นักวิจัยชี้ การ”คอร์รัปชัน” คือตัวฉุดประเทศ ไม่ก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลางสักที

 

 

สกว.จัดเวทีเผยแพร่งานวิจัยเชิงนโยบาย หวังหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางด้วยวิจัยและนวัตกรรม ชี้อนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ 4.0 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.1 โดยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีสัดส่วนที่ร้อยละ 9 ของจีดีพี ‘แฟชั่น’ สัดส่วนสูงสุด แต่ต้องเร่งติดอาวุธทางความคิดและจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าเพื่อสร้างมูลค่า

รศ. ดร.ปัทมาวดี โพชนุกูล รองผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ด้านการวิจัยเชิงยุทธศาสตร์ เป็นประธานเปิดโครงการสัมมนาเผยแพร่งานวิจัยเชิงนโยบายภายใต้การวิจัยเชิงยุทธศาตร์เรื่อง “การหลุดพ้นกับดักประเทศรายได้ปานกลางด้วยวิจัยและนวัตกรรม” ณ โรงแรมเดอะ สุโกศล กรุงเทพฯ ซึ่งจัดโดยโครงการกิจกรรมการเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบาย และสำนักประสานงานการวิจัยการและพัฒนาชุด”การหลุดพันกับดักประเทศรายได้ปานกลาง” ภายใต้การสนับสนุนของ สกว. เพื่อเผยแพร่สร้างความเชื่อมโยงงานวิจัยกับภาคนโยบายในการนำงานวิจัยไปใช้ประโยชน์

 

รองผู้อำนวยการ สกว. ระบุว่ามีหลายมิติที่เป็นสาเหตุหรือตัวฉุดให้ประเทศของเราไม่สามารถก้าวข้ามกับดักรายได้ปานกลาง เช่น คอร์รัปชัน การศึกษา คุณภาพคน ความเหลื่อมล้ำในสังคม จึงจำเป็นต้องมีงานวิจัยและนวัตกรรมเข้ามาโดยสร้างแพลทฟอร์มการออกแบบเชิงนโยบายให้เกิดนวัตกรรมในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ที่จะเป็น “หัวรถจักร” ของประเทศให้พ้นจากกับดักดังกล่าว ซึ่งจะต้องขับเคลื่อนผลักดันให้สุดทางและมีงานวิจัยอย่างต่อเนื่อง ภาคนโยบายและภาคอุตสาหกรรมจะต้องเข้ามามีส่วนร่วม โดยมีภาควิชาการเป็นตัวกลาง ซึ่งการประชุมในครั้งนี้จะทำให้เห็นช่องว่างเชิงความรู้ที่ยังต้องการสร้างความรู้เพื่อไปขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป

ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิจัยจากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) กล่าวถึงงานวิจัย “แนวคิดการคัดเลือกและผลักดันอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ของไทยเพื่อผลักดันประเทศให้พ้นกับดักรายได้ปานกลาง” ว่าอนาคตเศรษฐกิจไทยภายใต้ 4.0 จะเติบโตที่ร้อยละ 3.1 โดย 10 อุตสาหกรรมต้องการอัตราการเจริญเติบโตเฉลี่ยร้อยละ 7.2 ต่อปี เพื่อที่จะสร้างผลเกี่ยวเนื่องกับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ให้เติบโตร้อยละ 3.9 ต่อปี ซึ่งจะทำให้อัตราเจริญเติบโตของไทยเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 4.7 ต่อปี และจะทำให้ไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลางภายในปี 2579 หรือ ณ สิ้นสุดแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีตามเป้าหมายของภาครัฐ

 

สำหรับข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย ที่สำคัญและต้องระวังคือ การวางกรอบที่ยาวนานเกินไปและยึดติด 10 อุตสาหกรรมมากไป เพราะีกรอบ 20 ปี สถานการณ์ในอนาคตสามารถเปลี่ยนแปลงได้ สินค้า เทคโนโลยี อุตสาหกรรมที่เคยมีความเหมาะสมอาจจะไม่เหมาะสมอีกต่อไป จึงควรเปิดโอกาสและปรับลดกลุ่มอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ตามสถานการณ์ความเหมาะสม นอกจากนี้กรอบธรรมาภิบาลในการควบคุมการพัฒนาก็เป็นกลไกสำคัญในการผลักดันอุตสาหกรรมไปสู่เป้าหมาย ภาครัฐควรกำหนดเป้าหมายการพัฒนาของแต่ละกลุ่มอุตสาหกรรมที่ชัดเจน เช่น เป้าหมายของการเติบโตของมูลค่าเพิ่มของอุตสาหกรรมยุทธศาสตร์ไม่น้อยกว่าร้อยละ 5-7.2 ต่อปี

 

ข้อคำนึงถึงที่สำคัญ ได้แก่ นโยบายสนับสนุนอุตสาหกรรมควรจะมีความชัดเจน แน่นอน และมีความต่อเนื่องในระยะเวลาที่สมควร การเปลี่ยนแปลงทิศทางการสนับสนุนอุตสาหกรรมโดยปราศจากเหตุผลที่เหมาะสมจะทำให้เกิดความเสี่ยงในการลงทุน ภาครัฐควรเปิดใจให้ภาคเอกชนเข้ามามีบทบาทมากขึ้นเพื่อลดความเสี่ยง และต้องระวังการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ที่จะเข้ามาผลักดันการสนับสนุนอุตสาหกรรมที่ไม่มีศักยภาพหรือมีศักยภาพน้อย

ขณะที่ ผศ. ดร.พงษ์ธร วราศัย และคณะ จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยถึง “ความสำคัญของกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ต่อการผลักดันเศรษฐกิจไทย แนวคิดในการคัดเลือกอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมาย” พบว่าอุตสาหกรรมสร้างสรรค์มีสัดส่วนที่ร้อยละ 9 ของจีดีพี โดยอุตสาหกรรมแฟชั่นมีสัดส่วนต่อจีดีพีสูงสุด คิดเป็นมูลค่า 7 แสนล้านบาท รองลงมาคือ สื่อใหม่ และอุตสาหกรรมฝีมือและหัตถกรรม จากการวิเคราะห์ตัวทวีคูณพบว่าอุตสาหกรรมสื่อใหม่ (ซอฟต์แวร์) มีตัวทวีคูณสูงที่สุดในกลุ่มอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ ขณะที่แรงงานในเศรษฐกิจสร้างสรรค์มีจำนวนทั้งสิ้น 1.89 ล้านคนในระบบเศรษฐกิจ ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมแฟชั่นและหัตถอุตสาหกรรม

 

นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มอุตสาหกรรมบริการงานสร้างสรรค์มีโอกาสเติบโตสูงสุดจากแบบจำลอง และจะช่วยให้ประเทศของเราหลุดพ้นกับดักรายได้ปานกลางเร็วขึ้น 2 ปี อย่างไรก็ตามไทยยังไม่ใช่ผู้นำที่กำหนดทิศทางแฟชั่นโลก จึงควรจัดกิจกรรมจับคู่ทางธุรกิจกับกลุ่มผู้ประกอบการและนักออกแบบอย่างต่อเนื่อง เช่น กรุงเทพฯ เมืองแฟชั่น สำหรับประเด็นท้าทายเชิงนโยบาย ได้แก่ การขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ผ่านกรอบความคิดและนวัตกรรม ต้องปรับความคิดของผู้ประกอบการและการเป็นองค์กรที่ปรับตัวได้อย่างรวดเร็ว ทันต่อการเปลี่ยนแปลงทั้งภายในและภายนอก เพราะเป็นหัวใจสำคัญต่อการขับเคลื่อนให้บรรลุเป้าหมาย นอกจากนี้ยังต้องให้ความสำคัญกับนวัตกรรมองค์กรและกระบวนการในลำดับต้น ๆ ผลิตภัณฑ์นวัตกรรมจะเกิดเมื่อแรงงานมีทักษะ มีการบ่มเพาะประสบการณ์สะสม และผู้ประกอบการกำหนดทิศทางมุ่งสู่ตลาดโลกอย่างชัดเจน

 

คณะวิจัยยังระบุด้วยว่า การพัฒนาพื้นที่ทางเศรษฐกิจเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์จำเป็นต้องคำนึงถึงการกระจุกตัวและการกระจายตัว รวมถึงคุณลักษณะของแรงงานสร้างสรรค์ในพื้นที่ ทั้งนี้กำลังแรงงานสร้างสรรค์ถือเป็นหัวใจสำคัญของทุนทางปัญญาและทุนทางวัฒนธรรม จึงต้องมีการผสานเทคโนโลยีเข้ากับความคิดสร้างสรรค์ เราต้องใส่ทุนทางปัญญาให้กับแรงงาน พัฒนาทักษะแรงงาน ภูมิปัญญา และความคิดสร้างสรรค์ บ่มเพาะประสบการณ์จากการทำงานจริง อย่างไรก็ตาม การขาดแคลนแรงงานยังไม่ใช่ปัญหาระนาบกว้างแต่เป็นปัญหาเรื่องสุขภาพที่ควรได้รับการแก้ไขและดูแลอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ยังต้องส่งเสริมการสร้างทรัพยากรมนุษย์และทรัพย์สินทางปัญญา ติดอาวุธทางความคิด โดยเฉพาะการจดทะเบียนเครื่องหมายการค้าซึ่งเป็นสิ่งจำเป็น เพราะเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้า

 

ด้านผลงานวิจัย “การจัดทำแนวทางพัฒนาเทคโนโลยีและการจัดทำแผนที่นำทาง กรณีศึกษาอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ” โดย ดร.วรินธร สงคศิริ ศูนย์ความเป็นเลิศเฉพาะทางด้านการจัดการและใช้ประโยชน์ของเสียอุตสาหกรรมการเกษตร และนายถาวร รัตติทิวาพาณิชย์ นักวิเคราะห์โครงการสำนักประสานงานชุดโครงการอุตสากรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ พบว่าสถานการณ์เศรษฐกิจฐานชีวภาพในระดับนานาชาติ มีการคาดการณ์มูลค่าตลาดพลาสติกชีวภาพโลกจะเพิ่มขึ้น 203,300 ล้านบาทในปี 2564 โดยปัจจุบันสหรัฐอเมริกามีการผลิตและใช้สินค้าฐานชีวภาพมากกว่า 14,000 รายการ และรัฐบาลมีมาตรการบังคับให้หน่วยงานภาครัฐต้องซื้อสินค้าฐานชีวภาพ ขณะที่สหภาพยุโรปผลักดันสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงชีวภาพให้ได้ร้อยละ 20 ในปี 2563

 

ขณะที่ไทยมีความพร้อมด้านวัตถุดิบ ทั้งแป้ง น้ำตาล เซลลูโลส ปาล์มน้ำมัน มีโอกาสสูงที่จะต่อยอด แต่เทคโนโลยียังล้าหลังพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศชั้นนำ จึงจำเป็นต้องมีการพัฒนาอย่างเร่งด่วนทั้งด้านองค์ความรู้เชิงลึก เทคโนโลยีการผลิตที่ได้มาตรฐานและน่าเชื่อถือ การต่อยอดผลิตภัณฑ์ฐานชีวภาพที่มีมูลค่าสูง ตลาดรองรับที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม แผนการตลาดในอนาคต บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญ โครงสร้างพื้นฐาน รวมถึงการพัฒนามาตรฐานให้รับรองเทคโนโลยีที่ผลิตได้ภายในประเทศ และระบบฐานข้อมูล