อ่วม! ทช.สั่งแจ้งข้อหาเพิ่ม “ไต้ก๋ง” ร่วมกันล่าฯ สัตว์ป่าสงวน พร้อมส่งเรือค้นหาฉลามวาฬ

จากกรณีเมื่อช่วงบ่ายวันที่ 18 พ.ค. มีการแชร์คลิปวิดีโอและภาพเรือประมง “แสงสมุทร 3” ซึ่งเป็นเรือประมงอวนลากคู่ กำลังบรรทุกฉลามวาฬขนาดใหญ่อยู่บนเรือและใช้เครนเรือยกหางไว้ ขณะอยู่ในทะเลใกล้เกาะราชา จ.ภูเก็ต จนทำให้หลายหน่วยงานต้องร่วมตรวจสอบข้อเท็จจริง ก่อนแจ้งความกับพนักงานสอบสวน เพื่อเข้าสู่กระบวนการสวบสวนข้อเท็จจริงตามกฎหมาย แม้ไต้ก๋งเรือจะปฏิเสธว่าไม่ได้จงใจจับล่าสุดเมื่อเวลาประมาณ 14.00 น. วันที่ 19 พ.ค. นายนเรศ ชูผึ้ง ผอ.ส่วนอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเล สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 (สบทช.9) ได้รับข้อสั่งการจากอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง และนายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง ผอ.สำนักบริหารจัดการทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 9 เข้าพบ พ.ต.ท.วีระพงศ์ รักขิโต สว.(สอบสวน) สภ.ฉลอง จ.ภูเก็ต เพื่อแจ้งความร้องทุกข์กล่าวโทษเพิ่มเติมกับนายสมสมัย มีจอม อายุ 55 ปี ชาว จ.ยโสธร ไต้ก๋งเรือแสงสมุทร 3 และนายรัตนา พรหมงาน ผู้ควบคุมเรือ แสงสมุทร 3 ซึ่งมีโทษจำคุกไม่เกิน 4 ปี หรือปรับไม่เกินสี่หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับในข้อกล่าวหาร่วมกันล่าหรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน สัตว์ป่าคุ้มครองโดยไม่ได้รับอนุญาต ประกอบพ.ร.บ.สงวนและคุ้มครองสัตว์ป่า พ.ศ.2535 มาตรา 16 ห้ามมิให้ผู้ใดล่า หรือพยายามล่าสัตว์ป่าสงวน หรือสัตว์ป่าคุ้มครอง เว้นแต่เป็นการกระทำโดยทางราชการ โดยแจ้งเพิ่มเติมจากที่ชุดสหวิชาชีพ ของศูนย์ควบคุมการแจ้งเข้า-ออก เรือประมง เขต 3 (ภูเก็ต) ได้แจ้งไว้ก่อนหน้านี้ ในข้อกล่าวหากระทำการอันสงสัยว่าเป็นการฝ่าฝืน พ.ร.ก.การประมง พ.ศ.2559 มาตรา 66 ประกอบกระทรวงเกษตรฯ เรื่องการ กำหนดชนิดสัตวเลี้ยงลูกด้วยนม สัตว์น้ำหายาก หรือใกล้สูญพันธุ์ ที่ห้ามจับ หรือห้ามนำขึ้นเรือประมง พ.ศ.2559 ข้อ 1 อนุฯ 4 ปลาฉลามวาฬ ซึ่งมีโทษปรับตั้งแต่สามแสนบาทถึงสามล้านบาท หรือปรับจำนวนห้าเท่าของมูลค่าสัตว์น้ำที่จับหรือนำขึ้นเรือประมง แล้วแต่จำนวนใดจะสูงกว่าขณะที่นายวัชรินทร์ ถิ่นถลาง พร้อมคณะ และเจ้าหน้าที่กลุ่มสัตว์ทะเลหายาก ศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งทะเลอันดามัน (ศวทม.) ได้ร่วมกันลงพื้นที่ เพื่อค้นหาฉลามวาฬที่ถูกจับนำขึ้นเรือประมงแสงสมุทร 3 และได้มีการนำลงทะเลบริเวณระหว่างเกาะโหลน เกาะเฮ และเกาะบอน โดยออกทำการค้นหาหรือสำรวจคลอบคลุมที่ทั้งสิ้น 24 ตารางกิโลเมตร หรือเป็นระยะทาง 40 กิโลเมตร ไปทางทิศตะวันออกทางด้านเกาะพีพี ด้วยเรือทรัพยากร 603 ผลการตรวจสอบค้นหาจะมี 2 กรณี คือ 1 หากค้นพบเจอปลาฉลามวาฬดังกล่าว ยังมีชีวิตได้รับบาดเจ็บจะรีบดำเนินการช่วยชีวิตและรีบนำไปรักษาที่ศูนย์ช่วยชีวิตสัตว์ทะเลหายากก่อนแล้วปล่อยกลับคืนสู่ทะเล

และ 2. หากค้นเจอพบว่าเสียชีวิตแล้วจะเร่งดำเนินการผ่าชันสูตรซากอย่างเร่งด่วน โดยทีมสัตวแพทย์และนักวิชาการประมงของ ศวทม. เพื่อนำผลการชันสูตรไปสนับสนุนใช้เป็นหลักฐานทางคดี ส่งให้พนักงานสอบสวนประกอบสำนวนในการดำเนินคดีตามกฎหมาย ให้เป็นไปอย่างรัดกุมและมีประสิทธิภาพต่อไป ส่วนในกรณีที่ค้นไม่พบฉลามวาฬตัวดังกล่าว ทาง สบทช.9 จะร่วมกับ ศวทม. ดำเนินการลงพื้นที่ทางทะเลค้นหาและเฝ้าระวังต่อไปอีกประมาณ 3-5 วัน แต่จนถึงช่วงเย็นวันนี้ก็ยังไม่มีรายงานว่าพบฉลามวาฬตัวดังกล่าว