กทม.พร้อมรับน้ำฝน น้ำเหนือ และน้ำทะเลหนุน มั่นใจเอาอยู่

เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม นางเบญทราย กียปัจจ์ รองโฆษกกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยภายหลังประชุมคณะผู้บริหาร กทม.ว่า นี้สำนักการระบาย กทม.ได้รายงานสถานการณ์น้ำในพื้นที่กรุงเทพฯ โดยสถานการณ์น้ำเหนือ น้ำหนุน รวมถึงสถานการณ์น้ำทางพื้นที่ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ยังไม่น่าห่วง เนื่องจากกรมชลประทานได้ลดปริมาณการปล่อยน้ำจากเขื่อนเจ้าพระยาเหลือประมาณ 1,600 ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) เนื่องจากเริ่มมีน้ำเอ่อล้นท่วมหลายพื้นที่ เช่น ปทุมธานี พระนครศรีอยุธยา ฯลฯ ประกอบกับฝนตกน้อยลง รวมถึงระดับน้ำหนุนซึ่งวัดได้ที่ปากคลองตลาดเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม 1.4 เมตรจากระดับน้ำทะเลปานกลาง ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถรับได้ อย่างไรก็ตาม ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนี้ จะมีน้ำทะเลหนุนสูง จึงต้องเฝ้าระวังผลกระทบที่อาจเกิดกับขึ้นกับชุมชนที่อยู่นอกแนวคันกั้นน้ำรวมถึงจุดที่เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยายังสร้างไม่เสร็จ ซึ่ง กทม.ได้เตรียมการช่วยเหลือแล้ว

“ในส่วนของระดับน้ำฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ ซึ่งเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาระดับน้ำอยู่ในระดับวิกฤตหลายจุด เช่น มีนบุรี ลาดกระบัง ฯลฯ สูงกว่าระดับวิกฤตทำให้มีน้ำล้นเข้าพื้นที่ลุ่มต่ำ กทม.ได้เร่งระบายน้ำออกสู่แม่น้ำเจ้าพระยาผ่านพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นใน ซึ่งปัจจุบันสามารถลดระดับน้ำในคลองสายต่างๆ ในกรุงเทพฯ ทั้งคลองลาดพร้าว คลองแสนแสบ คลองเปรมประชากร รวมถึงฝั่งธนบุรี แม้ว่าบางจุดยังสูงแต่ก็อยู่ในระดับเฝ้าระวังและอยู่ในเกณฑ์การควบคุม” นางเบญทราย กล่าว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำนักการระบายน้ำ กทม.รายงานสถานการณ์ฝนช่วงวันที่ 26 กันยายน – 3 ตุลาคม ระบุว่า ปริมาณฝนในพื้นที่กรุงเทพฯ น้อยลงส่วนใหญ่ตกบริเวณกรุงเทพฯ ชั้นใน โดยเมื่อวันที่ 2 ตุลาคม มีฝนตกหนักในพื้นที่เขตคลองเตย วัฒนา ยานนาวา สาทร ปริมาณฝนเฉลี่ยรวมเกือบ 100 มิลลิเมตร (มม.) โดยมีความเข้มของฝนมากถึง 180 มม.ต่อชั่วโมง ส่งผลให้น้ำท่วมขังรอการระบายกว่า 10 จุด อาทิ ถนนอโศกมนตรี ถนนสวนพลู ถนนนางลิ้นจี่ ถนนจันทน์ พระราม 4 ถนนสาธุประดิษฐ์ ถนนสุขุมวิทขาเข้า-ออก และสุรวงศ์ ใช้เวลาระบายน้ำไม่เกิน 2 ชั่วโมง ในส่วนของพายุชบาที่ก่อตัวในมหาสมุทรแปซิฟิคจากการตรวจสอบไม่มีผลกระทบกับประเทศไทยโดยเคลื่อนเข้าญี่ปุ่น เกาหลีต่อไป

 

ที่มา มติชน