ปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ไม่กระทบชาวบ้าน ‘กาฬสินธุ์’ แยกชิ้นส่วนประกอบหารายได้เพิ่ม

จากการติดตามบรรยากาศการประกอบอาชีพของชาวบ้านในจังหวัดกาฬสินธุ์ ในช่วงเข้าสู่ฤดูกาลทำนา ที่ส่วนมากได้ลงมือไถ คราด และหว่านเมล็ดข้าว ซึ่งมีทั้งทำนาหว่านและตกกล้า เพื่อถอนปักดำในอีก 1 เดือนข้างหน้า นอกจากนี้ยังพบว่ามีหลายหมู่บ้าน ที่ประกอบอาชีพค้าขาย และอุตสาหกรรมเล็กน้อยๆในครัวเรือนเป็นอาชีพเสริม โดยเฉพาะที่น่าจับตาคืออาชีพคัดแยกชิ้นส่วนเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่บ้านหนองบัว ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์

เมื่อวันที่ 23 มิถุนายน  นายเรืองยศ ภูกฐิน ผู้ใหญ่บ้านหนองบัว หมู่ 11 ต.โคกสะอาด อ.ฆ้องชัย จ.กาฬสินธุ์ กล่าวว่า การนำเครื่องใช้ไฟฟ้าเก่า อย่างเช่น พัดลม ตู้เย็น เครื่องซักผ้า หรืออุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์อย่าง ทีวี คอมพิวเตอร์ มือถือ มาคัดแยก เพื่อนำชิ้นส่วนที่พอมีมูลค่า มารีไซเคิล เพื่อสร้างมูลค่านั้น พื้นที่ตำบลเราทำกันมากว่า 20 ปี แต่เดิมจะมีการออกเร่หาตามหมู่บ้านต่างๆ ทั้งซื้อมาในรูปแบบของเก่า ของใช้มือสอง บางคนก็รอรับซื้อที่บ้าน โดยมีพ่อค้าเร่นำมาส่งถึงบ้าน จากนั้นก็จะทำการคัดแยกในครัวเรือน

“การคัดแยกของเก่าเพื่อรีไซเคิล หรือสร้างมูลค่าเพิ่ม เช่น พัดลม เครื่องซักผ้าที่ได้มา เรานำมาคัดแยกเอาชิ้นส่วนที่มีสภาพดีไว้ จากหลายๆตัว อาจจะ 5 ตัว 10 ตัว ก็จะได้ชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์ที่มีสภาพดี ใช้งานได้ นำมาประกอบกันเป็นพัดลมตัวใหม่ และเครื่องซักผ้าใหม่ จากที่ซื้อมาในราคาของเก่าตัวละไม่กี่บาท ก็ตั้งราคาขายเป็นสินค้ามือสอง พัดลมตัวละ 300-500 บาท เครื่องซักผ้าก็ตัวละ 3,000 – 5,000 บาท เฉลี่ยแล้วจะมีรายได้จากการนำของเก่ามาคัดแยกและประกอบเป็นสินค้ามือสอง เดือนละไม่น้อยกว่า 10,000 ทีเดียว ซึ่งถือเป็นรายได้ดี ซึ่งทำกันง่ายๆ ใช้เวลาว่างจากการทำนา ที่ดีกว่าไปทำอย่างอื่น”

ขณะที่นายต๋อง จันดาโชติ อายุ 35 ปี ชาวบ้านหนองบัว กล่าวว่า ครอบครัวตนจะทำการคัดแยกเฉพาะอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี คอมพิวเตอร์ โดยมีพ่อค้าเร่นำมาขายให้ ทั้งนี้จะคัดแยกเอาส่วนที่พอมีราคา เช่น ทองแดง โลหะ แผ่นเหล็ก ซึ่งกว่าจะได้แต่ละชิ้น หรือสะสมเป็นกิโล ก็ต้องใช้ความพยายามเป็นอย่างมาก แต่ก็เป็นอาชีพที่น่าทำและรักในอาชีพนี้ เพราะทำให้ครอบครัวมีฐานะดีขึ้น พออยู่พอกิน ไม่ต้องดิ้นรน ไปทำงานที่อื่น โดยเฉพาะได้อยู่กับครอบครัว

นายต๋อง กล่าวต่อว่า ครอบครัวเราประกอบอาชีพคัดแยกอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์มากว่า 10 ปี มีรายได้เดือนละ 15,000 – 20,000 บาท ครอบครัวอื่นๆที่ประกอบอาชีพเดียวกันก็จะประมาณนี้ บางครอบครัวทำเป็นอาชีพเสริม บางครอบครัวทำเป็นอาชีพหลัก แล้วแต่จำนวนแรงงานในครัวเรือน ทั้งนี้ ส่วนที่เหลือจากการคัดแยก ที่ไม่มีมูลค่าที่เรียกว่าขยะอิเล็กทรอนิกส์นั้น จะทำไปทิ้งที่บ่อขยะที่ อบต.โคกสะอาดจัดไว้ให้ ซึ่งอยู่ห่างจากชุมชนประมาณ 3 กิโลเมตร ซึ่งทาง อบต.สามารถบริหารจัดการได้ ไม่เกิดปัญหาขยะล้น

“ในส่วนที่เกิดกระแสข่าวปัญหาขยะอิเล็กทรอนิกส์ และส่งผลกระทบต่อสุขภาพนั้น ส่วนตัวยอมรับว่ากระทบน้อยมาก เนื่องจากชุมชนเราเป็นชุมชนย่านชนบท ที่อยู่อาศัยไม่หนาแน่น บริเวณหมู่บ้านโล่งโปร่ง และไม่ได้ทำกันในรูปแบบโรงงาน เราทำกันในครัวเรือน อากาศถ่ายเทสะดวก และมีการป้องกันตนเองขณะทำการัดแยกขยะ เช่น สวมถุงมือ ใส่หน้ากาก และเข้ารับการตรวจสุขภาพกับเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเป็นประจำ ซึ่งไม่พบว่าได้รับสารอันตรายที่สัมผัสจากขยะอีเล็กทรอนิกส์แต่อย่างไร ขณะที่ชาวบ้านคนอื่นที่ประกอบอาชีพเดียวกัน ก็ไม่ได้หวาดผวาตื่นกลัวกับโรคภัยที่เกิดจากขยะอิเล็กทรอนิกส์ เพราะได้รับการตรวจสุขภาพเหมือนกัน ผลออกมาเหมือนกัน จึงจะยังประกอบอาชีพนี้ต่อไป เพราะรายได้ดีกว่าที่จะไปประกอบอาชีพอย่างอื่น” นายต๋องกล่าว