แบงก์คุมกำเนิด”สาขา-ATM”รับดิจิทัลแบงกิ้ง

ธนาคารพาณิชย์จัดทัพธุรกิจใหม่ รองรับดิจิทัลแบงกิ้ง “ทหารไทย” รื้อโครงสร้างตำแหน่ง ลดความซับซ้อนระบบงาน แบงก์ใหญ่พาเหรดคุมกำเนิดสาขา-ตู้เอทีเอ็ม “กรุงไทย” ชงบอร์ดยกเครื่องครั้งใหญ่ ยืนยันไม่มีเออร์ลี่รีไทร์ แจงเปิดช่องเฉพาะพนักงานอายุมากมีปัญหาสุขภาพ

ผู้สื่อข่าวรายงานจากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)รายงานว่า จำนวนสาขาจาก 23 ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบอยู่ที่ 7,048 สาขา ลดลง 11 สาขาจากสิ้นปี 2558 ที่มีอยู่ทั้งสิ้น 7,059 สาขา โดยช่วงการขยายสาขาของแบงก์เริ่มลดลงตั้งแต่ปี 2558 ซึ่งทั้งปีมีการสาขาใหม่เพิ่มขึ้นเพียง 54 สาขา หากเทียบกับ 3 ปีก่อนหน้า ที่การขยายตัวของสาขาอยู่ที่ปีละเกือบ 300 สาขา เนื่องจากการทำธุรกรรมออนไลน์ผ่านมือถือเข้ามามีบทบาทมากขึ้น

TMB ยกเลิกโครงสร้างผู้บริหาร

นายบุญทักษ์ หวังเจริญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารทหารไทย หรือ TMB กล่าวว่า ตั้งแต่ 1 ก.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารได้ยกเลิกโครงสร้างระบบตำแหน่งงาน (Corporate title) ภายในองค์กรทั้งหมด อาทิ รองกรรมการผู้จัดการ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ผู้อำนวยการ ผู้อำนวยการอาวุโสออกไป ให้ภายในองค์กรไม่มีลำดับขั้นซับซ้อนทำงานรวดเร็วโดยใช้ระบบดิจิทัล

“ยืนยันว่าไม่ได้ให้คนออก เพียงยกเลิกโครงสร้างตำแหน่ง อาจกระทบอำนาจและอภิสิทธิ์ แต่ไม่ได้ปรับเงินเดือนหรือให้ออก”

การปรับโครงสร้างดังกล่าวไม่ได้ประกาศลดคนด้านใดลงเป็นพิเศษ โดยเฉพาะด้านสินเชื่อเพราะบุคคลเหล่านี้ยังเป็นบุคคลที่ธนาคารยังมีความต้องการ ส่วนการให้พนักงานสมัครใจลาออกนั้น ปกติธนาคารก็มีการเปิดให้เฉพาะคนที่มีปัญหาสุขภาพ หรืออายุมากเท่านั้น ส่วนการลาออกของพนักงานปกติอยู่ที่ราว 10-20 คนต่อปีเท่านั้น

คุมกำเนิด “สาขา-เอทีเอ็ม”

ในอนาคตสาขา และตู้เอทีเอ็มมีแนวโน้มลดลงอีกมาก เนื่องจากธุรกรรมดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้น ความจำเป็นด้านสาขาก็จะลดลง ส่วนสาขาที่ยุบไปพนักงานสามารถย้ายไปสาขาใหม่ ได้ ปัจจุบันธนาคารมีสาขาอยู่ 457 แห่ง จากต้นปี′58 มีสาขา 454 แห่ง สิ้นปีนี้สาขาจะลดลงอีกราว 4-5 สาขา

นายอดิศร เสริมชัยวงศ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายธุรกิจรายย่อย ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย กล่าวว่า ปัจจุบันธนาคารปรับลดสาขาต่อเนื่อง ล่าสุดสาขาอยู่ที่ 97 สาขา จากปลายปี′58 มี 123 สาขา ปรับลดลงต่อเนื่องจาก 3 ปีก่อนที่มีกว่า 150 สาขา

แต่ไม่มีโครงการให้สมัครใจลาออก ใช้วิธีโอนพนักงานไปสาขาใกล้เคียง ทำให้พนักงานสาขามี 7-10 คนจากอดีต 5 คน

“ไม่ใช่แค่สาขาที่จะลดลงตู้เอทีเอ็มก็ต้องลดลงเช่นกัน ล่าสุดธนาคารเพิ่งเปลี่ยนตู้เอทีเอ็มใหม่ทั้งหมด 100 ตู้ แทนตู้เก่าที่มีอยู่ 400 ตู้ เดิมวางแผนจะทยอยติดตั้งใหม่ให้ครบตู้เดิม แต่พร้อมเพย์มาทุกอย่างบนอินเทอร์เน็ตมาความจำเป็นตู้เอทีเอ็มจะลดลง ก็ชะลอติดตู้ใหม่ออกไป”

กรุงไทยชงบอร์ดเตรียมรื้อใหญ่

ขณะที่นายเชิดชัย ชมภูนุกูลรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ผู้บริหารสายงานเครือข่ายธุรกิจขนาดเล็ก และรายย่อย ธนาคารกรุงไทย หรือ KTB กล่าวว่า การปรับเปลี่ยนด้านการบริหารทรัพยากรบุคคล เป็นโจทย์ใหญ่และละเอียดอ่อน โดยเฉพาะพนักงานสาขา ในยุคที่ประชาชนหันทำธุรกรรมออนไลน์มากกว่าเดินทางมาที่สาขา

“ขณะนี้แบงก์อยู่ระหว่างการทำแผนครั้งใหญ่เพื่อวางระบบการทำงานในอนาคตและจะเสนอบอร์ดภายใน ต.ค.นี้ว่าจำเป็นมากน้อยแค่ไหน อาจต้องย้ายไปสู่ทำเลที่มีการทำธุรกรรมมากขึ้น หรือปิดสาขา”

สิ่งที่แบงก์ทำไปบ้างแล้ว คือการเวิร์กช็อปเพิ่มความรู้ให้กับพนักงานสาขา เพิ่มบทบาทให้พนักงานมากขึ้น จากเดิมที่ดูแลเฉพาะเคาน์เตอร์เงินฝาก อนาคตหากคนใช้บริการเคาน์เตอร์น้อยลง พนักงานเหล่าต้องปรับเปลี่ยนไปดูแลด้านอื่น เช่น ย้ายไปดูแลลูกค้ากลุ่มเวลท์ที่แบงก์กำลังรุก หรือดูแลฝ่ายชำระหนี้ เพราะงานเหล่านี้เป็นสิ่งที่ดิจิทัลทำไม่ได้

นายเชิดชัยยืนยันว่า ธนาคารยังไม่ได้มีนโยบายลดพนักงาน ส่วนโครงการเออร์ลี่รีไทร์ จะมีทุกปีสำหรับพนักงานที่อยากเกษียณ หรือพนักงานที่มีปัญหาสุขภาพซึ่งแต่ละปีก็จะมีพนักงานขอเกษียณอายุระดับ100 คนเท่านั้น สำหรับจำนวนสาขาของกรุงไทย ณ สิ้น ก.ย.อยู่ที่ 1,214 สาขา ไม่เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี′58 จำนวนพนักงาน 16,000 คน แบ่งเป็นพนักงานประจำสาขา 15,000 คน และอีก 1,000 คน ประจำอยู่สำนักงานเขตต่าง ๆ

เคแบงก์หยุดรับพนักงานเพิ่ม

นายปรีดี ดาวฉาย กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย กล่าวว่า การที่ดิจิทัลเข้ามามีบทบาทในระบบการเงินมากขึ้น เชื่อว่าทุกแบงก์เองก็ได้ตระหนักถึงการเตรียมรับมือต่าง ๆ ล่วงหน้าพอสมควร โดยเฉพาะการวางรูปแบบสาขา การรับพนักงานต่าง ๆ ซึ่งในส่วนของธนาคารกสิกรไทยปัจจุบันก็ไม่ได้มีการรับพนักงานเพิ่ม เพื่อบริหารคนให้สอดคล้องกับสาขาที่จะลดลงในอนาคต เชื่อว่าจำนวนสาขาที่ลดลง ยังสอดคล้องกับจำนวนพนักงานที่ลาออกต่อปี ซึ่งแต่ละปีจะมีการเทิร์นโอเวอร์ราว 10% ของพนักงานทั้งหมด ที่มีอยู่ 2.1 หมื่นคน

“ตอนนี้แบงก์ไม่ต้องเอาคนออก แต่การรับคนเพิ่มก็พิจารณามากขึ้น เช่นตำแหน่งที่ยังจำเป็นโดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับสายสินเชื่อที่ดูแลด้านธุรกิจ หากพนักงานขาดก็ยังรับทดแทน แต่สายอื่น ๆ มีการชะลอการรับ” นายปรีดีกล่าว

ด้านนางปรัศนี อุยยามะพันธุ์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ (BBL) กล่าวว่า รูปแบบสาขาอนาคตอาจต้องเปลี่ยนแปลงไป โดยเฉพาะพนักงานธนาคาร อาจต้องปรับเปลี่ยน โดยพนักงานประจำเคาน์เตอร์ต้องออกไปหาลูกค้ามากขึ้น เพื่อเสนอทั้งโปรดักต์ และบริการลูกค้ามากขึ้น หรือหันไปเป็นที่ปรึกษาทางการเงิน พนักงานยังมีความจำเป็นอยู่ แม้ว่าดิจิทัลจะมีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะเรื่องละเอียดอ่อนทางการเงินต่าง ๆ ที่ต้องใช้หลักการอธิบาย

ธนาคารยังไม่มีโครงการเออร์ลี่รีไทร์เพื่อลดคนเพราะระบบดิจิทัลเข้ามาแทนที่หรือเพราะภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวแต่มีโครงการเออร์ลี่ประจำปีที่เปิดโอกาสให้คนอายุมาก ๆ หรือมีปัญหาสุขภาพได้เท่านั้น

โดยปัจจุบันมีจำนวนสาขาอยู่ที่ 1,150 แห่ง เพิ่มขึ้นจากสิ้นปีที่มีจำนวน 1,138 สาขา ส่วนการเปิดสาขาในอนาคตขณะนี้ยังไม่มี ซึ่งธนาคารจะต้องพิจารณามากขึ้น โดยอาจขยายแค่ในส่วนของหัวเมืองใหญ่ ๆ เท่านั้น เพื่อรองรับธุรกรรมการเงินที่จะเกิดขึ้นในอนาคต

BAY ขยายสาขา-รับคน

ด้านนายวศิน อุดมรัชตวนิชย์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานพัฒนาองค์กร ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ธนาคารเชื่อว่าสาขาและตู้เอทีเอ็มยังเป็นสิ่งที่จำเป็น เพื่อรองรับความต้องการของลูกค้าในช่วงปี′59-60 ธนาคารยังไม่มีแผนในการลดสาขาในเร็ว ๆ นี้ เพราะเชื่อว่ายังมีช่องว่างของสาขาอีกมาก ที่ต้องเปิดเพื่อรองรับลูกค้าในพื้นที่ต่าง ๆ ที่ธนาคารยังเข้าไม่ถึง ทำให้ยังเห็นสาขาของธนาคารยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดย ณ สิ้น มิ.ย. 59 ธนาคารมีสาขาทั้งสิ้น 644 แห่ง จากสิ้นปีที่ผ่านมามีจำนวน 636 สาขา และคาดว่าในปี′60 จะเพิ่มขึ้นอีกราว 20-30 สาขา

เช่นเดียวกับตู้เอทีเอ็มที่ยังมีการติดตั้งเพิ่มทั่วประเทศ ล่าสุดอยู่ที่ 5,934 ตู้ จากสิ้นปีที่ผ่านมาที่จำนวน 5,635 ตู้ และจากความต้องการขยายสาขาและตู้เอทีเอ็มของกรุงศรี ทำให้แบงก์ยังมีการรับพนักงานเพิ่มต่อเนื่อง