“ผู้บริหารท้องถิ่น” ควักเงินซื้อสับปะรดแจกพนักงาน ช่วยชาวสวนเชียงราย

นายวันชัย จงสุทธนามณี นายกเทศมนตรีนครเชียงราย เปิดเผยว่า ได้นำเงินส่วนตัวมาซื้อสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย เพื่อแจกจ่ายให้กับพนักงานและเจ้าหน้าที่ของเทศบาลนครเชียงราย ตลอดจนประชาชนที่มาติดต่องานบางส่วน โดยได้จัดซื้อมาจากชาวสวนพื้นที่ตำบลป่าหุ่ง อำเภอพาน จังหวัดเชียงราย ในราคากิโลกรัมละ 1 บาท โดยซื้อจำนวน 15 ตัน แบ่งนำมาแจกจ่ายวันละ 5 ตัน ทั้งนี้เพื่อช่วยชาวสวน ซึ่งประสบกับปัญหาวิกฤตอย่างหนัก นอกจากราคาสับปะรดจะตกต่ำในรอบหลายปี โดยอยู่ในราคากิโลกรัมเพียง 1-2 บาท แล้วยังไม่มีตลาด ทางจังหวัดจึงจัดโครงการช่วยเหลือสนับสนุนกันช่วยเหลือและช่วยกันบริโภคเองให้เกษตรกรมีตลาดจำหน่ายจนกว่าจะหมดช่วงฤดูกาลเก็บเกี่ยว ซึ่งปัจจุบันยังเก็บได้เพียงร้อย 40-50 เท่านั้น

นายวันชัย กล่าวว่า ส่วนการช่วยเหลือในระยะยาวทางเทศบาลมีโครงการที่จะก่อสร้างศูนย์พืชผักปลอดภัยจากสารพิษโดยตั้งอยู่บริเวณสถานที่องค์การรับส่งสินค้าและพัสดุภัณฑ์ หรือ ร.ส.พ. (เก่า) หน้าตลาดสดเทศบาล 2 (ศิริกรณ์) ถนนบรรพปราการ เทศบาลนครเชียงราย เนื้อที่ประมาณ 3 ไร่ เพื่อให้เป็นสถานที่สำหรับทำการตรวจสอบคุณภาพของพืชผลทางการเกษตรโดยเฉพาะส่งเสริมให้ได้พืชผลปลอดสารพิษอย่างแท้จริง โดยเบื้องต้นได้ร่วมกับทางมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาเชียงราย มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงราย (มรช.) ในการศึกษาเรื่องนี้แล้ว ขั้นตอนอยู่ระหว่างการก่อสร้างอาคาร คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ภายในต้นปี 2562 ต่อไป

โดยศูนย์ดังกล่าวจะเป็นอาคารสูง 2 ชั้น ใช้งบประมาณดำเนินการประมาณ 10 ล้านบาท ภายในมีระบบตรวจสอบพืชผักและนักวิชาการที่สามารถยืนยันคุณภาพผลผลิตที่นำเข้าสู่ระบบ ซึ่งพืชผักที่ผ่านศูนย์จะได้รับการยืนยันและอนาคตจะมีการคิดค้นตราหรือโลโก้เพื่อให้สามารถนำออกวางจำหน่ายเพื่อสร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคได้อีกด้วย ส่วนการนำผลผลิตเข้าสู่ระบบและการซื้อขายนั้นจะมีสหกรณ์ที่เกี่ยวข้องเข้าไปดำเนินการกันเองโดยทางเทศบาลเป็นหน่วยงานให้บริการทางสาธารณะและมุ่งหวังให้ทุกฝ่ายไปใช้บริการได้เพื่อให้เกิดตลาดปลอดสารพิษในเชียงรายอย่างแท้จริง

นายวันชัย กล่าวอีกว่า ปัจจุบันราคาผลผลิตเกษตรหลายอย่างมีราคาตกต่ำเพราะปลูกกันมากขณะที่พืชผักที่ปลอดสารพิษกลับได้ราคาที่สูงกว่าและเริ่มมีกระแสความนิยมมากขึ้น ดังนั้น ศูนย์ดังกล่าวสามารถตอบโจทย์ข้อนี้ได้เป็นอย่างดีโดยหากมีการบริหารจัดการการปลูกและรับซื้อผ่านสหกรณ์ได้อย่างลงตัวก็จะทำให้ไม่มีการปลูกพืชใดๆ มากเกินไป จากนั้นนำเข้าสู่ศูนย์เพื่อตรวจยืนยันการปลอดสารพิษก็จะสามารถจำหน่ายได้ในราคาดีต่อไป ทั้งนี้การก่อสร้างศูนย์ใช้ระยะเวลา 8 เดือน คาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.พ. 2562 และเมื่อปรับระบบภายในแล้วจะสามารถเปิดให้บริการได้ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2562 เป็นต้นไป ต่อไป

ที่มา มติชนออนไลน์