แนะ รัฐ-เอกชน-เกษตรกร ปรับตัวหลังอาลีบาบาซื้อทุเรียนไทยขายจีน-หวั่นเลิกจ้างมากขึ้น

นายภูมิศักดิ์ ราศรี ผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการเศรษฐกิจการเกษตร สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า หลังกระแสซื้อขายทุเรียนไทย จากอาลีบาบา ถือเป็นการเปิดประตูโอกาสผู้ประกอบการธุรกิจเอสเอ็มอี เกษตรกรและองค์กรเกษตร แต่ผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งเกษตรกร ผู้ประกอบการ องค์กรการเกษตร ต้องเร่งปรับตัวด้านเทคโนโลยีดิจิตอลเพื่อเข้าถึงตลาดต่างประเทศได้มากขึ้น เทคโนโลยีสารสนเทศหรือการสื่อสารดิจิตอล จะเข้ามามีบทบาทสำคัญมากขึ้น สื่อเครือข่ายสังคมออนไลน์ ทำให้ผู้คนติดต่อสื่อสารกันได้อย่างรวดเร็วและไร้พรมแดน โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านธุรกิจการค้า เพราะสามารถเข้าถึงผู้บริโภคได้เป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ดัชนีการพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารของประเทศต่างๆ 176 ประเทศทั่วโลก ประจำปี 2560 พบว่า ประเทศไทยอยู่ในอันดับ 78 ของโลก เมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอาเซียน พบว่า ประเทศส่วนใหญ่มีระดับการพัฒนาที่ดีขึ้น โดยเมียนมา และ สปป.ลาว มีระดับสูงขึ้นถึง 5 อันดับ อินโดนีเซีย สูงขึ้น 3 อันดับ สิงคโปร์ สูงขึ้น 2 อันดับ บรูไน และไทย สูงขึ้น 1 อันดับ ในขณะที่เวียดนามและกัมพูชา มีระดับการพัฒนาเท่าเดิม ส่วนมาเลเซีย และฟิลิปปินส์ มีระดับการพัฒนา ลดลง 1 อันดับ

ส่วนของภาครัฐบาล ควรให้ความสำคัญในการปกป้องผู้ประกอบการในประเทศไทย จากการที่สินค้าของประเทศจีนถูกนำเข้ามาขายในประเทศไทย ดังนั้นควรส่งเสริมและพัฒนาบุคลากรและสิ่งอำนวยความสะดวก เพื่อเตรียมความพร้อมรองรับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้น โดยภาครัฐ ภาคเอกชนและสถาบันการศึกษา ต้องเร่งร่วมมือกันพัฒนาและสร้างภูมิต้านทานให้ผู้ประกอบการและธุรกิจ SMEs ของไทย และเร่งสร้าง platform หลายๆ ด้านให้กับสินค้าไทย เพื่อทำให้สินค้าไทยมีราคาที่ดี รวมถึงป้องกันสินค้าจากจีนที่จะเข้ามาในประเทศจนมากเกินไป

ภาครัฐจะต้องควบคุมและเข้มงวดให้เกษตรกรและผู้ประกอบการเกษตรรวมกลุ่มกัน ดำเนินการตามมาตรฐานคุณภาพ เพราะสินค้าเกษตรเป็นสินค้าที่มีลักษณะเฉพาะ เสียหายง่าย ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการที่มีประสิทธิภาพ เพื่อให้สินค้ามีคุณภาพดีจนถึงผู้ซื้อ เพื่อป้องกันปัญหาข้อร้องเรียนจากผู้บริโภคได้ รวมทั้งการศึกษารายละเอียดและเตรียมความพร้อมในด้านการผลิตสินค้าให้เกิดความสมดุล เพื่อให้ตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทั่วถึงและในราคาที่เป็นธรรมด้วย

นอกจากนี้ การจ้างพนักงานขาย พนักงานบริการ ตามห้างร้านต่างๆ จะมีปริมาณการจ้างงานลดลง ประกอบกับผู้ประกอบการ พ่อค้าคนกลาง หรือผู้ส่งออก ผู้นำเข้าสินค้า ที่ดำเนินธุรกิจแบบดั้งเดิม จะถูกทดแทนด้วยธุรกิจออนไลน์ พฤติกรรมการซื้อสินค้าของผู้บริโภคจะมีการเปลี่ยนแปลง จึงส่งผลทำให้ผู้ประกอบการธุรกิจ ขนาดกลางและขนาดย่อม ที่ผลิตสินค้าเหมือนกันจาก 2 ประเทศ เกิดการแข่งขันทางด้านต้นทุนและการค้าระหว่างประเทศมากยิ่งขึ้น

 

ที่มา ข่าวสดออนไลน์