ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
รูปปั้น‘จ่าแซม’ต้นแบบจริงเสร็จแล้ว อ.เฉลิมชัยระดมศิลปินหล่อ คนแห่ช่วยไม่คิดตังค์
วันที่ 21 ก.ค. ที่โรงเหล็ก วัดร่องขุ่น ต.ป่าอ้อดอนชัย อ.เมือง จ.เชียงราย อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติชาวเชียงราย พร้อมด้วยอาจารย์สราวุฒิ คำมูลชัย ศิลปินปั้นมือหนึ่ง ได้นำศิลปินชาวเชียงรายที่มีความสามารถด้านการปั้นอีกหลายคน ระดมกำลังกันนำดินน้ำมันทำการปั้นบนต้นแบบโฟมเป็นรูป น.ต.สมาน กุนัน หรือจ่าแซม อดีตหน่วยซีล ที่เสียชีวิตขณะข้าไปช่วยเหลือทีมฟุตบอลหมูป่าอะคาดามี 13 คน ภายในถ้ำหลวง วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย เมื่อวันที่ 5 ก.ค.ที่ผ่านมา โดยต้นแบบโฟมนี้ออกแบบโดยอาจารย์สราวุฒิ และนำไปขึ้นรูปโฟมที่ร้าน เอฟซ่ากัดโฟม อ.นครชัยศรี จ.นครปฐม
โดยตลอดทั้งวันศิลปินชาวเชียงรายได้ช่วยกันนำดินน้ำมันอย่างดีพอกบนโฟมเพื่อขึ้นรูปทรงสำหรับเป็นต้นแบบ จากนั้นมีกำหนดจะส่งไปหล่อด้วยโลหะบรอนด์ที่โรงหล่อเอเชียไฟอาร์ตที่ จ.พระนครศรีอยุธยาต่อไป ซึ่งการปั้นครั้งนี้ยังได้นำชุดและอุปกรณ์ดำน้ำของจ่าแซมมาดูเพื่อปั้นให้สมจริงด้วย ซึ่งพบว่ามีความหนักโดยเฉพาะถังออกซิเจนแต่ละถังหนักมากกว่า 30 ก.ก ซึ่งจ่าแซมพร้อมทีมหน่วยชีลต้องแบกเข้าออกถ้ำคนละ 3 ถังตลอดภาระกิจที่ผ่านมาด้วย ทำให้คณะศิลปินที่ร่วมกันปั้นรูปต่างตื่นตะลึงในความสามารถของหน่วยชีล
อาจารย์เฉลิมชัย กล่าวว่า ปัจจุบันได้นำเสนอแบบการก่อสร้างที่หน้าถ้ำภายในวนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ไปให้กับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืชแล้ว จึงได้เริ่มก่อสร้างจริงโดยกรณีของรูปปั้นนั้นพบว่าทั้งร้านโฟมที่ จ.นครปฐม และโรงหล่อที่ จ.พระนครศรีอยุธยา ต่างรับทำให้ฟรีโดยไม่คิดเงินโดยให้เหตุผลว่า อยากมีส่วนร่วมในการทำบุญครั้งนี้ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องที่น่าชื่นชม
“สำหรับขั้นตอนต่อไปคือการนำดินน้ำมันมาขึ้นรูปตามโฟมซึ่งจะมีการปรับปรุงแก้ไขบางจุด เพราะช่วงที่อาจารย์สราวุฒิทำต้นแบบนั้นมีเวลาจำกัดเพียงแค่ 1 คืน เช่น ทำให้หมูทั้ง 13 ตัวตรงฐานมีขนาดไล่เรี่ยกันโดยตัวเล็กสุดคือเด็กวัย 11 ขวบเป็นต้น โดยขั้นตอนนี้ใช้เวลาประมาณ 2 เดือนโดยจะมีศิลปินที่อาสาเข้ามาร่วมกันปั้นตามส่วนที่ตัวเองถนัดวันละอย่างน้อย 5 คนต่อ 1 สัปดาห์หมุนเวียนกันไปโดยมีอาจารย์สราวุฒิเป้นคนคุมงานและเปิดให้ประชาชนรวมถึงนักท่องเที่ยวได้เข้าไปชมได้ เมื่อแล้วเสร็จทางร้านเอเชียไฟอาร์ตก็จะมาทำแม่พิมพ์คาดว่าใช้เวลาอีกประมาณ 15 วัน แล้วนำไปหล่อโลหะอีกประมาณ 4 เดือน จึงยกไปตั้งที่หน้าศาลาภายในวนอุทยานได้”
“เพราะหากเปิดให้บริจาคก็มักมีคนนำไปพูดโอ้อวด ทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา ซึ่งจะทำให้เกิดความเข้าใจผิดว่าตนไประดมเงินจากชาวบ้านมาสร้าง อาจจลือกันไปว่าใช้เป็น 100 ล้านแล้วก็นินทากันไปต่างๆนานาทำให้ผมเสียหายได้ รวมทั้งประเภทบริจาคปูน หิน ดิน ทราย หรืออื่นๆ ตนก็จะขอรับด้วย กระนั้นหากมาในรูปแบบอื่นๆ เช่น เอฟซ่ากัดโฟมที่ จ.นครปฐม ร้านเอเชียไฟอาร์ตที่ จ.พระนครศรีอยุธยา
ที่ผมเคยจ้างให้ทำแต่กลับไม่รับเงินเพราะต้องการร่วมทำบุญด้วยผมก็ยอมรับได้และขอขอบคุณด้วยเป็นอย่างยิ่ง ขณะเดียวกันด้านการออกแบบรูปปั้นนั้นผมขอให้เป็นไปตามแนวความคิดของผม และไม่อยากให้ใครมาเกี่ยวข้องด้านการออกแบบ เพราะผมทำงานศิลปะระดับโลกจึงยืนยันในความงดงามอย่างแน่นอน และไม่อยากให้คนที่ไม่รู้เรื่องศิลปะและความสุนทรียภาพที่ต้องอาศัยการเรียนรู้มาวิพากษ์ด้วย แต่จะให้ผู้ที่มีสติปัญญาในการมองงานศิลปะได้เห็นว่ามีความสุดยอด”
ด้านอาจารย์สราวุฒิ กล่าวว่า คาดว่าการปั้นรูปจ่าแซมให้เสร็จสมบูรณ์จะใช้ดินน้ำมันประมาณ 1.2-1.3 ตัน ปัจจุบันพบว่ามีชาวบ้านทั้งผู้ใหญ่และเด็กจำนวนมากมาช่วยกันต้มดินน้ำมันให้อย่างไม่น่าเชื่อ โดยแต่ละคนต่างเสียสละมาทำกัน ขณะที่การทำโฟมรูปแบบดังกล่าวก็ต้องใช้ต้นทุนกว่า 60,000-70,000 บาท และการหล่อก็ใช้กว่า 4-5 ล้านบาท ก็ปรากฎว่าแต่ละรายต่างไม่ขอรับเงิน ด้านศิลปินก็แวะเวียนไปช่วยกันอย่างต่อเนื่อง ตนจึงถือว่างานนี้เป็นปรากฎการณ์ทุกฝ่ายช่วยกันเพื่ออุทิศให้กับจ่าแซมอย่างแท้จริงต่อไป