พ่อค้าเฮ! ไทยไฟเขียวนำเข้า”มะม่วงแก้ว”กัมพูชาฉลุย ป้อนโรงงานแปรรูปส่งออก-กินผลสด

ไทยไฟเขียวนำเข้า “มะม่วงแก้วขมิ้น” กัมพูชา หวังป้อนโรงงานแปรรูปแช่แข็งส่งออก-บริโภคผลสดในประเทศพุ่งเท่าตัว ด้านผู้นำเข้าชายแดนฝั่งเมืองจันท์-ตราด-สระแก้ว-สุรินทร์ สบช่องเร่งปรับตัวจดทะเบียน สร้างโรงพักคัดแยกสินค้า จ่อนำเข้าให้ทันรับฤดูกาลผลิตตุลาคมนี้ หวั่นทำใบรับรองสุขอนามัยพืช-ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าฝั่งกัมพูชาไม่พร้อม เผยนายหน้าหัวใสโขกค่าดำเนินการสูงเฉียด 3 หมื่นบาท/วัน


ไทยอนุญาตนำเข้ามะม่วงกัมพูชา

นายสุทัศน์ แก้วสะอาด หัวหน้าด่านตรวจพืชจันทบุรี เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า เมื่อวันที่ 28 กันยายน 2559 นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมวิชาการเกษตร ได้ลงนามประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง เงื่อนไขการนำเข้าผลมะม่วงสดจากราชอาณาจักรกัมพูชา พ.ศ. 2559 อนุญาตให้นำมะม่วงสดหรือมะม่วงแก้วขมิ้นจากกัมพูชาได้ภายใต้การดูแลของกรมวิชาการเกษตรของไทย และองค์กรอารักขาพืช (NPPO) ของกัมพูชา

ประกาศฉบับนี้ทำให้สามารถนำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นจากประเทศกัมพูชาได้ทุกช่องทางชายแดนที่ติดต่อกับกัมพูชาทั้ง4จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ สระแก้ว จันทบุรี และตราด โดยผู้นำเข้าจะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขการนำเข้าและส่งออก คือ 1.จดทะเบียนการค้า 2.มีใบอนุญาตนำเข้าอาหารและใบอนุญาตนำเข้าสิ่งที่ต้องห้ามจากการค้า

ส่วนผู้ส่งออกต้องมี 1.ใบรับรองสุขอนามัยพืช ที่ออกโดยองค์กรอารักขาพืช กัมพูชา และ 2.ใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form D) เพื่อยกเว้นภาษีสำหรับเขตการค้าเสรีอาเซียน (AFTA) ซึ่งเอกสารของผู้ส่งออกทั้งสองอย่างต้องระบุชื่อผู้นำเข้าให้ตรงกัน พร้อมทั้งจะมีการสุ่มตรวจตัวอย่างศัตรูพืช ถ้ามีปริมาณน้อยกว่า 1,000 ผล สุ่มตรวจ 450 ผล ถ้ามากกว่า 1,000 ผล จะสุ่มตรวจ 600 ผล

“จันทบุรีน่าจะมีความพร้อมอยู่แล้ว ทั้งผู้นำเข้าที่จดทะเบียนและมีโรงพักสินค้าที่ได้มาตรฐาน อย.ของกระทรวงสาธารณสุข ตอนนี้มีบริษัทจดทะเบียนแล้ว 3-4 ราย ส่วนการยื่นขอใบอนุญาตนำเข้ามะม่วงจากกรมวิชาการเกษตร น่าจะใช้เวลาไม่เกิน 2 วัน คาดว่าจะเริ่มดำเนินการตามประกาศดังกล่าวตั้งแต่ตุลาคมนี้เป็นต้นไป” นายสุทัศน์กล่าว

ผู้นำเข้าโอดกฎใหม่ต้นทุนพุ่ง

แหล่งข่าวจากผู้นำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นด่านบ้านผักกาดจังหวัดจันทบุรีเปิดเผยว่า ผู้นำเข้าพร้อมที่จะจดทะเบียนการค้า และก่อสร้างโรงพักขนถ่ายผลไม้ตามมาตรฐาน อย.แล้วตามระกาศกรมวิชาการเกษตร แต่ปัญหาที่จะเกิดขึ้นก็คือเอกสารใบรับรองสุขอนามัยพืช และใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้าของกัมพูชา เพราะทำการค้ากับผู้ส่งออกรายย่อยคงไม่สามารถขอเอกสารได้ ขณะนี้จึงมีนายหน้าเข้ามารับดำเนินการให้ผู้นำเข้าไทยมีเอกสารผู้ส่งออกฝ่ายกัมพูชา โดยเสนอราคาเบ็ดเสร็จรายละ 29,000 บาทต่อมะม่วงไม่เกิน 250 ตัน/วัน ซึ่งเป็นราคาที่สูง โดยเฉพาะใบรับรองแหล่งกำเนิดสินค้า (Form D) เสนอราคา 15,000 บาท

ทั้งนี้ผู้นำเข้าจะแบกภาระค่าใช้จ่ายสูงถึง 29,000 บาท/ราย/วัน ซึ่งเป็นต้นทุนที่สูงมาก และกำหนดให้นำเข้ารายละไม่เกิน 250 ตัน/วันนั้นก็สูงเกินจริง เพราะช่วงที่ผลผลิตมะม่วงออกมากยังนำเข้าไม่เกิน 100-120 ตัน/วัน ซึ่งนายหน้าแนะนำให้รวมกลุ่มกันเพื่อลดค่าใช้จ่าย

“ด่านบ้านผักกาด มีผู้นำเข้ารายใหญ่กว่า 10 รายตื่นตัวที่จะจดทะเบียนการค้าและสร้างโรงพักผลไม้ที่ได้มาตรฐาน อย. แต่การลงทุนสูงมาก ขณะที่การค้ามะม่วงบวกกำไรเพียงกิโลกรัมละ 1-2 บาท หากต้องเสียค่าเอกสารอีกก็จะทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้นอีก เรายินดีจ่ายเงินค่าดำเนินการในราคาที่เราอยู่กันได้” ผู้นำเข้ารายหนึ่งกล่าว

รง.แปรรูปแช่แข็งส่งออกเฮ

นายสุมิตร เขียวขจี อดีตประธานหอการค้าจังหวัดตราด กล่าวถึงแนวโน้มตลาดมะม่วงแก้วขมิ้นว่า มีโอกาสเติบโตเพราะโรงงานแปรรูปส่งออกมีความต้องการสูงมาก โดยได้เตรียมลู่ทางนำเข้ามะม่วงแก้วขมิ้นจากจังหวัดกำปงสะปือทางชายแดนด้านจุดผ่านแดนถาวรบ้านหาดเล็ก จังหวัดเกาะกง ระยะทางประมาณ 260 กิโลเมตร ใกล้กว่าการนำเข้าด่านจังหวัดจันทบุรี 150-160 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะมีการนำเข้ามะม่วงทางเกาะกงมากถึง 60-70%

อย่างไรก็ตาม ไม่แน่ใจว่าเอกสารการนำเข้า-ส่งออกทางฝั่งกัมพูชาจะสะดวกหรือไม่ หากเป็นรูปแบบของการนำเข้าจังหวัดจันทบุรีเดิมจะสะดวก คือ มีคนกลางนำเข้ามาลอตใหญ่ โดยเคลียร์เอกสารทั้งนำเข้าและส่งออกให้ จากนั้นมีลูกค้าประจำมารับสินค้ากระจายออกไป

“คาดว่าจะมีผู้เข้าไปซื้อมะม่วงมากขึ้น ผู้นำเข้ารายย่อยจึงควรรวมตัวกันเพื่อติดต่อกับผู้ส่งออกกัมพูชาจัดทำเอกสารต่าง ๆ เป็นชุดเดียวกัน เพราะเป็นเรื่องยุ่งยากและเสียค่าใช้จ่ายสูงมาก รายย่อยจะทำการค้าโดยตรงได้ยาก”
นายสุมิตรกล่าว

ด้านนายวุฒิพงษ์ รัตนมณฑ์ ประธานกรรมการสหกรณ์การเกษตรเพื่อการแปรรูปและส่งออก จังหวัดตราด กล่าวว่า ปัจจุบันโรงงานแปรรูปผลไม้มีความต้องการมะม่วงแก้วขมิ้นจำนวนมากเพื่อนำผลสุกไปแช่แข็งส่งออก เพราะลูกใหญ่เนื้อมาก รสชาติไม่เปรี้ยวจัด สีเหลืองสวย ซึ่งสหกรณ์ก็สนใจที่จะนำเข้ามาแปรรูปในช่วงที่โรงงานหมดช่วงฤดูกาลทุเรียน หากแปรรูปแช่แข็งส่งตลาดต่างประเทศได้จะเป็นการเพิ่มมูลค่าและสร้างรายได้เพิ่มขึ้น เพราะมีตลาดจีนที่รับซื้ออยู่แล้ว ทั้งนี้ต้องรอศึกษาวิธีการนำเข้าและส่งออกตามประกาศของกรมวิชาการเกษตรก่อน โดยเฉพาะเรื่องการออกเอกสารรับรองสุขอนามัยพืชของกัมพูชาว่าทำได้หรือไม่

ที่มา ประชาชาติธุรกิจออนไลน์