เวนคืนมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดาพุ่ง ที่ดินสวนยางวาละล้าน-ดึงเอกชนร่วมทุน 30 ปี

“อาคม” เร่งชงบอร์ด PPP เคาะลงทุนมอเตอร์เวย์ “หาดใหญ่-สะเดา” มูลค่ากว่า 5.7 หมื่นล้าน แลกสัมปทานเก็บค่าผ่านทาง 30 ปี บูมเศรษฐกิจชายแดนไทย-มาเลเซีย เวนคืน 5,290 ไร่ ราคาที่ดินกระฉูดวาละ 1 ล้าน กระทบชิ่งจ่ายชดเชยทะลุ 6.9 พันล้าน กรมทางหลวงเตรียมรีเช็กข้อมูล หวั่นซ้ำรอยบางใหญ่-กาญจน์ บิ๊กรับเหมา ค้าปลีก ทางด่วน สนใจพรึ่บ

 

นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า ภายในปีนี้กระทรวงคมนาคมจะเร่งผลักดันโครงการลงทุนก่อสร้างมอเตอร์สายหาดใหญ่-ชายแดนไทย-มาเลเซีย (สะเดา) ระยะทาง 62.59 กม. ซึ่งบรรจุอยู่ในแผนปฏิบัติการเร่งด่วน (Action Plan) ปี 2561 ให้ผ่านการอนุมัติจากคณะกรรมการ PPP และที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อเดินหน้าประกวดราคาในช่วงไตรมาสแรกของปี 2562 จากนั้นกลางปีเซ็นสัญญาและเริ่มการก่อสร้าง จะใช้เวลาก่อสร้าง 3 ปี ตามแผนพร้อมเปิดให้บริการภายในปี 2565-2566

ลงทุน 5.7 หมื่นล้าน

สำหรับโครงการนี้กรมทางหลวง (ทล.) จะเปิดให้เอกชนเข้าร่วมลงทุนรูปแบบ PPP net cost ระยะทาง 33 ปี แบ่งเป็นระยะออกแบบก่อสร้าง 3 ปี และบริหารโครงการพร้อมบำรุงรักษาโครงการ 30 ปี ทั้งโครงการใช้เงินลงทุน 57,022 ล้านบาท แบ่งเป็นค่าก่อสร้าง 37,399 ล้านบาท ประกอบด้วย งานทางและโครงสร้าง 27,424 ล้านบาท ค่าจัดกรรมสิทธิ์ที่ดิน 6,974 ล้านบาท งานระบบ 2,856 ล้านบาท และค่าลงทุนระยะเริ่มต้น 145 ล้านบาท ที่เหลือ 19,623 ล้านบาท เป็นวงเงินค่าบริหารและบำรุงรักษาโครงการ (O&M) ประกอบด้วยค่าบำรุงรักษา 12,440 ล้านบาท และค่าดำเนินงาน 7,183 ล้านบาท

“การลงทุนแบ่ง 2 ระยะ คือ ระยะแรกเอกชนเป็นผู้ออกแบบ จัดหาเงินทุน ก่อสร้างโครงการทั้งหมด โดยรัฐเป็นผู้เวนคืนที่ดิน และระยะที่ 2 เอกชนเป็นผู้ดำเนินงานและบำรุงรักษาทั้งโครงการตลอดระยะเวลาสัญญา 30 ปี โดยรายได้มาจากค่าผ่านทางและรายได้เชิงพาณิชย์จากศูนย์บริการทางหลวง ซึ่งตลอดเส้นทางมี 1 แห่ง บริเวณอำเภอหาดใหญ่ แบ่งเป็น 2 ฝั่ง ด้านทิศตะวันออกพื้นที่ 71 ไร่ และด้านทิศตะวันตกพื้นที่ 48.5 ไร่”

ค่าผ่านทางเริ่มต้น 10 บาท

นายอาคมกล่าวอีกว่า ขณะที่อัตราค่าผ่านทางจะใช้ระบบอัตโนมัติ (ETC) เป็นแบบไม่มีไม้กั้นและไม่ใช้บัตร เพื่อแก้ปัญหารถติดหน้าด่านเก็บเงิน ตลอดจนการเชื่อมต่อระบบการเดินทางด้วยบัตรใบเดียวหรือตั๋วร่วมเก็บตามระยะทางที่ใช้จริง มีคิดค่าแรกเข้าอยู่ที่ 10 บาท จากนั้นคิดเพิ่มกิโลเมตรละ 1.25 บาท เมื่อรวมตลอดเส้นทางจะมีอัตราค่าผ่านทางรวมอยู่ที่ 88 บาท

เมื่อสร้างเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว คาดว่าจะมีปริมาณการจราจรเริ่มต้นในปี 2567 อยู่ที่ 20,910 คัน และมีรายได้จากค่าผ่านทาง 478 ล้านบาทต่อปี จากนั้นในปี 2596 ปริมาณการจราจรจะเพิ่มเป็น 46,050 คัน คิดเป็นการเติบโต 125% เช่นเดียวกับรายได้จะมีปริมาณการเติบโต 348% อยู่ที่ 2,145 ล้านบาท ทั้งนี้เมื่อรวมรายได้ตลอด 30 ปีของมอเตอร์เวย์สายนี้จะอยู่ที่ 41,767 ล้านบาท

ร่นเวลาเดินทางเหลือ 60 นาที

ทั้งนี้มอเตอร์เวย์สายนี้จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานหลักที่กระตุ้นเศรษฐกิจภาคใต้ควบคู่ไปกับเพิ่มมูลค่าการค้าด่านชายแดนไทย-มาเลเซียหรือด่านสะเดา ซึ่งเป็น 1 ในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษชายแดนตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งมียอดการค้า 3.2 แสนล้านบาทต่อปี และยังสามารถลดต้นทุนการขนส่งและระยะเวลาเดินทางได้เกือบครึ่งหนึ่ง จากเดิม 90 นาทีเหลือไม่ถึง 60 นาที

และยังเป็นเส้นทางสายใหม่ที่จะกลายมาเป็นเส้นทางสายหลักส่งเสริมการค้าชายแดนและลดปัญหาจราจรแออัดบริเวณด่านชายแดน เนื่องจากปัจจุบันเริ่มปริมาณขนส่งสินค้ามากขึ้น ทำให้รถติดจนต้องลงทุนก่อสร้างด่านศุลกากรแห่งที่ 2 ที่ด่านชายแดนสะเดา ในอนาคตจะแยกเส้นทางรถยนต์ส่วนบุคคลและรถบรรทุกรวมถึงรถทัวร์โดยสารสาธารณะออกจากกันแบบด่านชายแดนของประเทศมาเลเซียและสิงคโปร์เพื่อแก้เรื่องความแออัดดังกล่าว

ราคาที่ดินทะลุ 1.5 ล้าน/วา

แหล่งข่าวจากกรมทางหลวงกล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการนี้จะเปิดพื้นที่พัฒนาใหม่ เนื่องจากตลอดแนวเส้นทางจะเวนคืนสร้างถนนใหม่ มีแนวเวนคืนกว้าง 80 เมตร คาดว่าจะมียอดเวนคืนเป็นที่ดิน 5,290 ไร่ ส่วนใหญ่เป็นสวนยาง 2,856 ไร่

อาคารและสิ่งปลูกสร้าง 291 หลัง ในเบื้องต้นที่ปรึกษาประเมินจะมีค่าเวนคืน 6,974 ล้านบาท แต่มีแนวโน้มจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาที่ดินปัจจุบันปรับตัวสูงขึ้นมาก ล่าสุดที่ดินบริเวณด่านสะเดาแห่งที่ 2 อยู่ที่ตารางวาละ 1.5 ล้านบาท อีกทั้งยังต้องจ่ายค่าทดแทนให้กับเจ้าของสวนยางที่ถูกเวนคืนด้วย

“ขณะนี้กรมทางหลวงกำลังจะสำรวจยอดผู้ถูกเวนคืนที่แท้จริง เพื่อประเมินค่าชดเชย และออก พ.ร.ฎ.เวนคืนที่ดิน คาดว่าจะใช้เวลา 8 เดือน ถึง 1 ปีในการดำเนินการ จากนั้นจะเริ่มเวนคืนให้แล้วเสร็จบางส่วนก่อนส่งมอบพื้นที่ให้เอกชนเพื่อก่อสร้างโครงการ จะได้ไม่มีปัญหาเหมือนกับสายบางใหญ่-กาญจนบุรี”

เวนคืน 4 อำเภอ

สำหรับแนวเส้นทางมอเตอร์เวย์หาดใหญ่-สะเดา พาดผ่านพื้นที่ 4 อำเภอของ จ.สงขลา โดยจุดเริ่มต้นโครงการอยู่บริเวณจุดตัดกับถนนเพชรเกษม กม.1242+135 บริเวณ อ.บางกล่ำ จ.สงขลา แนวสายทางมุ่งหน้าลงด้านทิศใต้ มีจุดสิ้นสุดโครงการที่ชายแดนไทย-มาเลเซียบริเวณที่ตั้งของด่านศุลกากรสะเดา แห่งที่ 2 อ.สะเดา จ.สงขลา

ในช่วง กม.11+630 จะมีทางเชื่อมระยะทาง 7.83 กม. เชื่อมต่อการเดินทางสู่สนามบินหาดใหญ่ และทางหลวงหมายเลข 4135 (ถนนเข้าสนามบินหาดใหญ่) ส่วนการออกแบบจะเป็นถนนขนาด 4 ช่องจราจร มีการควบคุมทางเข้าออกอย่างสมบูรณ์ มีด่านเก็บค่าผ่านทาง 4 ด่าน พร้อมมีที่พักริมทาง 1 แห่ง

เอกชนไทย-เทศสนใจตรึม

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า เมื่อวันที่ 25 เม.ย. 2561 กรมทางหลวงได้จัดทดสอบความสนใจภาคเอกชน มีเอกชนจากหลากหลายประเทศเข้าร่วมรับฟังทั้งจากประเทศญี่ปุ่น สิงคโปร์ มาเลเซีย อาทิ บริษัท Vinci Concession, บริษัท UEM Grouo Berhad บริษัท Sojitz บริษัท Egis บริษัท Mitsubishi

ขณะที่เอกชนจากประเทศไทยมีกลุ่มทุนใหญ่ อาทิ บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์, บมจ.ช.การช่าง, บมจ.ยูนิค เอ็นจิเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น, บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์คอนสตรัคชั่น, บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) รวมถึงกลุ่มยักษ์ใหญ่ค้าปลีกอย่าง บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) เครือเจริญโภคภัณฑ์ (CP)