บอร์ด ทอท. ไฟเขียว 1.2 แสนล้าน สร้างสนามบินเชียงใหม่-ภูเก็ต แห่งที่ 2

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมบอร์ด ทอท. เมื่อวันที่ 22 พ.ค. ที่ผ่านมา มีมติอนุมัติหลักการเพื่อดำเนินการลงทุนก่อสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของสนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ต (ปี 2561-66) วงเงินรวมทั้งสิ้น 120,000 ล้านบาท แบ่งเป็นการลงทุนสนามบินละ 60,000 ล้านบาท

สำหรับการก่อสร้างสนามบินทั้ง 2 แห่งนั้น ตามผลการศึกษาของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เห็นว่าพื้นที่บริเวณ อ.บ้านธิ จ.ลำพูน เหมาะสมในการสร้างสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 ส่วนสนามบิน ภูเก็ตแห่งที่ 2 เหมาะสมที่จะสร้างที่ บ้านโคกกรวด จ.พังงา ซึ่งพื้นที่ทั้ง 2 แห่ง มีระยะทางห่างจากสนามบินเดิมประมาณ 20-30 กิโลเมตร

“หลังจากนี้ฝ่ายบริหารทอท. จะต้องนำเสนอแผนการลงทุนให้กระทรวงคมนาคมพิจารณา ก่อนเสนอให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาคาดว่าภายในสิ้นปี 2561 เมื่อขั้นตอนต่างๆ ทางเอกสารแล้วเสร็จ ทอท. จะเริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี 2562-66 คาดว่าจะก่อสร้างจะแล้วเสร็จและให้บริการได้ไม่เกินปี 2568”

นายนิตินัยกล่าวว่า สำหรับงบลงทุน 120,000 ล้านบาท นั้น ยังไม่รวมงบการจัดหาที่ดินซึ่งหลังจากนี้จะต้องพิจารณาว่าจะใช้วิธีซื้อหรือเวนคืน ทั้งนี้ ยืนยันว่าการลงทุนครั้งนี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อสภาพคล่องของทอท. ซึ่งมีแผนลงทุนสุวรรณภูมิเฟส 3 เพราะปัจจุบัน ทอท. มีเงินสดในมือกว่า 62,000 ล้านบาท และมีเงินสดที่เป็นกำไรยังไม่หักค่าเสื่อมเข้ามาอีกว่าปีละ 30,000 ล้านบาท

“สำหรับการลงทุนระยะยาวจะไม่มีผลกระทบอะไรเพราะเรามีเงินเพียงพอ แต่ระยะสั้นยอมรับว่าอาจจะมีผลกระทบบ้าง เช่นในปี 2563 ที่ทอท. จะต้องใช้จ่ายในการก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ ซึ่งอาจจะต้องมีการกู้ยืมในระยะยสั้นๆ บ้าง”

สำหรับสนามบินพังงาแห่งที่ 2 หากการก่อสร้างแล้วเสร็จมีมีขีดความสามารถในการรองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปี ส่วนสนามบินเชียงใหม่แห่งที่ 2 รองรับผู้โดยสารได้ 10 ล้านคนต่อปีเช่นกัน

นายนิตินัย กล่าวต่อว่าที่ประชุมบอร์ด ทอท. ยังมีมติอนุมัติให้จัดตั้งบริษัทลูก โดยมีทอท. เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เพื่อมาดำเนินงานเกี่ยวกับศูนย์ตรวจสอบสินค้าเน่าเสียเพื่อการส่งออกให้ได้ตามมาตรฐานของยุโรป เนื่องจากก่อนหน้านี้ผู้ประกอบการขนส่งสินค้าประสบปัญหาสินค้าส่งออกถูกตีกลับเพราะสินค้าไม่ได้มาตรฐาน เน่าเสีย ส่งผลให้ผู้ประกอบการมีต้นทุนและขาดทุน ทอท. จึงต้องการจัดตั้งบริษัทลูกขึ้นมาบริหารจัดการการส่งออกให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เพื่อทำให้ผู้ประกอบการและเกษตรกรผู้ผลิตสินค้ามีรายได้เพิ่มขึ้น รวมทั้งเป็นการเพิ่มรายได้จากการดำเนินการที่ไม่เกี่ยวข้องกับธุรกิจการบินโยตรงให้กับทอท. ด้วย

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารของทอท. จะต้องกลับไปศึกษาและกำหนดสัดส่วนผู้ถือหุ้นในบริษัทลูก ว่า ทอท. ควรถือหุ้นเอง 100% หรือถือหุ้นร่วม คาดภายในปี 2561 จะจัดตั้งบริษัทได้ โดยตั้งเป้าให้ไทยเป็นศูนย์กลาตรวจสอบสินค้าและกระจายสินค้าเน่าเสียเพื่อการส่งออกแล้ว ไปยังทวีปยุโรป และเตรียมที่จะทำตลาดในภูมิภาคเพิ่มเติมด้วย ทั้งพม่า ลาว เวียดนามและกัมพูชา

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์