กัมพูชาเคาะขึ้น “ค่าแรง” หวังดึงเเรงงานกลับ

การเจรจาปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานในกัมพูชา ซึ่งลากยาวมา 3 เดือน จากที่มีข้อเสนอค่าจ้างถึง 3 อัตราด้วยกัน คือ 147 ดอลลาร์ 153 ดอลลาร์ และ 171 ดอลลาร์ต่อเดือน ซึ่งที่ผ่านมาสหภาพแรงงานแสดงจุดยืนเพื่อเรียกร้องค่าแรงอย่างเป็นธรรมกับรัฐบาล โดยระบุว่าการปรับเพิ่มค่าแรงควรสอดคล้องกับการถูกยกระดับให้เป็นประเทศที่มีรายได้ปานกลางระดับต่ำ

ในที่สุดกระทรวงแรงงาน สหภาพแรงงาน และสภาที่ปรึกษาแรงงาน (LAC) ได้บรรลุการเจรจาเรื่องการปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำของแรงงานแล้ว พนมเปญ โพสต์รายงานว่า อัตราค่าจ้างแรงงานเดิมอยู่ที่ 140 ดอลลาร์ต่อเดือน แต่ล่าสุดผลการหารือตัวแทนทุกฝ่ายเห็นพ้องที่จะปรับเพิ่มค่าจ้างแรงงานขั้นต่ำเป็น 148 ดอลลาร์ โดยที่รัฐบาลให้การสนับสนุนอีก 5 ดอลลาร์ รวมเป็น 153 ดอลลาร์ต่อเดือน (ประมาณ 5,300 บาท) โดยการปรับเพิ่มค่าจ้างจะนำร่องที่อุตสาหกรรมผลิตรองเท้าและเครื่องนุ่งห่มก่อน และจะมีผลตั้งแต่ปี 2560 เป็นต้นไป

 

อุตสาหกรรมการผลิตทั้งสองถือเป็นภาคที่สร้างงานให้แก่ประชาชนถึง 600,000 ตำแหน่ง และทำรายได้เข้าประเทศราว 6,000 ล้านดอลลาร์ต่อปี ถึงแม้ที่ผ่านมารัฐบาลมีนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจ ทั้งสินค้าเกษตร อุตสาหกรรมการผลิต และการท่องเที่ยว แต่วิกฤตการเงินโลกขณะนี้เพิ่มความไม่แน่นอนของภาคการท่องเที่ยวมากขึ้น โดยเฉพาะผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน ทำให้นักท่องเที่ยวจีนหดตัวลงอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ความแปรปรวนของสภาพอากาศยังส่งผลต่อการเพาะปลูก

น่าสนใจว่าท่ามกลางความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกอุตสาหกรรมการผลิตของกัมพูชากลับยังสามารถเติบโตทำเงินสวนทางกับภาคธุรกิจอื่น ๆ โดย สำนักข่าวซินหัวของจีน รายงานว่า ยอดส่งออกรองเท้าและเสื้อผ้าของกัมพูชาเพิ่มขึ้น 8.3% ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีก่อน ด้วยมูลค่า 3,880 ล้านดอลลาร์

หนึ่งในผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสิ่งทอ กัมพูชา เผยว่า “ตอนนี้เราได้รับออร์เดอร์สินค้าจากนักธุรกิจเกาหลีใต้มากขึ้น แต่การผละงานประท้วงของสหภาพแรงงานช่วงหลายเดือนที่ผ่านมา เป็นปัญหาลากยาว ทำให้เราขาดแคลนแรงงาน และผลิตสินค้าไม่เพียงพอต่อการส่งออก”

ขณะที่คำแถลงของกระทรวงแรงงานระบุว่า “การปรับเพิ่มค่าแรงขั้นต่ำจะช่วยยกมาตรฐานความเป็นอยู่ของแรงงานกัมพูชา และกระตุ้นการผลิตให้มากพอต่อตามความต้องการที่จะเพิ่มขึ้น ส่วนผลประโยชน์อื่น ๆ ที่แรงงานเคยได้รับก็ยังคงมีอยู่เช่นเดิม”

อย่างไรก็ตาม ตัวเลขที่สรุปออกมานี้ยังต่ำกว่าที่สหภาพแรงงานเรียกร้อง 171 ดอลลาร์ต่อเดือน โดยตัวแทนภาครัฐให้เหตุผลว่า เศรษฐกิจกัมพูชามีการเติบโตอย่างค่อยเป็นค่อยไป ซึ่งความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอกก็พร้อมจะเกิดขึ้นเสมอ ดังนั้นรัฐบาลจำเป็นต้องตั้งรับ แต่เชื่อว่าค่าแรงขั้นต่ำที่เรียกร้องจะสามารถไต่ขึ้นแตะระดับตามที่ต้องการได้ภายในปลายปี 2560 หรือในปีถัดไป แต่ต้องประเมินสถานการณ์ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกเป็นสำคัญ

อุตสาหกรรมสิ่งทอ เครื่องนุ่งห่ม และการผลิตรองเท้าของกัมพูชา จำเป็นต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความสมดุล
เพราะการปรับค่าแรงให้สูงขึ้นจะสร้างความพึงพอใจให้แก่แรงงาน และอาจกระตุ้นให้แรงงานกลับมาทำงานที่ภูมิลำเนามากขึ้น ซึ่งรัฐบาลฮุน เซน พยายามมาโดยตลอดในการสร้างแรงจูงใจให้กับแรงงานกัมพูชาที่อพยพไปทำงานนอกประเทศ โดยเฉพาะประเทศไทย ให้กลับมาทำงานในบ้านเกิด เพราะกังวลว่าในอนาคตอันใกล้ กัมพูชาอาจเผชิญกับภาวะเสี่ยงการขาดแคลนแรงงาน จนส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจการเข้ามาลงทุนของต่างชาติก็เป็นได้

ขณะที่ช่วงหลายเดือนที่ผ่านมาเกิดปัญหาโรงงานในกัมพูชากว่า122 แห่ง ต้องปิดตัวลง รายงานจากองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) ระบุสาเหตุว่า เป็นผลกระทบอย่างรุนแรงจากค่าแรงที่ปรับขึ้นอย่างรวดเร็วใน 2 ปีที่ผ่านมา ซึ่งโรงงานที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่เป็นผู้ประกอบการขนาดกลางและเล็ก

ท่ามกลางความน่ายินดีกับแรงงานกัมพูชาที่จะสามารถลืมตาอ้าปากได้บ้างทว่าความกังวลที่จะเกิดขึ้น คือ หากค่าแรงขั้นต่ำที่รัฐบาลกำหนดมีแนวโน้มให้ปรับเพิ่มขึ้นทุกปี โดยไม่มีเพดาน จะยิ่งเพิ่มความท้าทายต่อผู้ประกอบการ และอาจเป็น “ปัจจัยผลัก” ให้นักลงทุนออกไปหาแหล่งผลิตใหม่ที่มีค่าจ้างถูกกว่า เช่น บังกลาเทศ ที่ถือเป็นหนึ่งในแหล่งการผลิตสิ่งทอสำคัญของโลก รองจากเวียดนาม เมียนมา และกัมพูชา ซึ่งมีค่าจ้างแรงงานที่ถูกกว่ากัมพูชา 2 เท่า อยู่ที่ 64 ดอลลาร์ต่อเดือนเท่านั้น

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ