รู้ไว้..ภัยใกล้ตัว น้ำปลา-ผัก-ผลไม้ ไร้มาตรฐาน

กลายเป็นประเด็นความปลอดภัยของผู้บริโภคขึ้นมาอีกครั้ง จากกรณีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยผลการตรวจสอบคุณภาพน้ำปลาที่จำหน่ายและผลิตในประเทศตั้งแต่ปี 2555-2558 โดยได้รวบรวมข้อมูลผลการตรวจวิเคราะห์คุณภาพน้ำปลาทั่วประเทศทั้งหมด 1,121 ตัวอย่าง จาก 422 ยี่ห้อ พบไม่ได้มาตรฐาน 410 ตัวอย่าง หรือคิดเป็นร้อยละ 36.57

ไม่เพียงแต่คุณภาพน้ำปลาเท่านั้น ขณะเดียวกันเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือไทยแพน (Thai PAN) ยังเก็บตัวอย่างผัก 10 ชนิด ได้แก่ พริกแดง กะเพรา ถั่วฝักยาว คะน้า ผักบุ้ง ผักกาดขาวปลี กะหล่ำปลี แตงกวา มะเขือเปราะ และมะเขือเทศ ผลไม้ 6 ชนิด คือ ส้มสายน้ำผึ้ง มะละกอ แตงโม แคนตาลูป ฝรั่ง และแก้วมังกร รวมทั้งผัก-ผลไม้ทั้งหมด 158 ตัวอย่าง ซึ่งมีทั้งที่มีฉลากรับรองมาตรฐาน อาทิ มาตรฐานปลอดภัยเกษตรอินทรีย์ ฉลากออร์แกนิคส์ ฉลากมาตรฐานคิว จีเอพี (Q GAP) คิว จีเอ็มพี (Q GMP) และที่ไม่มีฉลากรับรองมาตรฐาน พบว่าผัก-ผลไม้มีสารพิษตกค้างเกินค่ามาตรฐานถึงร้อยละ 56 โดยส้มและคะน้าเจอปัญหามากสุด

เกิดคำถามว่า จากข่าวดังกล่าวไม่ใช่ครั้งแรก แต่เพราะเหตุใดจึงยังคงมีปัญหาเรื่องคุณภาพผลิตภัณฑ์อาหาร รวมไปถึงผักและผลไม้อยู่เรื่อยๆ จึงไม่แปลกที่หน่วยงานของรัฐจะถูกจับตามอง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ผู้ซึ่งถือกฎหมายในการควบคุมการผลิตอาหารให้ถูกสุขลักษณะ เป็นไปตามมาตรฐาน และไม่มีอันตรายเจือปน ตาม พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ซึ่งส่วนใหญ่ อย.จะดูในรูปของผลิตภัณฑ์บรรจุเสร็จ ส่วนผักและผลไม้จะตรวจสอบกรณีด่านอาหารและยา แต่ในส่วนต้นน้ำหรือการปลูกให้ได้มาตรฐานทางการเกษตรก็จะเป็นหน้าที่ของกรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขณะที่กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) มีหน้าที่ในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ต่างๆ อย่าง อย.ต้องการทราบว่าผลิตภัณฑ์ใดผลิตภัณฑ์หนึ่ง หรืออย่างกรณีน้ำปลา ต้องการหาไอโอดีน หรือต้องการตรวจคุณภาพน้ำปลาก็จะทำการตรวจสอบ และแจ้งผลไปยัง อย. เพื่อให้ดำเนินการตามขั้นตอน หากพบไม่ได้มาตรฐานก็ต้องมีการแจ้งไปยังผู้ผลิตเพื่อปรับปรุง เป็นต้น ขณะที่กรมอนามัยก็จะมีหน้าที่ให้ข้อมูล ความรู้ในการบริโภคที่ถูกสุขอนามัย เป็นต้น

น.ส.จารุวรรณ ลิ้มสัจจะสกุล ผู้อำนวยการสำนักคุณภาพและความปลอดภัยอาหาร กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่าการที่มีการตรวจพบสารตกค้างในพืชผักหรือคุณภาพของผลิตภัณฑ์อาหารต่างๆ อย่างกรณีผัก-ผลไม้นั้น ต้องบอกว่าจากการทำงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์มา 70 ปี ในเรื่องนี้ดีขึ้นเรื่อยๆ ทั้งชนิดของสารเคมีที่พบในพืชผัก แทบไม่ค่อยเจอตัวสารเคมีที่มีความคงทนสูง หรือเรียกง่ายๆ สลายตัวยาก

ขณะเดียวกันวันนี้ก็ไม่ค่อยพบสารเคมีที่มีพิษสูงเกินไป แต่ที่พบสารเคมีมากขึ้น นั่นเพราะปัจจุบันมีการผลิตมากขึ้น เพราะมีการปลูกมากขึ้น ส่วนที่เจอบ่อยๆ หากสังเกตง่ายๆ ส่วนใหญ่จะตรวจผักและผลไม้ที่มีความเสี่ยงสูง และมีข้อมูลว่ามีการตกค้างสูง เหมือนที่ไทยแพนตรวจก็เป็นกลุ่มผัก-ผลไม้ที่มีประวัติเจอสารเคมีอยู่เรื่อยๆ อยู่แล้ว และการที่ไทยแพนตรวจพบ ทางกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ก็ตรวจพบตัวเลขคล้ายๆ กัน

ทั้งนี้ ที่พบเพราะผู้บริโภคนิยม จึงมีการเพาะปลูกมากขึ้น และการใช้สารเคมีก็มีมากขึ้นด้วย ดังนั้น ในการตรวจสอบทางห้องปฏิบัติการก็จะใช้วิธีมาตรฐาน ด้วยการตรวจแบบเสี่ยงสุดคือไม่ต้องล้างผัก-ผลไม้ก่อน ทำให้โอกาสเจอสารเคมีมากตามไปด้วย ดังนั้น การตรวจแบบนี้ไม่ใช่ว่าต้องตกใจหมด สิ่งสำคัญคือก็ต้องล้างผัก-ผลไม้ให้สะอาด แม้ข้อเท็จจริงจะล้างสารเคมีออกไม่หมด แต่ก็ออกได้ระดับหนึ่ง ขณะเดียวกันก็ปรุงสุก ใช้ความร้อน ก็ลดสารเคมีลงไปอีก

ส่วนที่นิยมบริโภคผักสด ผักสลัด ก็ต้องล้างให้สะอาด และพยายามบริโภคให้หลากหลาย เพื่อลดโอกาสรับประทานผักชนิดเดียวไปนานๆ อาจรับสารเคมีตัวเดียวสะสมได้

“ในโลกความเป็นจริง ไม่มีอะไรในโลกนี้ที่ไม่เสี่ยง แต่ในเรื่องนี้ในการตรวจทางห้องปฏิบัติการ เราเรียกว่าเป็นความเสี่ยงที่รับได้ เช่น มีการกำหนดค่าต่างๆ แต่จะมีการกำหนดเกินออกไปอีก เพื่อป้องกันไว้อีกระดับหนึ่ง ดังนั้น เมื่อบอกว่าเกินค่ากำหนด แต่เรากำหนดให้มากกว่าที่ร่างกายจะได้รับผลกระทบเสียอีก แสดงว่าจริงๆ ร่างกายยังรับได้ เพียงแต่ก็ต้องรับประทานให้หลากหลาย ไม่ใช่ว่ารับได้แล้วก็กินอยู่อย่างเดียวก็ไม่ถูกหลักโภชนาการอีก สิ่งสำคัญอยู่ที่พฤติกรรมการบริโภคของเราด้วย” น.ส.จารุวรรณกล่าว

ภก.ประพนธ์ อางตระกูล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา ในฐานะโฆษก อย.กล่าวว่า ในแง่ของกฎหมายนั้น เมื่อ อย.ได้รับทราบข้อมูลก็จะมีการตรวจสอบซ้ำ อย่างกรณีหากพบสินค้าใดไม่ได้มาตรฐาน หรือสุ่มตรวจเจอสารตกค้างหรือสารปนเปื้อน ทาง อย.ก็จะตรวจสอบข้อเท็จจริง ซึ่งหากเกี่ยวข้องกับผู้ผลิต มาจากโรงงานโดยตรง ทาง อย.ก็จะเข้าไปตรวจสอบ หากพบว่าอาหารไม่ได้คุณภาพก็จะเข้าข่ายผิด พ.ร.บ.อาหาร พ.ศ.2522 ปรับไม่เกิน 50,000 บาท แต่หากพบมีการปนเปื้อนหรือเจือปนใดๆ ทำให้อาหารไม่บริสุทธิ์ จะมีโทษจำคุก 2 ปี และปรับไม่เกิน 20,000 บาท ส่วนกรณีผัก-ผลไม้นั้น จริงๆ สำหรับ อย.จะตรวจเฉพาะหน้าด่าน อย.เท่านั้น เนื่องจากอาหารและยาได้มีมาตรการในการตรวจสอบคุณภาพมาตรฐานอาหารนำเข้าประเภทต่างๆ อย่างเข้มงวด และสุ่มตรวจเพื่อหาสารปนเปื้อนอย่างต่อเนื่อง หากพบว่าไม่ได้มาตรฐานหรืออาจก่อให้เกิดอันตรายต่อผู้บริโภค จะไม่อนุญาตให้มีการนำเข้ามาภายในประเทศอย่างเด็ดขาด แต่ในกรณีของการพบผักและผลไม้มีการปนเปื้อนก็จะเป็นภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตรวจสอบมาตรฐานการเกษตรต่อ

ทั้งนี้ ผู้บริโภคหลายคนไม่แน่ใจในคุณภาพ

อย่างกรณีผลิตภัณฑ์บรรจุเสร็จที่มีเครื่องหมาย อย.นั้น จะทราบได้อย่างไรว่าไม่มีการทำ อย.ปลอม ภก.ประพนธ์กล่าวว่า อันดับแรกเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ และหากไม่มั่นใจ ให้ดูเลขที่ อย. และตรวจสอบมาทางสายด่วน อย. โทร 1556 หรือ e-mail:[email protected] หรือคีย์เลข อย. มาทางแอพพลิเคชั่น Oryor Smart Application

รวมไปถึงการร้องเรียนสินค้า ผลิตภัณฑ์ต่างๆ ก็ผ่านทางช่องทางดังกล่าวได้ หรือแจ้งไปยังสํานักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เพื่อ อย.จะได้ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้ที่กระทําผิดต่อไป…

มติชนออนไลน์