น้ำโขงล้นตลิ่งแล้ว เตือน 4 อำเภอเพชรบุรี รับวิกฤตเขื่อนแก่งกระจาน

เมื่อวันที่ 5 ส.ค. นายสำเริง แสงภู่วงศ์ รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะผู้อำนวยการศูนย์เฉพาะกิจชั่วคราวในภาวะวิกฤต เปิดเผยว่า สถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยง ในวันอาทิตย์ที่ 5 ส.ค. โดยในช่วงวันที่ 5-9 ส.ค.2561 ประเทศไทยจะกลับมามีฝนตกเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะบริเวณภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก โดยลุ่มน้ำเพชรบุรียังคงมีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนแก่งกระจานอย่างต่อเนื่อง มีแนวโน้มไหลล้นทางระบายน้ำลงสู่แม่น้ำเพชรบุรี แม่น้ำหลักมีระดับน้ำลดลง เนื่องจากปริมาณฝนที่ตกน้อยลง แต่ยังมีน้ำล้นตลิ่ง ลำน้ำยังจ.ร้อยเอ็ด ลำเซบาย จ.ยโสธร และลำน้ำสงคราม จ.นครพนม แม่น้ำโขง มีระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณ นครพนม มุกดาหาร และอุบลราชธานี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น

สำหรับแม่น้ำโขง ปริมาณน้ำในแม่น้ำที่ไหลจากประเทศจีนยังคงที่ แต่ฝนที่ตกสะสมในสปป.ลาว ทําให้ยังมีมวลน้ำไหลลงมายังแม่น้ำโขง ส่งผลให้ระดับน้ำล้นตลิ่งบริเวณจ.นครพนม สูง 34 ซ.ม. มุกดาหาร 36 ซ.ม. และ อุบลราชธานี 45 ซ.ม. ทั้งนี้ระดับน้ำในลําน้ำโขงมีแนวโน้มสูงขึ้น ให้เฝ้าระวังในบริเวณดังกล่าวเป็นพิเศษ

ส่วนสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ เขื่อนแก่งกระจาน สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำในวันที่ 5 ส.ค. เวลา 06.00 น. มีปริมาณน้ำ 701.36 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 100 % ปริมาณ น้ำไหลเข้า 21.04 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 9.61 ล้าน ลบ.ม. แนวโน้มจะมีปริมาณน้ำไหลผ่านทางระบายน้ำล้นลงแม่น้ำเพชรบุรีในวันที่ 5 ส.ค. ยังคงมีปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ อย่างต่อเนื่อง คาดว่าระดับน้ำ จะสูงถึงสันทางระบายน้ำล้นกลางคืน

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ และยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถควบคุมปริมาณน้ำที่ระบายได้ การบริหารจัดการน้ำ เร่งพร่องระบายน้ำในแม่น้ำเพชรบุรีและในระบบชลประทาน รวมถึงการพร่องน้ำจากอ่าง เก็บน้ำโดยกาลักน้ำ เครื่องสูบน้ำ โดยการแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งเตือนจากจ.เพชรบุรี เรื่องน้ำล้นทางระบายน้ำ โดยให้เตรียมรับสถานการณ์น้ำท่วมในพื้นที่ลุ่มต่ำท้ายเขื่อนเพชร บริเวณอ.แก่งกระจาน อ.ท่ายาง อ.บ้านลาด และอ.เมืองเพชรบุรี ทั้งนี้จ.เพชรบุรีได้แจ้งขอรับการสนับสนุนเรือยนต์ผลักดันน้ำจากกองทัพเรือ 20 ลํา

เขื่อนวชิราลงกรณ์สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำ มีปริมาณน้ำ 7,403 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็น 84% ปริมาณน้ำไหลเข้า 89.29 ล้าน ลบ.ม. มีปริมาณน้ำไหลออก 36.00 ล้าน ลบ.ม. ปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างมีแนวโน้มลดลง

สภาพน้ำในพื้นที่ท้ายน้ำ ยังคงปกติ ทั้งนี้ปริมาณน้ำที่ระบายเพิ่มไม่ล้นตลิ่ง แต่อาจส่งผลกระทบต่อบริเวณ รีสอร์ต ที่ตั้งอยู่ริมแม่น้ำแควน้อย การบริหารจัดการน้ำ ทยอยเพิ่มการระบายน้ำให้เป็น 43 ล้าน ลบ.ม.ต่อวัน ภายในวันที่ 6 ส.ค. 2561 การแจ้งเตือนและการช่วยเหลือ มีการแจ้งให้พื้นที่ท้ายเขื่อนตามลําน้ำแควน้อยให้ทราบถึงแผนการระบายน้ำ ของอ่างเก็บน้ำ

สำหรับสถานการณ์น้ำในแม่น้ำและลำน้ำ แม่น้ำสายสำคัญ ภาคเหนือ ลําน้ำน่าน อําเภอเวียงสา จังหวัดน่าน มีแนวโน้มสูงขึ้น ให้เฝ้าระวังภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลําน้ำสายใหญ่ เริ่มมีระดับน้ำลดลง แต่ยังมีน้ำล้นตลิ่ง ในลําน้ำยังบริเวณจังหวัดร้อยเอ็ด ลําเซบาย บริเวณจังหวัดยโสธร และลําน้ำสงคราม บริเวณจังหวัดนครพนม ภาคกลางและภาคใต้ ปริมาณน้ำในลําน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ