กทม.รอดท่วมใหญ่ บางบัวทอง-สามโคกเสี่ยงหนัก

กรมชลฯเร่งระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มเป็น 2,000 ลบ.ม./วินาที “สิงห์บุรี-อ่างทอง-ลพบุรี-อยุธยา-ปทุมธานี” อ่วม GISTDA ฟันธงไม่ท่วมกรุงซ้ำปี”54 อสังหาฯวอนรัฐเตือนล่วงหน้าก่อน 7 วัน ชี้ “เกาะเกร็ด-บางบัวทอง-สามโคก” เสี่ยงน้ำท่วม

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” รายงานสถานการณ์น้ำหลังจากที่ประเทศไทยตอนบนเผชิญกับภาวะฝนตกหนักและน้ำเหนือไหลหลากว่า ณ วันที่ 30 กันยายนที่ผ่านมา ณ สถานี C13 เขื่อนเจ้าพระยา ปรากฏปริมาณน้ำไหลผ่านเพิ่มสูงขึ้นถึงระดับ 1,998 ลบ.ม./วินาที หรือสูงกว่าความพยายามที่จะควบคุมน้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยาที่ปริมาณ 1,800 ลบ.ม./วินาทีไปแล้ว ซึ่งจะทำให้ระดับน้ำท้ายเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น

อย่างไรก็ตาม ในช่วงต่อจากนี้ไป กรมชลประทานได้ประเมินสถานการณ์น้ำ ณ สถานี C2 อ.เมืองนครสวรรค์ จะมีปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะสูงสุดประมาณ 2,155 ลบ.ม./วินาที (ณ วันที่ 30 ก.ย. น้ำไหลผ่าน 1,790 ลบ.ม./วินาที) เมื่อรวมกับปริมาณน้ำจากแม่น้ำสะแกกรัง ที่คาดว่าจะมีปริมาณสูงสุดประมาณ 400 ลบ.ม./วินาที (ณ วันที่ 30 ก.ย. ปริมาณ 108 ลบ.ม./วินาที) จะทำให้น้ำไหลผ่านเขื่อนเจ้าพระยารวมประมาณ 2,555 ลบ.ม./วินาที ไม่เกินวันที่ 6 ตุลาคมนี้

นายเนรมิต เทพนอก ผู้อำนวยการส่วนจัดสรรน้ำ สำนักชลประทานที่ 12 กล่าวว่า เขื่อนเจ้าพระยาจะเริ่มปล่อยน้ำลงมาเกือบ 2,000 ลบ.ม./วินาที มีผลทำให้ระดับน้ำริมตลิ่งที่ไม่ใช่ที่ลุ่มต่ำมากเฉลี่ยสูงสุดไม่เกิน 1 เมตรเศษ และการปล่อยน้ำเข้าทางฝั่งตะวันตกหรือสุพรรณบุรี กับฝั่งตะวันออกเจ้าพระยา หรือคลองชัยนาท-ป่าสัก รวมกัน 342 ลบ.ม./วินาที โดยภาพรวมขณะนี้น้ำที่ไหลผ่านจังหวัดนครสวรรค์ยังไม่ถึง 2,000 ลบ.ม./วินาที เปรียบเทียบกับเมื่อปี 2554 ที่น้ำท่วมหนักช่วงเดียวกันนี้ไหลผ่านสูงถึง 3,590 ลบ.ม./วินาที

โดยสถานการณ์น้ำขนาดนี้ปรากฏมีน้ำล้นตลิ่งไปแล้วที่ อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี, คลองโผงเผง อ.บางบาล/คลองบางบาล อ.บางบาล จ.พระนครศรีอยุธยา, อ.เมือง จ.เพชรบูรณ์, ต.นาเฉลียง อ.หนองไผ่ จ.เพชรบูรณ์ และ อ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี

untitled

เตรียมแก้มลิงรับน้ำ

นายทองเปลว กองจันทร์ รองอธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า กรมชลประทานได้วางแผนใช้พื้นที่แก้มลิง 3 แห่ง เป็นแหล่งรองรับน้ำเพื่อลดยอดน้ำสูงสุดที่จะต้องระบายผ่านเขื่อนเจ้าพระยาในระยะต่อไปคือ 1) ทุ่งป่าโมก-ผักไห่ พื้นที่ประมาณ 50,000 ไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถรับน้ำได้ทั้งหมด 80 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

2) ทุ่งผักไห่ พื้นที่ประมาณ 150,000 ไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถรับน้ำได้ทั้งหมด 240 ล้าน ลบ.ม. และ 3) ทุ่งบางบาล พื้นที่ประมาณ 130,810 ไร่ เมื่อเก็บเกี่ยวแล้วสามารถรับน้ำเประมาณ 130 ล้าน ลบ.ม.

ส่วนความกังวลที่ว่ากรุงเทพฯและปริมณฑลจะเกิดน้ำท่วมใหญ่เหมือนปี 2554 หรือไม่นั้น มีรายงานข่าวจากกรมชลประทานเข้ามาว่า ขณะนี้ปริมาณน้ำไหลผ่านสถานีบางไทร พระนครศรีอยุธยา อยู่ที่ระดับ 1,496 ลบ.ม./วินาที จึงไม่อยากให้กังวลว่ากรุงเทพฯจะเกิดปัญหาน้ำท่วมใหญ่แบบปี 2554 เพราะการที่น้ำจะท่วมกรุงเทพฯได้จะต้องมีปริมาณน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาไหลผ่านมากกว่า 3,800 ลบ.ม./วินาทีขึ้นไป ส่วนพื้นที่ที่เกิดปัญหาน้ำท่วมในขณะนี้จะเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำที่ไม่มีคั้นกั้นน้ำเท่านั้น

GISTDAฟันธงไม่ท่วมหนัก

ดร.อานนท์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิศาสตร์สารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA กล่าวกับ “ประชาชาติธุรกิจ” ถึงสถานการณ์น้ำในทุ่งขณะนี้ยังไม่มีโอกาสที่จะเกิดมหาอุทกภัยเช่นเดียวกับปี 2554 โดยจากผลการติดตามภาพถ่ายดาวเทียมพบว่า ขณะนี้มีปริมาณน้ำในทุ่งอยู่ในพื้นที่ทั่วประเทศประมาณ 1 ล้านไร่ หรือน้อยกว่าปี 2554 ซึ่งเป็นปีที่เกิดมหาอุทกภัย มีปริมาณน้ำในทุ่งบนพื้นที่ถึง 17 ล้านไร่

“หลังจากนี้ไปอีก 2-3 สัปดาห์ต่อเนื่องไปจนถึงเดือนตุลาคม ปริมาณน้ำในทุ่งอาจเพิ่มขึ้นเป็น 2 ล้านไร่ ถือว่าอยู่ในระดับใกล้เคียงกับปีปกติ ยังไม่น่ากังวล แต่ประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ลุ่มยังคงต้องเฝ้าระวังกับปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในบางพื้นที่อยู่”

ส่วนความเสียหายที่เกิดขึ้นกับพื้นที่ที่มีน้ำในทุ่ง1 ล้านไร่นั้น จากการประเมินเทียบกับพื้นที่ดาวเทียมที่ติดตามการเพาะปลูกพบว่า พื้นที่ 1ใน 3 หรือประมาณ 400,000 ไร่ เป็นพื้นที่ปลูกข้าว แต่หากปริมาณน้ำในทุ่งเพิ่มขึ้นอีกช่วงเดือนตุลาคมเป็น 2 ล้านไร่ พื้นที่เกษตรกรรมในส่วนของภาคเหนือตอนล่าง-ภาคกลาง ประมาณ 10% ของพื้นที่ปลูกทั้งหมด 15 ล้านไร่ หรือพื้นที่ความเสียหายประมาณ 1.1.5 ล้านไร่เศษ

วอนรัฐเตือนล่วงหน้า 7 วัน

นายอธิป พีชานนท์ นายกสมาคมธุรกิจบ้านจัดสรร กล่าวว่า หากภาครัฐประเมินแล้วว่ามีความเสี่ยงถูกน้ำท่วมในกรุงเทพฯและปริมณฑล ขอให้แจ้งเตือนให้ชัดเจนว่าเขตไหนได้รับผลกระทบบ้าง เพื่อจัดเตรียมการป้องกันและขอให้เตือนล่วงหน้าอย่างน้อย 7 วัน

เกาะเกร็ด-บางบัวทองเสี่ยงสูง

นางปวีณ์นุช พุ่มพฤกษ์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดนนทบุรี (ปภ.) กล่าวว่า หน่วยงานในจังหวัดนนทบุรี ได้เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์แล้ว ซึ่งปริมาณน้ำในคลองถือว่ายังไม่น่าเป็นห่วง แต่ระดับน้ำในแม่น้ำมีโอกาสจะเอ่อท้น จึงต้องเฝ้าระวัง

ส่วนพื้นที่เสี่ยงคือ “เกาะเกร็ด” ผู้ว่าราชการจังหวัดได้กำชับทางท้องถิ่นให้คอยประเมินสถานการณ์ แต่พื้นที่อยู่อาศัยในโซน “อ.บางบัวทอง” ยังคงมีความเสี่ยง เนื่องจากเป็นพื้นที่ต่ำ หากฝนตกหนัก

นายประทีป บริบูรณ์รัตน์ หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดปทุมธานี กล่าวว่า มีบางพื้นที่ลุ่มต่ำได้รับผลกระทบ เช่น อ.เมือง อ.สามโคก ซึ่งเป็นโซนที่อยู่นอกคันกั้นน้ำ ส่วนพื้นที่เสี่ยงขณะนี้คือ ต.ท้ายเกาะ และบางกระบือ ที่อยู่ติดกับพระนครศรีอยุธยา

 

ที่มา ประชาชาติธุรกิจ