ขุมทองใหม่ธุรกิจความงาม’Inter Beauty Vietnam 2019′

นางลัดดา มงคลชัยวิวัฒน์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท โกลบอล เอ็กซิบิชั่น แอนด์ คอนเวนชั่น เซอร์วิส จำกัด หรือ เก็คส์ บริษัทชั้นนำระดับนานาชาติในการจัดงานแสดงสินค้าและนิทรรศการกลุ่ม CLMV เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมความงามของสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม หรือ เวียดนาม เติบโตก้าวกระโดด มีอัตราเติบโตสูงถึงร้อยละ 30 โดยเฉพาะในกลุ่มมีผู้รายได้ระดับปานกลาง ซึ่งจะมีประชากรเพิ่มขึ้นถึง 33 ล้านคนในปี 2565

ปัจจุบัน เวียดนาม มีประชากรสูงกว่า 95 ล้านราย ร้อยละ 30 เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ หรือ millennials มีความรู้ สนใจใช้ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง รักการดูแลรักษาสุขภาพ ให้ความสำคัญกับคุณภาพ และชอบผลิตภัณฑ์หรือบริการนำเข้าจากต่างประเทศในปีที่ผ่านมา 2560 ชาวเวียดนามซื้อผลิตภัณฑ์เครื่องสำอางและบำรุงผิวนำเข้าจากต่างประเทศรวม 6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (198,000 ล้านบาท) สูงกว่าปี 2559 ถึง 3 เท่า

สำหรับปัจจัยสนับสนุนสำคัญเกิดจากการเติบโตของศูนย์การค้าของต่างชาติและท้องถิ่น รวมถึงร้านค้าสาขาที่จำหน่ายเครื่องสำอาง เช่น Medicare, Guardian, and Pharmacity ที่มีการขยายสาขาเป็นจำนวนมาก ส่วนแบ่งตลาด ตลาดธุรกิจความงามนำเข้าจากต่างประเทศมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด คิดเป็นร้อยละ 90 และครองตลาดบนทั้งหมด ส่วนที่เหลือเป็น ตลาดธุรกิจความงามภายในประเทศ จับตลาดล่างเป็นหลัก เนื่องจากสินค้าและบริการภายในประเทศไม่มีเงินทุนในการพัฒนาและวิจัยสินค้าบริการ ขาดแคลนนวัตกรรม การโฆษณาและการตลาด สำหรับตลาดออนไลน์ร้อยละ 50 ของสินค้าอุปโภคและบริโภคที่คนนิยมซื้อบนโลกออนไลน์คือ สินค้าความงาม โดยเครื่องสำอางและครีมบำรุงผิวหน้าเป็นที่นิยมมากที่สุด โดยสินค้ากลุ่มความงาม เป็นตลาดที่กำลังหอมหวนมากในเวียดนาม ใครที่สามารถเข้าไปตลาดได้ก่อน ย่อมสร้างการรับรู้และความรู้เกี่ยวกับแบรนด์ได้ก่อน นำเทรนด์ตลาดได้

ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคเวียดนามในกลุ่มธุรกิจความงาม มีความเชื่อว่าหากรูปลักษณ์ดี จะส่งผลต่ออาชีพ และรายได้ที่ดีขึ้น โดยได้รับอิทธิพลจากกลุ่มบล็อกเกอร์ และศิลปินดารา ทั้งนี้ กลุ่มที่น่าจับตามองมากที่สุดคือ สุภาพสตรีที่มีอายุระหว่าง 15-39 ปี รักการแต่งหน้า บำรุงผิวพรรณ ซึ่งมีประชากรประมาณ 20 ล้านราย คิดเป็นร้อยละ 40 ของประชากรหญิงทั้งหมดของเวียดนามเลยทีเดียวผลการสำรวจล่าสุดปี 2559 การยอมรับสินค้าประเภทความงามเพิ่มมากขึ้น ไม่ได้ต้องการแค่เพียงพื้นฐาน เริ่มสนใจในสินค้าปลีกย่อยมากขึ้น ได้แก่ แป้งรองพื้น ครีมล้างเครื่องสำอาง โทนเนอร์ล้างหน้า ครีมกันแดด ขณะเดียวกัน สินค้าระดับพรีเมียมด้านความงามก็เข้าตลาดเวียดนามเพิ่มขึ้นในกลุ่ม ครีมบำรุงผม ครีมบำรุงผิว ตลอดจนธุรกิจบริการด้านความงามอย่าง สปา ซาลอน และคลินิกความงาม กลุ่มสินค้าความงามที่เพิ่งเข้าตลาดใหม่ มักจะได้รับความนิยมซื้อและใช้จากกลุ่มเป้าหมายเพศหญิงอายุน้อยกว่า 20 ปี สินค้าที่เลือกซื้อชิ้นแรกของกลุ่มนี้คือ โฟมหรือครีมล้างหน้า

ช่องทางการสื่อสารหลักได้แก่ การแจกตัวอย่างสินค้า การส่งเสริมการขายในโรงเรียน, โรงภาพยนตร์, โรงอาหาร หรือ ศูนย์อาหาร และการเป็นสปอนเซอร์ในกิจกรรมต่างๆ การพิชิตใจกลุ่มเป้าหมายที่มีอายุมากขึ้น จำเป็นต้องสร้างเทรนด์ใหม่ ปลุกกระแสความต้องการ สร้างการรับรู้ในกลุ่มเป้าหมายก่อน จึงจะสามารถเข้าตลาดได้ง่าย สำหรับแบรนด์ขนาดเล็ก จะสามารถแข่งขันกับแบรนด์ขนาดใหญ่ที่อยู่ในตลาดได้ จำเป็นต้องสื่อสารหรือสร้างจุดขายที่เป็นเอกลักษณ์ เน้นส่วนผสมหรือสูตรที่พิเศษ หรือข้อเสนอพิเศษเฉพาะบุคคล เพื่อเจาะตลาดเฉพาะกลุ่มที่ยังมีอยู่เป็นจำนวนมากในเวียดนาม ทัศนคติของผู้บริโภคเวียดนาม สินค้าความงามนำเข้าจากต่างประเทศเป็นที่ชื่นชอบมากกว่าสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เนื่องจากมีความหลากหลายและราคาที่มากกว่า ต่างจากสินค้าท้องถิ่นที่เน้นการลดราคาเยอะๆ อ้างผลลัพธ์ที่เห็นได้รวดเร็ว และใช้ส่วนผสมจากธรรมชาติ

ทั้งนี้ บริษัทฯเล็งเห็นโอกาสกาสในการเติบโตของตลาดนี้จึงได้จัดงานแสดงสินค้าและบริการด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีความงาม หรือ Inter Beauty Vietnam ขึ้นเป็นครั้งแรก ณ ศูนย์แสดงสินค้าและนิทรรศการฮานอย หรือ  Hanoi International Center for Exhibition (HICE) ประเทศเวียดนาม ระหว่างวันที่ 7-9 มีนาคม 2562 โดยคาดว่าจะได้รับการตอบรับอย่างดีจากผู้ประกอบการทั่วโลก สนใจเข้าร่วมชมงานกว่า 7,000 ราย ร่วมแสดงงานกว่า 230 แบรนด์ สำหรับผู้ประกอบการไทยที่สนใจเปิดตลาดที่เวียดนาม สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่  คุณสุรีรัตน์ ทรรพวสุ โทร. 084-559-4441