาชิก 34 ประเทศ ที่ยืนยันเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ ประมาณ 200 ราย อาทิ จากบาห์เรน 11 ราย ญี่ปุ่น 9 ราย รัสเซีย 6 ราย จีน 6 ราย อินเดียและเวียดนามประเทศละ 4 ราย สหรัฐอเมริกา 3 ราย สิงคโปร์และฮ่องกง แห่งละ 2 ราย เยอรมนี 1 ราย ขณะที่นักธุรกิจจากกัมพูชาได้ลงทะเบียนเข้าร่วมไว้ถึง 23 ราย

นายวิทวัส ศรีวิหค รักษาการปลัดกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ความคิดเห็นว่า การจัดงานในครั้งนี้ จะสะท้อนให้เห็นว่าไทยเป็นประเทศที่มีความรับผิดชอบต่อประชาคมระหว่างประเทศ บทบาทเหล่านี้ได้พิสูจน์มาหลายทศวรรษ เห็นได้ว่าในชุดรัฐบาลปัจจุบันมีนโยบายระหว่างประเทศมากมายที่มีการสานต่อ

“เพราะเราต้องการให้แผนที่ประเทศไทยกะพริบอยู่เสมอในเรดาร์ของโลก เพราะฉะนั้น ACD จึงเป็นอีกวาระหนึ่งที่เอาประเทศต่าง ๆ ในเอเชียถึง 34 ประเทศมารวมกัน เราอยากฉายภาพให้โลกเห็นว่า แม้เราจะอยู่ในสถานการณ์พิเศษ แต่เราก็ยังดึงประเทศทั้งหลายมาประชุมระดับผู้นำได้ตามพันธกรณี”

นายวิทวัสเปรียบเทียบว่า การมีส่วนร่วมในเวทีระหว่างประเทศ แม้ว่าไม่ได้ขึ้นไปเล่นบนเวที แต่ได้เข้าไปชม ก็ถือว่ามีส่วนร่วมแล้ว “ฉันใดฉันนั้น ถ้าท่านอยู่ในหมู่บ้านมีลิเกมาเล่น แน่นอนท่านอาจจะไม่เล่นลิเก ท่านก็เข้าไปชม การเข้าไปมีส่วนในการชมหรือการขึ้นไปเล่นบนเวที ถือว่าเป็นบทบาทระหว่างประเทศ”

“Asia Cooperate Dialogue” หรือกรอบความร่วมมือเอเชีย จัดตั้งขึ้นโดยข้อริเริ่มของไทยเมื่อปี 2545 เพื่อเป็นเวทีหารือระดับนโยบายระหว่างประเทศในเอเชีย เพื่อผลักดันให้ประเทศในภูมิภาคเอเชียมีพื้นที่บนเวทีโลก ผ่าน 6 ประเด็น คือ 1.ความเชื่อมโยง 2.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและนวัตกรรม 3.การศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ 4.ความเชื่อมโยงระหว่างความมั่นคงทางอาหาร พลังงาน และน้ำ 5.วัฒนธรรมและการท่องเที่ยว และ 6.การส่งเสริมแนวทางสู่การพัฒนาที่ทั่วถึงและยั่งยืน

ทั้งนี้ ที่ประชุมสุดยอดฯจะให้การรับรองเอกสาร 3 ฉบับเพื่อเป็นผลลัพธ์การประชุมในครั้งนี้ ได้แก่ วิสัยทัศน์กรอบความร่วมมือเอเชีย ค.ศ. 2030, ปฏิญญากรุงเทพ และแถลงการณ์ ACD เกี่ยวกับบทบาทของเอเชียในการกระตุ้นเศรษฐกิจโลก

ประชาชาติธุรกิจออนไลน์