ความกดอากาศสูงจากจีน กำลังมา ระบายน้ำหมดแล้ว ไปซื้อเสื้อหนาวเลย

สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้าและการเกษตร (องค์การมหาชน)(สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วท.) โดยแบบจำลองสภาพอากาศ(วาฟ) ได้คาดการณ์สถานการณ์ฝนและสถานการณ์น้ำปัจจุบันลุ่มน้ำเจ้าพระยาและลุ่มน้ำป่าสัก โดยพบว่า ช่วงวันที่ 4-6 ตุลาคม ร่องมรสุมเลื่อนลงมาพาดผ่านภาคกลางตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคตะวันออก ส่วนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ยังคงมีกำลังปานกลาง ส่งผลให้ภาคเหนือตอนล่าง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนเพิ่มขึ้นกับมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่ง ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จะยังมีฝนปานกลางและอาจมีฝนตกหนักได้ในบางแห่ง ช่วงวันที่ 7-10 ตุลาคม ร่องมรสุมเลื่อนกลับขึ้นมาพาดผ่านภาคเหนือตอนล่าง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ประกอบกับจะเริ่มมีบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนแผ่ลงมาถึงภาคเหนือตอนบน ส่วนลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีกำลังแรงขึ้น ส่งผลให้ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน จะมีฝนตกต่อเนื่องมีฝนตกหนักบางแห่ง ส่วนภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และเหนือเขื่อนเจ้าพระยาจะมีฝนลดลง

“มีการก่อตัวของหย่อมความกดอากาศต่ำในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออกของประเทศฟิลิปปินส์ที่อาจทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุและเคลื่อนตัวผ่านประเทศฟิลิปปินส์เข้าสู่ทะเลจีนใต้ตอนบน แต่มีแนวโน้มสูงที่บริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะแผ่ลงมา ทำให้พายุอ่อนกำลังลง ก่อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้ประเทศเวียดนาม ทั้งนี้ การคาดการณ์ยังคงมีโอกาสเปลี่ยนแปลงได้สูงเนื่องจากการแผ่ลงมาของบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีน ซึ่งต้องติดตามการคาดการณ์ใหม่อย่างใกล้ชิดทุก 6- 12 ชั่วโมง ส่วนค่าดัชนีมรสุม MJO พบว่า ประเทศไทยยังคงได้รับอิทธิพลจากทะเลจีนใต้ ทำให้มีฝนมากในช่วงต้นเดือนตุลาคม จากนั้นกลางเดือนตุลาคมแนวโน้มฝนจะลดลง ส่วนอุณหภูมิการเปลี่ยนแปลงผิวน้ำทะเลในช่วง 2 สัปดาห์บ่งชี้ว่า แนวฝนได้เลื่อนลงมายังภาคกลางตอนล่างแล้ว”วาฟ ระบุ

สำหรับสถานการณ์ระดับน้ำ ในแม่น้้ำสายหลัก พบว่า พื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยานั้นตอนเหนือของเขื่อนเจ้าพระยา ที่แม่น้ำปิงมีแนวโน้มลดลง แม่น้ำน่านมีแนวโน้มทรงตัว แม่น้ำสะแกกรังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ทำให้ระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนระดับน้ำด้านท้ายเขื่อนเจ้าพระยา ที่แม่น้ำเจ้าพระยาจังหวัดสิงห์บุรีมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ส่วนที่คลองโผงเผงและคลองบางบาล จ.พระนครศรีอยุธยามีแนวโน้มลดลง ลุ่มน้ำป่าสัก พบว่า ตอนเหนือของเขื่อนป่าสัก ยังความมีระดับน้ำสูงและมีน้ำล้นตลิ่ง แต่ระดับน้ำมีแนวโน้มลดลงและกำลังเคลื่อนตัวเข้าสู่เขื่อนป่าสัก ส่วนระดับน้ำท้ายเขื่อนป่าสักเนื่องจากเขื่อนป่าสักและเขื่อนพระรามหกยังคงการระบายน้ำในระดับเดิม ทำให้ระดับน้ำมีแน้วโน้มทรงตัว

 

ที่มา มติชนออนไลน์