กระทรวงอุตฯ บุกเวียดนามเรียนรู้จุดแข็ง แก้จุดอ่อนเอสเอ็มอีไทย

นายสมชาย หาญหิรัญ รมช.อุตสาหกรรม เปิดเผยในโอกาสพาคณะผู้บริหารกระทรวงและสื่อมวลชนเดินทางมาศึกษาดูงานความก้าวหน้าและแนวทางการพัฒนาอุตสาหกรรม การลงทุนของนักธุรกิจไทย ที่สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม ระหว่างวันที่ 8-10 มิ.ย.2561 ว่าเวียดนามเป็นประเทศที่น่าสนใจในการลงทุนด้วยอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหารทะเลแปรรูป ซึ่งในปีที่ผ่านมาเวียดนามเป็นผู้ผลิตอาหารทะเลอันดับ 3 ของโลก รองจากประเทศจีนและประเทศอินเดีย มีมูลค่าการส่งออกประมาณ 240,000 ล้านบาท

ทั้งนี้ จากการหารือกับผู้ประกอบการไทยที่ลงทุนในเวียดนามพบว่าส่วนใหญ่ยังเป็นผู้ประกอบการขนาดใหญ่ ขณะที่ผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ยังเข้ามาลงทุนน้อย ซึ่งกระทรวงอุตสาหกรรมจะกลับไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กระทรวงพาณิชย์ เพื่อพิจารณาแนวทางส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอีออกไปลงทุนเวียดนามให้มากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมการเกษตร อาหารทะเลแปรรูปที่มีผลิตผลจำนวนมาก และมีจุดแข็งด้านแรงและต้นทุนการผลิตถูก อีกทั้งเวียดนามยังเปิดประเทศด้านการค้าเสรีกับหลายประเทศ ทั้งยุโรป ซึ่งล่าสุดได้มีการลงนามกับประเทศในอเมริกาใต้ อาทิ ชิลี ทำให้ภาษีเป็น 0% จูงใจนักลงทุน ขณะที่ไทยยังไม่มีความร่วมมือลักษณะนี้

นอกจากนี้ รัฐบาลเวียดนามยังมีมาตรการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมปิโตรเคมี มีเป้าหมายเพิ่มกำลังการผลิตน้ำมันดิบให้ได้ถึง 25-30 ล้านตันต่อปี ภายในปี 2563 ตามแผนยุทธศาสตร์พัฒนาพลังงานชาติ โดยล่าสุดบริษัท เอสซีจี เข้าไปถือหุ้นในโครงการปิโตรเคมีครบวงจรแห่งแรกในเวียดนาม ที่เมืองบาเหรี่ยะ-หวงเต่า อยู่ห่างจากเมืองโฮจิมินห์ไปทางตะวันออกเฉียงใต้ 100 กิโลเมตร มูลค่าการลงทุน 173,000 ล้านบาท คาดจะแล้วเสร็จในปี 2565 ทำให้เอสซีจีเป็นผู้ลงทุนไทยอันดับหนึ่งในเวียดนาม

ปัจจุบันมีผู้ประกอบการไทยหลายรายที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม อาทิ เอสซีจี, เครือเจริญโภคภัณฑ์, เครือเบทาโกร, บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน), ศรีไทยซุปเปอร์แวร์ และกลุ่มอมตะของไทย ลงทุนตั้งนิคมอุตสาหกรรมหลายแห่ง

นายพสุ โลหารชุน ปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม กล่าวว่า กระทรวงจะนำข้อมูลและผลการศึกษาดูงานครั้งนี้ไปบูรณาการพัฒนสภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมแปรรูปอาหาร ที่ไทยมีเป้าหมายจะเป็นผู้ส่งออกอาหารทะเลแปรรูปอันดับต้นของโลกเหมือนอย่างเช่นเวียดนาม และอุตสาหกรรมเชื้อเพลิงชีวภาพและเคมีชีวภาพ ซึ่งเวียดนามได้สนับสนุนอุตสาหกรรมปิโตรเคมีขั้นปลาย ที่เป็นส่วนที่เหลือจากการผลิตเชื้อเพลิง

ด้านนายมนตรี สุวรรณโพธิ์ศรี กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซี.พี.เวียดนาม คอร์ปอเรชั่น กล่าวว่า เวียดนามมีข้อได้เปรียบไทยในเรื่องความมีเสถียรภาพทางการเมืองที่เข้มแข็ง แม้จะมีการเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อยครั้ง แต่ก็มีความต่อเนื่องในการดำเนินนโยบาย สร้างความมั่นใจให้นักลงทุน ทั้งยังเปิดกว้างด้านการค้ากับต่างประเทศภายใต้กรอบความตกลงเขตการค้าเสรีอาเซียน ยุโรป รัสเซียและเกาหลีใต้ เป็นปัจจัยสำคัญในการสนับสนุนธุรกิจในประเทศที่ต้องพึ่งพาการส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับมีประชากรวัยทำงานสูงถึง 60% อย่างไรก็ตาม ปีนี้ ซี.พี.เวียดนามมีแผนขยายสายการผลิตหลายรายการ อาทิ โรงชำแหละไก่ โรงชำแหละหมู เป็นต้น คาดจะเริ่มผลิตได้ปีหน้า เพื่อร่วมผลักดันนโยบายครัวไทยสู่ครัวโลก

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์