ผู้เขียน | ข่าวสดออนไลน์ |
---|---|
เผยแพร่ |
เมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม ที่โรงแรมเจ้าพระยาปาร์ค กรุงเทพฯ ศูนย์ศึกษาปัญหาพนัน ร่วมกับ มูลนิธิรณรงค์หยุดพนัน ศูนย์ข้อมูลนโยบายสาธารณะเพื่อลดปัญหาจากการพนัน มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ และ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดการประชุมวิชาการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนันปี 2561 “ชีวิตเสี่ยงพนัน…จะป้องกันเยาวชนอย่างไร?” โดยนายวิเชษฐ์ พิชัยรัตน์ กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า ปัญหาการพนันมีผลกระทบในวงกว้าง ทั้งต่อตัวบุคคล ครอบครัว ชุมชน และสังคม ก่อให้เกิดปัญหาด้านสุขภาวะ หนี้สิน ความยากจน และอาชญากรรมในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก เยาวชน และผู้สูงอายุ มีแนวโน้มเกี่ยวข้องกับการพนันมากขึ้น ทั้งทางออฟไลน์และออนไลน์ รวมถึงกลุ่มอาชีพแรงงานด้วย ที่น่าเป็นห่วงคือในเดือนมิถุนายนนี้ จะมีการแข่งขันฟุตบอลโลก 2018 ยิ่งทำให้มีการพนันฟุตบอลออนไลน์เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย สาเหตุที่ต้องปกป้องเด็กและเยาวชนเป็นพิเศษจากการพนัน เพราะมีผลวิจัยระบุชัดว่า เยาวชนที่เริ่มเล่นพนันจากการพนันฟุตบอลมีแนวโน้มจะเล่นพนันต่อเนื่องสูงถึงร้อยละ 82.6 สูงกว่ากลุ่มที่เริ่มต้นจากการเล่นพนันประเภทอื่นอย่างชัดเจน โดยเฉพาะเยาวชนชายที่เริ่มเล่นพนันจากการพนันฟุตบอล พบว่าร้อยละ 87.3 จะเล่นพนันต่อเนื่อง
นายวิเชษฐ์ กล่าวว่า จากผลสำรวจสถานการณ์การเล่นพนันของนักเรียนมัธยมต้น ปี 2561 พบว่า เด็กเริ่มเล่นพนันครั้งแรกตอนอายุน้อยที่สุดที่ 6 ปี ส่วนผลสำรวจประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไป พบผู้เริ่มต้นเล่นพนันครั้งแรกอายุต่ำสุดที่ 7 ปี เหตุผลที่เริ่มเล่นพนันเพราะอยากลอง เล่นสนุกชั่วครั้งชั่วคราว พนันด้วยเงินเล็กน้อย แต่จะเพิ่มระดับขึ้น ทั้งวงเงินและความถี่ในการเล่น ยิ่งเล่นนานยิ่งเล่นหนัก อาการที่เห็นชัดคือ ถ้าไม่ได้เล่นพนันจะรู้สึกกระสับกระส่ายเหมือนติดเหล้า ติดบุหรี่ ยิ่งผู้สูงอายุติดพนันจะมีปัญหาตามมามากกว่าคนวัยอื่น จากสถานการณ์ดังกล่าว สสส. หน่วยงานภาครัฐ และองค์กรภาคสังคม รวม 11 หน่วยงาน ได้ลงนามความร่วมมือในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการป้องกันเด็กและเยาวชนจากการพนันฟุตบอลออนไลน์ในช่วงฟุตบอลโลก 2018 เพื่อหาแนวทางแก้ไข ซึ่งการจัดการประชุมวิชาการในครั้งนี้ เพื่อแลกเปลี่ยนมุมมองใหม่ๆ นำไปสู่การออกแบบนโยบายและมาตรการกำกับดูแลธุรกิจการพนัน การป้องกันเด็กและเยาวชน รวมถึงผู้สูงอายุให้อยู่ห่างไกลจากการพนัน และผลักดันให้รัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหา กำหนดให้การปกป้องเด็กและเยาวชนจากการพนันเป็นวาระแห่งชาติ และมีกลไกของหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพหลักในการแก้ไขปัญหาการพนันอย่างจริงจัง
รศ.ดร.นวลน้อย ตรีรัตน์ ผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า ศูนย์ศึกษาปัญหาการพนัน ร่วมกับ ศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาสังคมและธุรกิจ สำรวจสถานการณ์ พฤติกรรม และผลกระทบการพนันในประเทศไทยเป็นประจำทุก 2 ปี โดยปี 2560 สำรวจจากประชาชนอายุ 15 ปีขึ้นไปใน 25 จังหวัดทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 15 กันยายน – 12 ตุลาคม 2560 รวม 7,008 ตัวอย่าง พบว่า คนไทยร้อยละ 75.2 หรือเกือบ 40 ล้านคนเคยเล่นพนัน เกินครึ่งเริ่มเล่นพนันครั้งแรกตอนอายุไม่เกิน 20 ปี กลุ่มเริ่มเล่นพนันครั้งแรกอายุต่ำสุดที่ 7 ปี เริ่มจากเล่นพนัน 4 ประเภท คือ ไพ่ หวยใต้ดิน สลากกินแบ่งรัฐบาล และบิงโก โดยผู้เล่นพนันร้อยละ 20 มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาสุขภาพขณะเล่นพนัน คือร้อยละ 12 สูบบุหรี่ ร้อยละ 8.2 ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และร้อยละ 7 รับประทานของหวานหรือขนมขบเคี้ยว
“ภาพรวม ปี 2560 คนไทยเล่นพนันในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา ร้อยละ 54.6 หรือเกือบ 29 ล้านคน เพิ่มขึ้นประมาณ 1.5 ล้านคนเมื่อเทียบกับปี 2558 ในจำนวนนี้เป็นนักพนันหน้าใหม่หรือเริ่มเล่นพนันครั้งแรกในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมาถึง 6 แสนกว่าคน ที่น่ากังวลใจ พบว่ากลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุมีการเล่นพนันเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 20 เมื่อเทียบกับผลสำรวจปี 2558 สำหรับการพนันยอดนิยม 5 อันดับแรก ได้แก่ สลากกินแบ่งรัฐบาล หวยใต้ดิน ไพ่ พนันทายผลฟุตบอล และพนันพื้นบ้าน ที่น่าสังเกตคือ การเพิ่มปริมาณสลากกินแบ่งรัฐบาลแบบก้าวกระโดดทำให้วงเงินพนันสลากฯเพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว จาก 7 หมื่นกว่าล้านบาทในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 1.4 แสนล้านบาทในปี 2560 และมีผู้เล่นพนันสลากฯเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 14.2 คือจาก 19 ล้านคนในปี 2558 เพิ่มขึ้นเป็น 21.4 ล้านคนในปี 2560 ส่วนหวยใต้ดินวงเงินพนันโตขึ้นร้อยละ 3.2 อยู่ที่ 135,142 ล้านบาท จำนวนผู้เล่นเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 มาอยู่ที่ 17.3 ล้านคน คือทั้งสลากฯ ทั้งหวยใต้ดิน มีคนเล่นเพิ่ม มีวงเงินพนันเพิ่ม และผู้ที่เล่นพนันทั้งสลากกินแบ่งรัฐบาลและหวยใต้ดินมีมากถึง 12.6 ล้านคน” รศ.ดร.นวลน้อย กล่าว
รศ.ดร.นวลน้อย กล่าวต่อว่า ผู้เล่นพนันได้รับผลกระทบทางสุขภาพ ร้อยละ 20.4 หรือ 5.9 ล้านคน เช่น รู้สึกเครียด ขาดเงินใช้จ่ายในชีวิตประจำวัน มีปากเสียงทะเลาะกับคนในครอบครัว เสียเวลาทำงานหรือการเรียน เป็นหนี้ สุขภาพเสื่อมโทรม ฯลฯ และประมาณ 9 แสนกว่าคนมีหนี้สินที่เกิดจากการพนันรวมกันประมาณ 12,258 ล้านบาทคน หรือเฉลี่ยที่คนละ 13,188 บาท เมื่อให้ผู้เล่นพนันประเมินว่าตนเองติดพนันหรือไม่ พบว่าร้อยละ 16.1 หรือประมาณ 4.66 ล้านคน ประเมินว่าตนเองติดการพนัน เพศชายมีสัดส่วนคนติดพนันมากกว่าเพศหญิง แม้คนติดพนันส่วนใหญ่มีอายุระหว่าง 30-49 ปี แต่น่ากังวลที่มีเยาวชนอายุ 15-25 ปี ประมาณ 4 แสนกว่าคน และผู้สูงวัยอายุ 60 ปีขึ้นไปอีกเกือบ 7 แสนคน มองว่าตนเองติดพนัน สถานการณ์นี้สะท้อนให้เห็นว่าการพนันเป็นปัญหา ส่งผลกระทบต่อสุขภาพและสังคม จำเป็นต้องเร่งแก้ไขและหามาตรการป้องกัน โดยเฉพาะกลุ่มเยาวชนและผู้สูงอายุ ไม่ให้เข้าสู่วงจรนักพนัน รวมถึงหามาตรการช่วยเหลือผู้ติดพนันในกลุ่มวัยต่างๆ เพื่อนำไปสู่การกำหนดนโยบาย มาตรการและกลไกที่มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการจัดการปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการพนันต่อไป
ที่มา ข่าวสดออนไลน์