ผู้เขียน | ประชาชาติธุรกิจออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
กทม.เล็งปรับบีทีเอส 1.8 ล้านบาท เหตุทำรถไฟฟ้าช้ากว่าเกณฑ์ KPI ที่ตั้งไว้ ย้ำแก้สัญญาสัมปทานไม่ได้ เพราะไม่ได้เปิดช่องไว้ ด้านบีทีเอสเตรียมติดตั้งระบบป้องกันคลื่นกวน เผย 1 เดือนเสร็จ
นายสกลธี ภัททิยกุล รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่าหลังจากการหารือกับ บมจ.ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ (บีทีเอส), สำนักการจราจรและขนส่ง กทม. และบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด (เคที) ได้ข้อสรุปว่า กทม.จะมีการพิจารณาเปรียบเทียบปรับค่าจ้างเดินรถบีทีเอส เป็นจำนวนเงิน 1,800,000 บาท จากปัญหาความขัดข้องที่เกิดขึ้นในเดือน มิ.ย.นี้ คิดเป็นอัตรา 0.6% จากสัญญาเดินรถจำนวน 300 ล้านบาท และมาจากการที่บีทีเอสไม่สามารถเดินรถได้ตามตัวชี้วัด (KPI) ด้านการตรงต่อเวลาที่ 97.5% แต่ต้องดูว่าการหยุดเดินรถในเดือนนี้จะมีผล KPI เท่าไหร่
ส่วนมาตรการเยียวยาในเบื้องต้น ผู้ที่ใช้บัตรแรบบิท หากไม่ประสงค์จะเดินทางแล้ว จะคืนค่าโดยสารให้เต็มจำนวน ส่วนผู้ที่ซื้อบัตรที่สถานี หากไม่ประสงค์จะเดินทาง จะคืนค่าโดยสารให้เต็มจำนวนเช่นกัน และผู้ที่ประสงค์จะเดินทาง แต่รอนานมากกว่า 30 นาที ทางบีทีเอสชี้แจงว่า มาตรการเยียวยาจะพิจารณาเป็นรายกรณีไป ขอหารือกับทางบริษัทก่อน
ด้านนายสุรเชษฐ์ แสงชโยสวัสดิ์ ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) ในฐานะตัวแทนของบีทีเอส กล่าวว่า จะดำเนินการย้ายช่องความถี่สื่อสารของระบบอาณัติสัญญาณไปใช้คลื่นความถี่ช่อง 2480 – 2495 เมกกะเฮิรตซ์ โดยจะดำเนินการให้แล้วเสร็จในวันศุกร์นี้ (29 มิ.ย.) โดยจะทดสอบระบบในช่วงหลังปิดให้บริการ และมั่นใจว่าในวันเสาร์นี้ (30 มิ.ย.) จะมีปัญหาน้อยลง
ส่วนการลงทุนระบบป้องกันสัญญาณคลื่นความถี่รบกวนนั้น จะใช้ระบบป้องกันของ บอมบาร์ดิเอร์ ซึ่งบีทีเอสได้ใช้ระบบอาณัติสัญญาณของบริษัทนี้อยู่แล้ว จะดำเนินการติดตั้งหลังจากที่ขยับคลื่นความถี่แล้ว ใช้เวลาดำเนินการติดตั้งประมาณ 1 เดือน ซึ่งการลงทุนส่วนนี้จะไม่มีผลกับการขึ้นราคาค่าโดยสารแต่อย่างใด