ประมงจับมือภาคเอกชน แก้กุ้งราคาดิ่ง พร้อมใจลดราคาลูกพันธุ์-ค่าอาหารกุ้ง-ปัจจัยการผลิต

นายอดิศร พร้อมเทพ อธิบดีกรมประมง เปิดเผยว่า จากปัญหาราคากุ้งตกต่ำ ตั้งแต่เดือนเม.ย.ที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตกุ้งโลกเพิ่มสูงขึ้น กรมประมงจึงร่วมกับผู้ประกอบการทุกภาคส่วนในห่วงโซ่การผลิตเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรผู้เลี้ยงกุ้งให้พ้นวิกฤตช่วงนี้ไปก่อน ตามข้อเสนอของเกษตรกรที่ต้องการให้ผู้ประกอบการรับซื้อกุ้งในราคาที่สูงกว่าราคาตลาด

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากกุ้งของอินเดียมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทยในขณะที่ผลผลิตมีมาก 6-7 แสนตันจากเป้าหมาย 1 ล้านตัน เป็นสัญญาณที่ผู้เลี้ยงกุ้งของไทยต้องปรับตัวเพื่อการแข่งขันที่สูงขึ้น ผู้เลี้ยงกุ้งที่มีต้นทุนต่ำกว่าเท่านั้นที่จะอยู่ได้ ซึ่งภาครัฐและเอกชนจะเข้าไปช่วยเหลือในระยะต่อไป

“ปัจจุบันมีผู้เลี้ยงกุ้งที่ขึ้นทะเบียนกับกรมประมง 9,000 ราย ซึ่งแบ่งเป็นกลุ่มที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงทำให้มีต้นทุนต่ำ และกลุ่มที่ไม่ใช้เทคโนโลยีเข้าช่วย ต้นทุนก็จะสูงกว่า ดังนั้น จึงต้องปรับให้อยู่ในระดับที่อยู่ได้กันทั้ง 2 ฝ่าย การปรับตัวครั้งนี้เกษตรกรต้องเปิดเผยข้อมูลที่เป็นจริงด้วยเพื่อที่จะวิเคราะห์และวางแผนอย่างถูกต้อง ซึ่งจากศักยภาพ ประสบการณ์ของเกษตรกร เทคโนโลยีที่ไทยล้ำหน้ากว่า ในขณะที่ผู้ประกอบการมีความชำนาญด้านการตลาดมากกว่าจะทำให้ไทยสู้อินเดียได้ไม่ยาก”

นายพจน์ อร่ามวัฒนานนท์ นายกสมาคมอาหารแช่เยือกแข็งไทย กล่าวว่า ได้สนับสนุนการดำเนินการ โครงการประชารัฐรักษาเสถียรภาพราคากุ้ง ปี 2561 ด้วยการรับซื้อวัตถุดิบกุ้งหน้าฟาร์มกับเกษตรกรในราคานำตลาดเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.- 31 ก.ค. 2561 โดยตั้งเป้าการรับซื้อไว้ในปริมาณ 5,000 ตันต่อเดือน รวมทั้งสิ้น 10,000 ตัน กำหนดให้เกษตรกรแต่ละรายสามารถขายกุ้งได้ไม่เกิน 10 ตันต่อราย ทั้งนี้ เกษตรกรสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ ได้ตั้งแต่วันที่ 14-18 พ.ค. นี้

โดยปัจจุบันราคากุ้งขนาด 70 ตัว ราคากิโลกรัมละ 135 บาท 80 ตัว กก.ละ 130 บาท ขนาด 90 ตัว และ 100 ตัว กก.ละ 125 บาท ซึ่งเกษตรกรต้องการราคาที่ กก.ละ 140 บาท การแก้วิกฤตครั้งนี้เป็นสัญญาณอันตรายที่ทุกห่วงโซ่ต้องปรับตัว เพราะจะเห็นได้ว่าไทยแพ้อินเดียทุกด้าน ทั้งผลผลิตที่ได้ การเติบโตของพื้นที่เลี้ยง ต้นทุนการผลิตที่ไทยสูงกว่า รวมทั้งไทยยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทแข็งค่า 10-14% แต่ไทยมีข้อดีคือการปรับตัวของเกษตรกรได้เร็วกว่าและผู้ประกอบการมีความชำนาญด้านการตลาด ดังนั้น หากทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจัง ไทยจะต่อสู้กับกุ้งอินเดียได้ ในขณะที่ผู้ประกอบการจะไม่ย้ายฐานไปอินเดียอย่างแน่นอน

นายไพโรจน์ อภิรักษ์นุสิทธิ์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า จะให้ความร่วมมือในการลดราคาลูกพันธุ์กุ้งขาวแวนนาไม จากราคาตัวละ 19 สตางค์ เหลือตัวละ 16 สตางค์ หรือลดลงตัวละ 3 สตางค์ ลดราคาอาหารกุ้งที่ 25 บาทต่อถุง ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.-30 มิ.ย. นี้ และลดราคาเวชภัณฑ์อื่นๆ ตามนโยบายของสมาคมการค้าปัจจัยการผลิตสัตว์น้ำไทยเป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 2 พ.ค.-30 มิ.ย. นี้

ซึ่งวิกฤตราคากุ้งตกต่ำครั้งนี้ ไทยเป็นประเทศที่ปรับตัวได้เร็วที่สุด ซึ่งซีพีเอฟ พร้อมให้ความร่วมมือเพราะเมื่อเกษตรกรอยู่ได้ บริษัทก็อยู่ได้

นายบุญธรรม อร่ามศิริวัฒน์ เลขาธิการสมาคมผู้ผลิตอาหารสัตว์ไทย กล่าวว่า ได้ประกาศให้บริษัทที่เป็นสมาชิกของสมาคม ปรับลดราคาอาหารกุ้งลง 25 บาทต่อกระสอบ หรือ 1 บาทต่อกิโลกรัม เป็นระยะเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 3 พ.ค.-30 มิ.ย.นี้ ซึ่งหวังว่าจะช่วยผ่อนคลายสภาวะการเลี้ยงกุ้งในช่วงนี้ได้ อีกทั้งอยากให้ตระหนักว่าทุกภาคส่วนในห่วงโซ่มีความเชื่อมโยงกันจึงต้องร่วมมือกันสร้างความเข้มแข็ง สร้างความสามารถในการแข่งขันเพื่อให้อุตสาหกรรมนี้อยู่รอด

 

ที่มา : ข่าวสดออนไลน์