สุดอัศจรรย์! เพชรบูรณ์พบ ‘ทุ่งโขดหินฟอสซิล’ กว่า 200 ไร่ คาดเคยเป็นก้นมหาสมุทร

เมื่อวันที่ 7 กรกฎาคม นายวิศัลย์ โฆษิตานนท์ ประธานสภาวัฒนธรรมจังหวัดเพชรบูรณ์ เปิดเผยว่า จากการที่จังหวัดเพชรบูรณ์รวบรวมแหล่งธรณีวิทยาภายในจังหวัดจำนวน 21 แหล่ง เพื่อนำเสนอเป็นอุทยานธรณีวิทยา(จีโอปาร์ค)กับยูเนสโก ทำให้ชาวบ้านเริ่มมีการแจ้งข้อมูลใหม่ให้กับคณะทำงาน ล่าสุด ค้นพบแหล่งธรณีวิทยาภูน้ำหยด “โขดหินฟอสซิลดึกดำบรรพ์อายุ 240 ล้านปี” บริเวณหมู่ 12 บ้านยางจ่า ต.ภูน้ำหยด อ.วิเชียรบุรี แหล่งธรณีวิทยาที่ 22 ที่ชาวบ้านแจ้งว่าพบทุ่งโขดหินประหลาด ภายในมีฟอสซิลหอยอายุหลายล้านปีเต็มไปหมด บนที่ดิน สปก.ราว 200 ไร่ ทางทีมสำรวจซึ่งประกอบด้วย ดร.สมบุญ โฆษิตานนท์ นักวิชาการจากกรมทรัพยากรธรณีวิทยา, นายอรุณ เมฆฉาย นายอำเภอวิเชียรบุรี รวมทั้งกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน จึงลงสำรวจเมื่อวันที่ 6 กรกฎาคมที่ผ่านมา

นายวิศัลย์กล่าวว่า อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจเบื้องต้นพบว่า บริเวณดังกล่าวเคยเป็นท้องทะเล หรือมหาสมุทรมาก่อน แต่ภายหลังเกิดปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยา ทำให้เกิดโขดหินซึ่งมีลักษณะแปลกประหลาด ภายในโขดหินเหล่านี้มีตั้งแต่ก้อนหินขนาดเล็กไปถึงแนวโขดหินขนาดใหญ่ ภายในมีซากฟอสซิลสัตว์และพืชใต้ท้องทะเลนานาชนิด อาทิ ปะการัง หอยฝาเดียว หอยสองฝา เรดิโอลาเรียน ฟิวซูลินิคและอื่นๆ อีกมากมาย โดยสามารถสังเกตหรือมองเห็นด้วยตาเปล่าได้อย่างชัดเจน ที่สำคัญโขดหินเหล่านี้ยังปรากฏไปทั่วพื้นที่มีสภาพเป็นดงหรือเป็นทุ่งโขดหิน แบบกว้างไกลสุดสายตา ซึ่งประมาณการณ์ว่าคงมีพื้นที่ไม่ต่ำกว่า 200 ไร่ สันนิษฐานว่าบริเวณนี้เป็นก้นมหาสมุทร หรือก้นทะเล เกิดในยุคเพอร์เมียนอายุราว 240-280 ล้านปี โดยเกิดจากแผ่นดินเปลือกโลกมีการเคลื่อนที่และดันตัวขึ้นสู่ผิวโลก ทำให้เกิดปรากฎการณ์ทางธรณีวิทยา ซึ่งมีการสะสมของหินปูนใต้ทะเลและยังเป็นตัวเชื่อมเกิดการแตกหักกระจาย หลังกาลเวลาผ่านไปยาวนานทำให้บริเวณนี้กลายเป็นแนวโขดหินซึ่งมีซากดึกดำบรรพ์ดังกล่าวขึ้น นับว่าเป็นสิ่งอัศจรรย์ทางธรณีวิทยา ที่มีความยิ่งใหญ่จัดอยู่ในอันดับโลกด้วย จึงต้องมีการพูดคุยโดยให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมในการอนุรักษ์ สามารถจะทำให้เป็นสถานที่เรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวที่ก่อให้เกิดรายได้แก่ชุมชนท้องถิ่นต่อไปในภายภาคหน้า