เกษตรฯ จับมือภาคอุตสาหกรรมนม ชวนคนไทยดื่มนมเพิ่มเป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายในปี’69

นายกฤษฎา บุญราช รมว.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า วันดื่มนมโลก จัดตั้งขึ้นเพื่อกระตุ้นให้ทุกคนได้เห็นคุณค่าของการบริโภคนมเพื่อเสริมสร้างสุขภาพให้แข็งแรง โดยในปีนี้กระทรวงเกษตรฯ จับมือกับ 11 บริษัทผู้ผลิตนมในนามสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย (ส.อ.น.ท.) กรมปศุสัตว์ องค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) และเอฟเอโอ จัดกิจกรรมวันดื่มนมโลกประจำปี 2561 ภายใต้แคมเปญ “นมยิ่งดื่มยิ่งดี” เพื่อสร้างวัฒนธรรมการบริโภคนมในสังคมไทย โดยคณะอนุกรรมการรณรงค์การบริโภคนม ตั้งเป้าเพิ่มปริมาณการดื่มนมของคนไทยจาก 18 เป็น 25 ลิตรต่อคนต่อปี ภายในปี 2569

นายสรวิศ ธานีโต ผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรฯ รักษาการอธิบดีกรมปศุสัตว์ เปิดเผยว่า จากสถิติพบว่าคนไทยบริโภคนน้ำอัดลม เป็นอันดับ 1 ของอาเซียน มากกว่า 41.13 ลิตรต่อคนต่อปี แต่กลับบริโภคนมอยู่ในอันดับที่ 68 ของโลก โดยบริโภคเพียง 18 ลิตรต่อคนต่อปี หรือเพียงสัปดาห์ละ 2 แก้วเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าค่าเฉลี่ยของโลก 113 ลิตรต่อคนต่อปี ถือเป็นข้อมูลที่น่าตกใจ และเป็นสิ่งที่ภาครัฐและเอกชนต้องร่วมมือกันเพื่อผลักดันบริมาณการบริโภคนมเพื่อสุขภาพที่ดีของคนไทย

“ปัจจุบันการดื่มนมของคนไทยค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับประเทศญี่ปุ่น หรือในประเทศยุโรปและอเมริกา อย่างไรก็ตาม นมถือว่าเป็นอาหารที่คุณค่าทางอาหารสูงและจำเป็นต่อสุขภาพ หากดื่มนมเพียงวันละ 2 แก้ว จะช่วยเสริมสร้างสุขภาพของร่างกาย รวมทั้งยังช่วยสร้างความยั่งยืนในอาชีพการเลี้ยงโคนมของเกษตรกรไทยด้วย”

นายชัชวาลย์ มณีทัพ นายกสมาคมอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์อาหารนมไทย กล่าวว่า ทางสมาคมฯ ได้เสนอให้มีการทำบันทึกความเข้าใจ (เอ็มโอยู) เพื่อบูรณาการนโยบายของคณะกรรมการโคนมและผลิตภัณฑ์นม กระทรวงเกษตรฯ นโยบายกระทรวงสาธารณสุขด้านสุขภาวะโภชนาการและความรอบรู้ทางสุขภาพเกี่ยวกับการดื่มนม เพื่อลดความเสี่ยงโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) และกระทรวงพาณิชย์เพื่อกระตุ้นการบริโภคในประเทศและผลักดันเพื่อเพิ่มยอดการส่งออก การรณรงค์บริโภคนมนอกจากจะช่วยส่งเสริมการเติบโตตลาดในประเทศ ซึ่งมีผลโดยตรงต่อเพิ่มปริมาณน้ำนมดิบที่รับซื้อจากเกษตรกรผู้เลี้ยงโคนม และยังเป็นการเพิ่มศักยภาพในการผลิตให้มีน้ำนมดิบเพียงพอเพื่อการส่งออก

“ทางสมาคมฯ เชื่อมั่นในศักยภาพการผลิตของภาคเกษตรและอุตสาหกรรมนมประเทศไทย และผู้ประกอบการจำเป็นต้องได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพาณิชย์ ในการแก้ไขประเด็นที่เป็นอุปสรรคทางการค้าที่มิใช่ภาษีต่างๆ เช่น การเปลี่ยนแปลงกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้า การจำกัดปริมาณนาเข้าของประเทศปลายทาง”